“อุปชาติฉันท์ ๑๔” ไม่มีในคัมภีร์วุตโตทัย ไม่มีในฉันทศาสตร์ และยังไม่เคยพบในที่ใด ข้าพเจ้าเห็นว่า ฉันท์ที่เป็นคู่กัน คือ อินทรวิเชียรฉันท์กับอุเปนทรวิเชียรฉันท์ ซึ่งเป็นฉันท์ ๑๑ มีอุปชาติฉันท์ชัดเจนแล้ว โดยเป็นฉันท์สลับบาทกันในระหว่างฉันท์ทั้ง ๒ นั้น และได้กำหนดอุปชาติฉันท์ ๑๓ แทรกในฉันท์ ๑๓ จึงได้กำหนดอุปชาติฉันท์ ๑๔ เพื่อสลับระหว่างวสันตดิลกฉันท์กับอุปดิลกฉันท์ โดยเอาบาทแรกของอุปดิลกฉันท์นำ แล้วตามด้วยบาทแรกของวสันตดิลกฉันท์ สลับกันไปตามลำดับ จะแต่งสักกี่ฉันท์ก็ได้ มีสัมผัสดังนี้ :- คำสุดท้ายของวรรคที่ ๑ ส่งสัมผัสไปยังคำที่ ๓ ของวรรคที่ ๒, คำสุดท้ายของวรรคที่ ๒ ส่งสัมผัสไปยังคำสุดท้ายของวรรคที่ ๓, และคำสุดท้ายของวรรคที่ ๔ ส่งสัมผัสไปยังคำที่พร้อมจะรับในบทที่จะแต่งต่อไป มีแผนผังและตัวอย่างดังนี้