อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑

        “อินทรวิเชียรฉันท์” เป็นชื่อที่เรียกตามแบบไทย แต่ในคัมภีร์วุตโตทัย ท่านเรียกว่า “อินทรวิเชียรคาถา” เป็นติฏฐุภาฉันท์ ฯ “ติฏฐุภา” แปลว่า “ฉันท์ที่เบียดเบียนความไม่ไพเราะในฐานะ ๓ คือ ต้นบาท, กลางบาท และปลายบาท” “อินทรวิเชียร” แปลว่า “คาถาที่เหมือนคทาเพชรของพระอินทร์ เพราะมีเสียงหนักในหนต้นตลอดหนปลาย” เป็นคาถา ๔ บาท ๆ ละ ๑๑ คำ มีสูตรว่า “อินฺทาทิกา ตา วชิรา ชคา โค” แปลความว่า “คาถาที่มี ต คณะ ต คณะ ช คณะ และครุลอย ๒ ชื่อว่า “อินทรวิเชียร”

        ในการบัญญัติฉันท์ไทยนั้น ท่านนำสูตรดังกล่าวมาเป็นสูตร โดยนำมาเพียง ๒ บาท แล้วปรับปรุงให้เป็น ๔ วรรค เพราะมีบาทละ ๑๑ คำ จึงเรียกว่า “ฉันท์ ๑๑” แล้วเพิ่มสัมผัสเข้า คือ คำสุดท้ายของวรรคที่ ๑ ส่งสัมผัสไปยังคำที่ ๓ ของวรรคที่ ๒, คำสุดท้ายของวรรคที่ ๒ ส่งสัมผัสไปยังคำสุดท้ายของวรรคที่ ๓, และคำสุดท้ายของวรรคที่ ๔ ส่งสัมผัสไปยังคำที่พร้อมจะรับในบทที่จะแต่งต่อไป มีแผนผังและตัวอย่างดังนี้