“ภุชงคประยาตฉันท์” หรือ “ภุชงคปยาตฉันท์” เป็นชื่อที่เรียกตามแบบไทย แต่ในคัมภีร์วุตโตทัย ท่านเรียกว่า “ภุชงคประยาตคาถา” เป็นชคตีฉันท์ ฯ “ภุชงคประยาตะ” แปลว่า “คาถาที่มี ย คณะ ย คณะ ติดต่อไปไม่ขาดสายเหมือนงูเลื้อยติดต่อกัน” เป็นคาถา ๔ บาท ๆ ละ ๑๒ คำ มีสูตรว่า “ภุชงฺคปฺปยาตํ ภเว เวทเยหิ” แปลความว่า “คาถาที่มี ย คณะ ๔ คณะ ชื่อว่า “ภุชงคปยาตะ”
ในการบัญญัติฉันท์ไทยนั้น ท่านนำสูตรดังกล่าวมาเป็นสูตร โดยกำหนดนำมาเพียง ๒ บาท แล้วปรับปรุงให้เป็น ๔ วรรค มีบาทละ ๑๒ คำ เพราะมีบาทละ ๑๒ คำนั้น จึงเรียกว่า “ฉันท์ ๑๒” เมื่อได้ปรับปรุงแล้ว เพิ่มสัมผัสเข้าคือ คำสุดท้ายของวรรคที่ ๑ ส่งสัมผัสไปยังคำที่ ๓ ของวรรคที่ ๒, คำสุดท้ายของวรรคที่ ๒ ส่งสัมผัสไปยังคำสุดท้ายของวรรคที่ ๓, และคำสุดท้ายของวรรคที่ ๔ ส่งสัมผัสไปยังคำที่พร้อมจะรับในบทที่จะแต่งต่อไป มีแผนผังและตัวอย่างดังนี้

