ส่วนที่ ๓
ความต่างแห่ง
พระคณาธิการกับพระสังฆาธิการ
————
พระคณาธิการ
“พระคณาธิการ” เป็นนามบัญญัติตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔ มีอำนาจหน้าที่เฉพาะการบริหารการคณะสงฆ์และการพระศาสนาตามที่กำหนดในองค์การทั้ง ๔ คือ องค์การปกครอง องค์การศึกษา องค์การเผยแผ่ และองค์การสาธารณูปการ
ในส่วนภูมิภาคเล่า เจ้าคณะตรวจการและเจ้าคณะตรวจการผู้ช่วยภาคต่าง ๆ ก็เพียงทำหน้าที่ควบคุม สั่งการ และแนะนำ ชี้แจง กิจการอันเกี่ยวกับการบริหารการคณะสงฆ์ให้เป็นไปตามพระธรรมวินัย สังฆาณัติ กติกาสงฆ์ กฎองค์การ กฎหมาย ข้อบังคับ และระเบียบ
ในชั้นจังหวัดและชั้นอำเภอ ได้แยกหน้าที่บริหารการคณะสงฆ์เป็นองค์การ มีกรรมการสงฆ์ประจำองค์การ โดยเจ้าคณะจังหวัดเป็นประธานคณะกรรมการสงฆ์จังหวัด เจ้าคณะอำเภอเป็นประธานคณะกรรมการสงฆ์อำเภอ
แม้ในตอนสุดท้ายแห่งการใช้พระราชบัญญัติดังกล่าว ในชั้นภาค ก็ได้กำหนดให้มีเจ้าคณะตรวจการประจำองค์การดังเช่นชั้นจังหวัดและอำเภอ แต่ยังมิได้แต่งตั้งเจ้าคณะตรวจการประจำองค์การตามที่กำหนดขึ้นใหม่ ก็ถูกยกเลิกเสีย
ในชั้นตำบลและชั้นวัด เจ้าคณะตำบลและเจ้าอาวาส คงรับปฏิบัติหน้าที่งานของทุกองค์การ
พระสังฆาธิการ
“พระสังฆาธิการ” เป็นนามบัญญัติตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ มีอำนาจหน้าที่ในการปกครองคณะสงฆ์ในเขตปกครองของตน คือ บริหารการคณะสงฆ์และการพระศาสนาตามที่กำหนดใน ๔ องค์การเดิม แต่มิได้จัดเป็นองค์การ ซึ่งเป็นตัวองค์กรบริหาร คงยึดเอาเฉพาะลักษณะงานในองค์การนั้น ๆ เปลี่ยนเรียกว่า “การ” กล่าวคือ การรักษาความเรียบร้อยดีงาม (เดิมคืองานในองค์การปกครอง) ๑ การศาสนศึกษา (เดิมคืองานในองค์การศึกษา) ๑ การเผยแผ่พระพุทธศาสนา (เดิมคืองานในองค์การเผยแผ่) ๑ การสาธารณูปการ ๑ และเพิ่มการศึกษาสงเคราะห์และการสาธารณ-สงเคราะห์เข้า พร้อมทั้งเอาการนิคหกรรม (เดิมคือการวินิจฉัยอธิกรณ์) รวมเข้าอยู่ในอำนาจหน้าที่เจ้าคณะชั้นนั้น ๆ เพื่อมิให้เกิดความถ่วงดุลแห่งอำนาจดังเช่นกฎหมายฉบับเดิม เพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปโดยถูกต้อง สะดวก รวดเร็ว และเป็นธรรม ได้กำหนดให้มีรองเจ้าคณะ เป็นผู้ช่วยเจ้าคณะในชั้นนั้น ๆ อีกส่วนหนึ่ง แม้ในส่วนวัด ก็ให้มีรองเจ้าอาวาส ผู้ช่วยเจ้าอาวาส เพื่อเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดนั้น ๆ
Views: 34