บทที่ ๗ ว่าด้วยวิธีการ

        ในบททั้ง ๖ ที่กล่าวมา ได้กล่าวถึงเครื่องประกอบกันเข้าเป็นภาษา คือสระและพยัญชนะ และหลักเกณฑ์ กล่าวคือฉันทลักษณ์ของกวีแต่ละประเภทไว้ทั้งหมด เหมือนได้บอกแผนที่ชี้ทิศทางเท่านั้น แต่ยังมิได้แนะนำวิธีการเดินทางให้ถึงจุดหมาย ดังนั้น ในบทนี้ จึงขอแนะนำวิธีการต่าง ๆ จนสามารถดำเนินการได้

ข้อแนะนำทั่วไป

        การแต่งกวีนั้น จำเป็นต้องรู้เครื่องประกอบกันเป็นถ้อยคำโดยถูกต้องและแม่นยำ จึงขอให้ปฏิบัติดังนี้

        ๑) ต้องท่องจำและทบทวนสระในภาษาไทยทั้ง ๓๒ ตัวให้จำได้ และแยกแยะให้เห็นชัด ว่าตัวใดบ้างเป็นสระเสียงสั้น ตัวใดบ้างเป็นสระเสียงยาว ตัวใดบ้างมีเสียงหนัก ตัวใดบ้างมีเสียงเบา ตัวใดบ้างเลิกใช้แล้ว

        ๒) ต้องท่องจำหรือทบทวนพยัญชนะทั้ง ๔๔ ตัว ให้จำได้แม่นยำ ให้แยกแยะตาม
ไตรยางค์
จำให้ชัดว่า ตัวใดบ้างเป็นอักษรสูง ตัวใดบ้างเป็นอักษรกลาง ตัวใดบ้างเป็นอักษรต่ำ และตัวใดบ้างเรียกว่าแม่ กก กด กบ กง กม กน เกย เกอว พร้อมทั้งเสียงภาษาและอักษร

        ๓) ต้องท่องจำหรือทบทวนว่าพยัญชนะตัวใดบ้างพื้นเสียงคล้ายกัน ซึ่งเรียกว่า อักษรคู่กัน พร้อมการเปลี่ยนเสียง เอก-โท กันได้ด้วย

        ๔) ให้ทบทวนให้เข้าใจในเรื่องวรรณยุกต์ ทัณฑฆาต วิสรรชนีย์ ยัติภังค์ ไม้ไต่คู้ ไม้หันอากาศ ให้ถูกต้องชัดเจน

ข้อแนะนำเฉพาะเรื่อง

๑. เรื่องร่าย

        ทบทวนแผนผังให้ชัดเจน ให้เข้าใจจำนวนคำของแต่ละวรรค การส่งสัมผัส การจบลง และการส่งต่อบทใหม่ การใช้สร้อยคำและจังหวะ

๒. เรื่องกาพย์

      ในเรื่องกาพย์ถือว่า เป็นเรื่องยาวและมีมากชนิด มีความสลับซับซ้อนอยู่ จึงขอแนะนำดังนี้

        ๑) ต้องศึกษาแผนผังกาพย์ที่ต้องการจะแต่งให้เข้าใจถูกต้องชัดเจน ถึงการกำหนดถ้อยคำ สัมผัส การส่งสัมผัสให้บทต่อไป การรับสัมผัส

        ๒) ต้องท่องจำตัวอย่างของกาพย์ที่จะแต่งพร้อมจังหวะให้ถูกต้อง

๓. เรื่องกลอน

      กลอน เป็นบทกวีที่มีความนิยมโดยทั่วไป ผู้ประสงค์จะแต่งให้ได้ดี จำเป็นต้องศึกษาเรื่องต่าง ๆ ให้เข้าใจ จึงขอแนะนำดังนี้

        ๑) ต้องศึกษาแผนผังกลอนให้ดี โดยแยกแยะให้รู้ กลอนสดับ กลอนรับ กลอนรอง และกลอนส่ง ว่าใช้เรียกเหมือนกันทั้งกลอนสุภาพ กลอนลำนำ และกลอนตลาด แยกแยะจำนวนคำ สัมผัสนอก สัมผัสใน และจังหวะให้ถูกต้องชัดเจน

