ตอนที่ ๓
วิธีตั้งฉายาอุปสัมปทาเปกข์
——————–
ฉายาของอุปสัมปทาเปกข์นั้น เป็นนามที่ต้องยกขึ้นสู่กรรมวาจา พระอุปัชฌาย์ต้องตั้งให้ และต้องตั้งให้ถูกต้องตามหลักบาลีไวยากรณ์และความนิยมในปัจจุบัน การตั้งฉายานั้น มี ๒ แบบ คือ
๑. ตั้งตามวันเกิด
๒. ตั้งตามชื่อหรือนามสกุล
แบบที่ ๑ เอาวันเกิดของอุปสัมปทาเปกข์เป็นนิมิต โดยเอานามบริวาร ยึดตำราทักษาเป็นหลัก ในตำราดังกล่าวกำหนดนามไว้ ๘ คือ บริวาร อายุ เดช ศรี มูละ อุตสาหะ มนตรี และกาลกัณณี โดยมีอักษร ๘ หมู่เป็นหลักดังนี้

วิธีนับ เกิดวันใด ให้นับหนึ่งลงในอักษรหมู่สำหรับวันนั้น ๆ แล้วนับเวียนขวาว่า บริวาร อายุ เดช ศรี มูละ อุตสาหะ มนตรี และกาลกัณณี ตัวอย่าง นายธวัช เกิดวันอังคาร บริวารอยู่ที่อักษรหมู่ที่ ๓ ถ้าตั้งฉายาขึ้นต้นด้วย จ ฉ ช ฌ ญ เช่น จนฺทรํสี หรือ ชุติปญฺโญ เป็นนามบริวาร ขึ้นต้นด้วย ฏ ฐ ฑ ฒ ณ เช่น ฐานงฺกโร เป็นนามอายุ ขึ้นต้นด้วย ต ถ ท ธ น เช่น ตาณงฺกโร เป็นนามเดช ขึ้นต้นด้วย ป ผ พ ภ ม เช่น ปญฺญาธโร เป็นนามศรี ถ้าขึ้นต้นด้วย ย ร ล ว เช่น วรปญฺโญ เป็นนามมูละ ขึ้นต้นด้วย ส ห ฬ อํ เป็นนามอุตสาหะ ขึ้นต้นด้วย อ อา อิ อี อุ อู เอ โอ เช่น อธิปญฺโญ เป็นนามมนตรี ขึ้นต้นด้วย ก ข ค ฆ ง เช่น กิตฺติญาโณ, เขมรโต เป็นนามกาลกัณณี เกิดวันอื่นพึงเทียบเคียงตามนัยนี้ วิธีนี้ใช้ตั้งชื่อเด็กได้ และถ้าใช้ตั้งชื่อเด็ก ใช้อักษรใน ( ) ได้อีก
แบบที่ ๒ ยึดเอาชื่อหรือนามสกุลของอุปสัมปทาเปกข์เป็นนิมิต ใช้สำหรับผู้มีชื่อหรือนามสกุลเป็นภาษาบาลีหรือสันสกฤต ซึ่งมีคำขึ้นต้นไม่ถูกนามกาลกัณณี ตัวอย่าง สามเณรสันติ จำปาทอง เกิดวันจันทร์ ถือเอาชื่อเป็นนิมิต ตั้งว่า “สนฺติกโร” “สนฺติธมฺโม” เป็นนามมนตรี สามเณรเดช สิทธิการ เกิดวันพฤหัสบดี ถือเอานามสกุลเป็นนิมิต ตั้งว่า “สิทฺธิกาโร” หรือ “สิทฺธิเตโช” เป็นนามเดช
ความนิยมในปัจจุบันนี้ ตั้งตามวันเกิดโดยเอานามบริวารเป็นส่วนมาก แต่หากจะตั้งนามอื่น เว้นนามกาลกัณณีเสีย ย่อมเป็นมงคลนามทั้งนั้น หากจะตั้งให้ได้ความหมายดีและถูกต้องตามหลักบาลีไวยากรณ์ โดยไม่คำนึงถึงนามใด ๆ ก็ได้ พึงเห็นเรื่อง “นายบาป” ในนามสิทธิชาดกเป็นตัวอย่าง
Hits: 1500