“ภัททวิราชฉันท์” เป็นชื่อที่เรียกตามแบบไทย แต่ในคัมภีร์วุตโตทัย ในอัทธสมวุตตินิเทศ ท่านเรียกว่า “ภัททวิราชคาถา” ซึ่งแปลว่า “คาถาที่รุ่งเรืองเป็นพิเศษด้วยคณะที่งาม ชื่อว่า “ภัททวิราชะ” เป็นคาถา ๔ บาท บาทคี่ ๑๐ คำ บาทคู่ ๑๑ คำ มีสูตรว่า “โต โช วิสเม รโต ครู เจ มฺสา ชฺคา ภทฺทวิราชเมตฺถ โค เจ” แปลว่า “คาถาที่มี ต คณะ ช คณะ และครุลอยท้าย ร คณะ ในวิสมบาท ส่วนในสมบาท มี ม คณะ ส คณะ ช คณะ และครุลอย ๒ พยางค์ ชื่อว่า“ภัททวิราชคาถา” ในอัทธสมวุตตินิเทศนี้”
ในการบัญญัติฉันท์ไทยนั้น ท่านนำสูตรดังกล่าวมาเป็นสูตร โดยกำหนดนำมาเพียง ๒ บาท แล้วปรับปรุงให้เป็น ๔ วรรค รวม ๒๑ คำ เพราะรวมทั้งบทมี ๒๑ คำ จึงเรียกว่า “ฉันท์ ๒๑” โดยเลื่อนคำแรกของสมบาทไปเป็นคำสุดท้ายของวิสมบาท แล้วเพิ่มสัมผัสเข้า คือ คำสุดท้ายของวรรคที่ ๑ ส่งสัมผัสไปยังคำที่ ๒ ของวรรคที่ ๒, คำสุดท้ายของวรรคที่ ๒ ส่งสัมผัสไปยังคำสุดท้ายของวรรคที่ ๓, และคำสุดท้ายของวรรคที่ ๔ ส่งสัมผัสไปยังคำที่พร้อมจะรับในบทที่จะแต่งต่อไป มีแผนผังและตัวอย่าง ดังนี้
Views: 19