        ๒) ต้องศึกษาให้เข้าใจเรื่องสัมผัสนอก สัมผัสใน สัมผัสตรง สัมผัสเคียง สัมผัสคู่ สัมผัสข้าม สัมผัสสระ สัมผัสพยัญชนะ และสัมผัสที่ห้ามใช้

        ๓) ต้องศึกษาให้ชัดว่าสัมผัสนอก ใช้สัมผัสสระอย่างเดียว และต้องเป็นสัมผัสตรง ดังที่โยงในแผนผัง

        ๔) ต้องศึกษาการส่งสัมผัสในให้เข้าใจชัดเจนถูกต้อง ดังแบบที่ยกมาเป็นตัวอย่าง

กลอน ๖

       กลอน ๖ วรรคหนึ่งมี ๖ คำ แบ่งเป็น ๓ กลุ่ม ๆ ละ ๒ คำ มีการส่งสัมผัสในให้ผูกกันทั้ง ๓ กลุ่ม คือ คำที่ ๒ ของกลุ่มแรก ส่งสัมผัสไปยังคำใดคำหนึ่งในกลุ่มที่ ๒ และคำสุดท้ายของกลุ่มที่ ๒ ส่งสัมผัสไปยังคำแรกของกลุ่มที่ ๓ ดังแบบตัวอย่าง

กลอน ๗

       กลอน ๗ วรรคหนึ่งมี ๗ คำ แบ่งเป็น ๓ กลุ่ม มี ๒ คำอยู่ ๒ กลุ่ม มี ๓ คำอยู่ ๑ กลุ่ม แต่ละกลุ่มต้องส่งสัมผัสต่อกันไปอย่างน้อยหนึ่งวรรค ต้องมีสัมผัสใน ๒ กลุ่ม จะเป็นสัมผัสสระหรือสัมผัสพยัญชนะก็ได้ ดังแบบตัวอย่าง

        กลุ่ม ๓ คำ อาจมี ๔ คำบ้างถ้าเป็นคำผสม ในการส่งสัมผัส ให้คำสุดท้ายของกลุ่มแรกส่งสัมผัสไปยังคำใดคำหนึ่งของกลุ่มที่ ๒ ให้คำสุดท้ายของกลุ่มที่ ๒ ส่งสัมผัสไปยังคำที่ ๑ หรือที่ ๒ ของกลุ่มที่ ๓ ดังแบบตัวอย่าง

กลอน ๘

       กลอน ๘ วรรคหนึ่งมี ๘ คำ แบ่งเป็น ๓ กลุ่ม กำหนดคำไว้ ๓+๒+๓ กลุ่มที่ ๒ อาจมี ๓ คำบ้าง การสัมผัสใน ให้คำสุดท้ายของกลุ่มแรกส่งสัมผัสไปยังคำใดคำหนึ่งของกลุ่มที่ ๒ ให้คำสุดท้ายของกลุ่มที่ ๒ ส่งสัมผัสไปยังคำที่ ๑ หรือที่ ๒ ของกลุ่มที่ ๓ ดังแบบตัวอย่าง

กลอน ๙

       กลอน ๙  วรรคหนึ่งมี ๙ คำ แบ่งเป็น ๓ กลุ่ม กำหนดคำไว้ คือ ๓+๓+๓ ดังแบบตัวอย่าง

     ๕) ให้ทราบชัดว่า ในบางกรณีส่งสัมผัสนอกจากกลอนสดับไปยังคำที่ ๕ ของกลอนรับก็มีบ้าง ในลักษณะเช่นนี้ สัมผัสในของวรรคที่ ๒ ก็ต้องส่งจากคำที่ ๓ ของกลุ่มที่ ๑ นั้นไปยังคำแรกของกลุ่มที่ ๒ อย่าส่งไปคำที่ ๒ ดังแบบตัวอย่าง

๔. เรื่องโคลง

      โคลง เป็นบทกวีชั้นสูงและมีความนิยมโดยทั่วไป จะแต่งได้ดีงามต้องศึกษาและฝึกให้เข้าใจ จึงขอแนะนำดังนี้

