“อุปชาติฉันท์” เป็นชื่อที่เรียกตามแบบไทย แต่ในคัมภีร์วุตโตทัย ท่านเรียกว่า “อุปชาติคาถา” มีสูตรว่า
อนนฺตโรทีริตลกฺขณา เจ
ปาทา วิมิสฺสา อุปชาติโย ตา
เอวํ กิรญฺญาสุปิ มิสฺสิตาสุ
วทนฺติ ชาติสฺวิทเมว นามํ.
ความว่า “หากบาทคาถามีลักษณะดังกล่าวแล้ว ต่อเนื่องกันคือเป็นบาทที่ผสมกันในคาถาใด คาถานั้นชื่อว่า “อุปชาติคาถา” โดยหลักเกณฑ์ฉันท์นี้เป็นคาถาผสม ระหว่างอุเปนทรวิเชียรคาถากับอินทรวิเชียรคาถา โดยกำหนดบทหนึ่งมี ๔ บาท ๆ ละ ๑๑ คำ บาทแรกเป็นอุเปนทรวิเชียรคาถา บาทที่สองเป็นอินทรวิเชียรคาถา ต้องรวม ๒ บท จึงเป็นองค์ประกอบสมบูรณ์ของคาถานี้ ในการบัญญัติอุปชาติฉันท์ไทยนั้น โดยนำเอาหลักเกณฑ์ของอุปชาติคาถามาเป็นหลัก ปรับปรุงใหม่ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น โดยกำหนดบทหนึ่งมี ๒ บาท ๆ ละ ๒ วรรค บาทหนึ่งมี ๑๑ คำ รวมบทหนึ่งมี ๒๔ คำ ต้องรวม ๒ บท คือ ๔๘ คำ จึงเป็นองค์ประกอบสมบูรณ์ โดยบาทแรกขึ้นด้วยอุเปนทรวิเชียร บาทที่ ๒ เป็นอินทรวิเชียร บาทที่ ๓ เป็นอินทรวิเชียร บาทที่ ๔ เป็นอุเปนทรวิเชียร บทต่อไปก็สลับกันอย่างนี้ จะแต่งต่อเท่าใดก็ได้แต่ต้องให้สลับกันไปอย่างนี้ มีแผนผังและตัวอย่างดังนี้