อาขยานกีฉันท์ ๒๒

     “อาขยานกีฉันท์” หรือ “อาขยานิกาฉันท์” เป็นชื่อที่เรียกตามแบบไทย แต่ในคัมภีร์วุตโตทัย ในอัทธสมวุตตินิเทศ ท่านเรียกว่า “อาขยานกีคาถา” ซึ่งแปลว่า “คาถาที่กระทำการกล่าวด้วยคณะฉันท์มี ต เป็นต้น ชื่อว่า “อาขยานกี” มีสูตรว่า “อาขฺยานกี ตา วิสเม ชคา โค ชตา ชคา โค ตุ สเมถ ปาเท” แปลว่า “คาถาที่มี ต คณะ ต คณะ ช คณะ และครุลอย ๒ ในวิสบาท ส่วนในสมบาท มี  ช คณะ ต คณะ ช คณะ และครุลอย ๒ พยางค์ ชื่อว่า“อาขยานกีคาถา”

        ในการบัญญัติฉันท์ไทยนั้น ท่านนำสูตรดังกล่าวมาเป็นสูตร โดยกำหนดนำมาเพียง ๒ บาท แล้วปรับปรุงให้เป็น ๔ วรรค รวม ๒๒ คำ เพราะรวมทั้งบทมี ๒๒ คำ จึงเรียกว่า “ฉันท์ ๒๒” แล้วเพิ่มสัมผัสเข้า คือ คำสุดท้ายของวรรคที่ ๑ ส่งสัมผัสไปยังคำที่ ๓ ของวรรคที่ ๒, คำสุดท้ายของวรรคที่ ๒ ส่งสัมผัสไปยังคำสุดท้ายของวรรคที่ ๓,   และคำสุดท้ายของวรรคที่ ๔ ส่งสัมผัสไปยังคำที่พร้อมจะรับในบทที่จะแต่งต่อไป มีแผนผังและตัวอย่าง ดังนี้