        ๑) ต้องศึกษาแผนผังและข้อบังคับให้เข้าใจอย่างชัดเจน โดยเฉพาะพยางค์ที่จะใช้เอก ๗ โท ๔ สุภาพ ๑๙ ต้องศึกษาให้ดี

        ๒) ศึกษาการสัมผัส เอก-โท การใช้ศัพท์แทนเอกและโทในคราวจำเป็น

        ๓) ศึกษาให้เข้าใจคำโดดและคำผสม พร้อมหัดใช้สัมผัสข้ามวรรคด้วยการสัมผัสพยัญชนะไว้

        ๔) ให้เข้าใจการส่งสัมผัสไปยังโคลงบทที่จะแต่งต่อไป ไม่ว่าจะส่งให้โคลงชนิดเดียวกันหรือบทกวีอื่น

๕. เรื่องฉันท์

      ฉันท์ เป็นคำประพันธ์ชั้นสูงสุด และมีจำนวนชนิดมากกว่าคำประพันธ์ประเภทอื่น จึงขอแนะนำดังต่อไปนี้

        ๑) ต้องท่องคณะฉันท์ทั้ง ๘ ให้จำแม่นและเข้าใจอย่างชัดเจน ทั้งคณะฉันท์และศัพท์ลอย แยกให้ชัดเรื่องครุลหุ

        ๒) จะแต่งฉันท์ใดต้องศึกษาแผนผังฉันท์นั้น ให้ทราบว่าฉันท์นั้นมีคณะอะไรบ้าง มีศัพท์ลอยหรือไม่ มีครุกี่คำ ลหุกี่คำ และมีสัมผัสภายในบทและวรรคอย่างไร สัมผัสนอกบทมีอย่างไร

        ๓) พึงศึกษาตัวอย่างแห่งฉันท์นั้น ๆ พร้อมทั้งจังหวะที่กำหนดไว้โดยชัดเจน

สรุปทั่วไป

       เมื่อพร้อมจะฝึกแต่งกวี จงพยามยามคิดฝึกชนิดที่ชอบใจที่สุด โดยเริ่มจากการวางโครงสร้างของเรื่องว่าจะเขียนอะไร พยายามคิดความเรื่องนั้น ๆ ตรวจแผนผังกวีและท่องตัวอย่างให้แม่นยำ หัดว่าทำนองให้ขึ้นใจ เพื่อใจเกาะติดอารมณ์ในเรื่องนั้นและตัวอย่างกวีชนิดนั้น แบบฝึกหัดร้องเพลง พอมีอารมณ์จึงเริ่มคิดหาถ้อยคำที่จะใช้แต่ง เขียนลงตามลำดับให้ถูกต้องตามแผนผังของกวี ระยะแรกให้มีคำครบตามแบบ สัมผัสนอกอย่าให้เสีย ส่วนสัมผัสในจะมีบ้างขาดบ้างอย่าถือใด ๆ พยายามต่อเติมไปคราวละบาทหรือคราวละวรรค เดินหน้าตามลำดับ เขียนได้ครบบทเมื่อใด ต้องนำอ่านตามจังหวะของกวีนั้น ๆ ยึดอารมณ์ได้แล้วค่อยขยายเพิ่มตามลำดับ ต้องค่อยคิดค่อยแต่งค่อยชม อย่าหักโหมข่มเหงใจเกินไป ถ้าแต่งได้หลายบทแล้ว ได้ตรวจแก้ให้ถูกต้องตามที่ชอบใจ เก็บไว้ก่อน ผ่านไปสักวันสองวัน นำมาอ่านทบทวนและตรวจแก้ใหม่ เพื่อให้เหมาะสมและเป็นอารมณ์ของใจได้ดียิ่งขึ้น อย่าละความเพียร จะค่อยดีขึ้นตามลำดับ ไม่มีใครเขียนกวีได้โดยไม่ฝึก ขอให้ข้อคิดไว้เพียงเท่านี้.

พระธรรมปริยัติโสภณ (วรวิทย์)

๑๕ กันยายน ๒๕๕๑