ส่วนที่ ๑
พระคณาธิการ
—————
“พระคณาธิการ”อันเป็นคำรวมตำแหน่งผู้บริหารการคณะสงฆ์ เป็นตำแหน่งผู้บริหารการคณะสงฆ์ตามสังฆาณัติระเบียบพระคณาธิการ
ในสมัยใช้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔ เป็นหลักจัดองค์กรปกครองคณะสงฆ์ ได้บัญญัติสังฆาณัติระเบียบพระคณาธิการ พุทธศักราช ๒๔๘๖ กำหนดคำรวมตำแหน่งพระภิกษุผู้บริหารการคณะสงฆ์ว่า “พระคณาธิการ” โดยรวมคำว่า “พระ” “คณะ” และ “อธิการ” เป็น “พระคณาธิการ” ความหมายว่า“พระผู้มีอำนาจสิทธิขาดในการบริหารการคณะสงฆ์” ซึ่งมี ๒ ประเภท คือ
๑. พระคณาธิการส่วนกลาง มี
(๑) สังฆมนตรี
(๒) เลขานุการสังฆมนตรี
(๓) หัวหน้าพระธรรมธรและผู้ช่วยหัวหน้าพระธรรมธร
๒. พระคณาธิการส่วนภูมิภาค มี
(๑) เจ้าคณะตรวจการ
(๒) เลขานุการเจ้าคณะตรวจการ
(๓) กรรมการสงฆ์จังหวัด
(๔) พระธรรมธรจังหวัด
(๕) เลขานุการคณะกรรมการสงฆ์จังหวัด
(๖) กรรมการสงฆ์อำเภอ
(๗) เลขานุการคณะกรรมการสงฆ์อำเภอ
(๘) เจ้าคณะตำบล
(๙) เจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส ผู้ช่วยเจ้าอาวาส
ในส่วนกลาง สังฆมนตรีประกอบด้วย.- สังฆนายก, สังฆมนตรีว่าการ, สังฆมนตรีช่วยว่าการ และสังฆมนตรี ระเบียบบริหารการคณะสงฆ์ส่วนกลางจัดเป็น ๔ องค์การ คือ องค์การปกครอง องค์การศึกษา องค์การเผยแผ่ และองค์การสาธารณูปการ และโดยสังฆาณัติ มีกรรมการสังฆาณัติระเบียบพระคณาธิการ (ก.ส.พ.) เช่นเดียวกับสำนักงาน ก.พ. ของทางราชอาณาจักรและโดยกติกาสงฆ์ มีหัวหน้าพระธรรมธรและผู้ช่วยหัวหน้าพระธรรมธร อยู่ในสังกัดองค์การปกครอง
ในส่วนภูมิภาค ชั้นจังหวัดและอำเภอ มีกรรมการสงฆ์ประจำองค์การทั้ง ๔ คือ
๑) เจ้าคณะจังหวัด – เจ้าคณะอำเภอ ประจำองค์การปกครอง และมีพระธรรมธรจังหวัดซึ่งสังกัดองค์การปกครองรวมอยู่ด้วย
๒) ศึกษาจังหวัด – ศึกษาอำเภอ ประจำองค์การศึกษา
๓) เผยแผ่จังหวัด – เผยแผ่อำเภอ ประจำองค์การเผยแผ่
๔) สาธารณูปการจังหวัด – สาธารณูปการอำเภอ ประจำองค์การสาธารณูปการ
รวมเรียกว่า “คณะกรรมการสงฆ์จังหวัด” “คณะกรรมการสงฆ์อำเภอ” มีเลขานุการคณะกรรมการสงฆ์ในชั้นนั้น ๆ
ส่วนเจ้าคณะตำบล และเจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส ผู้ช่วยเจ้าอาวาส มิได้กำหนด ให้บริหารโดยรูปคณะกรรมการสงฆ์
การดำเนินกิจการคณะสงฆ์ ตามพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว ทั้งพระคณาธิการส่วนกลางและพระคณาธิการส่วนภูมิภาค คงบริหารงานในลักษณะองค์การทั้ง ๔ เท่า นั้น คือ องค์การปกครอง องค์การศึกษา องค์การเผยแผ่ และองค์การสาธารณูปการ ส่วนงานบัญญัติสังฆาณัติ เป็นภาระของสังฆสภา งานวินิจฉัยอธิกรณ์ เป็นภาระของคณะวินัยธร ซึ่งแบ่งแยกกันดำเนินการเพื่อให้เกิดความถ่วงดุลแห่งอำนาจ ดังเช่นทางราชอาณาจักร ผู้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสังฆสภา ประธาน รองประธานสังฆสภา หัวหน้าคณะวินัยธร ประธานคณะวินัยธร และพระวินัยธร มิได้เป็นพระคณาธิการ เพราะมิใช่ผู้บริหารการคณะสงฆ์