ตอนที่ ๑
วิธีปฏิบัติก่อนให้บรรพชาอุปสมบท
—————-
โดยการปฏิบัติหน้าที่พระอุปัชฌาย์นั้น มิใช่จะเริ่มปฏิบัติเมื่อนำนาคเข้าสู่อุโบสถเท่านั้น ตามความในกฎมหาเถรสมาคม กำหนดให้เริ่มปฏิบัติก่อนให้บรรพชาอุปสมบทไม่น้อยกว่า ๑๕ วัน วิธีปฏิบัติดังกล่าวแยกเป็น ๓ วิธี คือ.-
๑. วิธีคัดเลือกกุลบุตร
๒. วิธีรับนิมนต์และข้อห้าม
๓. วิธีแนะนำในการทำใบสมัคร
วิธีที่ ๑ ต้องคัดเลือกกุลบุตรตามที่กำหนดในกฎ ๑๗ คือ ให้รับผู้ประกอบด้วยลักษณะ ๗ ประการ (ข้อ ๑๓) และให้เว้นผู้ต้องห้าม ๗ ประเภท (ข้อ ๑๔) วิธีคัดเลือกพอแยกได้ดังนี้
ให้บวชในวัดของตน ต้องให้มีผู้รับรองและต้องให้นำผู้จะบวชมามอบ ทั้งให้จัดทำใบสมัครและใบรับรอง ก่อนวันบวชไม่น้อยกว่า ๑๕ วัน จะต้องสอบถามทั้งผู้รับรองทั้งผู้จะบวช ถึงลักษณะตามข้อ ๑๓ และข้อ ๑๔ แห่งกฎ ๑๗ ก่อนที่จะรับ อย่ามักง่ายให้บวชโดยไม่คัดเลือก
วิธีที่ ๒ จะให้บวชในวัดที่ตนมิได้เป็นเจ้าอาวาส ต้องให้เจ้าอาวาสวัดนั้นๆ จัดทำหนังสือนิมนต์เป็นหลักฐาน อย่าเข้าไปให้บวชในวัดที่เจ้าอาวาสมิได้นิมนต์ ถ้ารับนิมนต์ให้บวชนอกเขต ต้องขออนุญาตเจ้าของเขตก่อน เว้นแต่เจ้าของเขตขอร้อง หรือได้ รับอนุญาตจากเจ้าคณะภาคนั้น ๆ เป็นหนังสือในกรณีพิเศษเป็นครั้งคราว
วิธีที่ ๓ ใบสมัครและใบรับรองเป็นหลักฐานสำคัญในการให้บวช จึงต้องให้ผู้ขอบวชจัดทำใบสมัครทุกคน แม้จะบวชเพียงระยะเวลาอันสั้นก็ตาม โดยให้ผู้จะบวชนั้นกรอกรายการต่าง ๆ ด้วยตนเอง เขียนตัวบรรจงเพื่ออ่านง่าย เฉพาะชื่อ นามสกุล อายุ ต้องให้ตรงกับในทะเบียนราษฎร์ รายการขอสังกัดวัด ต้องให้ขอสังกัดวัดที่ถูกต้องตามกฎหมาย ถ้าขอสังกัดวัดในที่สร้างใหม่ จะต้องแนะนำให้แก้ไขสังกัดวัดที่ถูกต้อง ถึงเจ้าตัวจะอยู่ในที่สร้างวัดใหม่ก็ตาม การสังกัดต้องให้สังกัดวัดใดวัดหนึ่งซึ่งถูกต้องตามกฎหมาย จำนวนใบสมัคร ถ้าขอสังกัดวัดที่พระอุปัชฌาย์เป็นเจ้าอาวาส ให้ทำเพียงชุดเดียว ถ้าขอสังกัดวัดอื่น ต้องทำ ๒ ชุด เพราะพระอุปัชฌาย์และเจ้าอาวาสจะต้องเก็บรักษาใบสมัครและใบรับรองไว้ตลอดเวลาที่ผู้บวชยังอยู่ในสมณเพศ ใบสมัครและใบรับรองนั้นต้องใช้แบบซึ่งสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติกำหนดขึ้น
- ตัวอย่างหนังสือนิมนต์พระอุปัชฌาย์
- บัญชีผู้ขอบรรพชาอุปสมบท
- ตัวอย่างใบสมัครขอบรรพชาอุปสมบท
- ใบรับรองผู้สมัครขอบรรพชาอุปสมบท
- ตัวอย่างหนังสือขออนุญาต
- แบบบัญชีขออนุญาตให้บรรพชาอุปสมบทนอกเขต
Views: 60