พระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ สมัยรัชกาลที่ ๕

พระราชบัญญัติ

ลักษณะปกครองคณะสงฆ์

ร.ศ. ๑๒๑สมัยรัชกาลที่ ๕

———————————-

        มีพระบรมราชโองการ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสเหนือเกล้า ฯ ให้ประกาศจงทราบทั่วกันว่า

        ทุกวันนี้ การปกครองข้างฝ่ายพระราชอาณาจักร ก็ได้ทรงพระราชดำริแก้ไขและจัดตั้งแบบแผนการปกครองให้เรียบร้อยเจริญดีขึ้นกว่าแต่ก่อนเป็นหลายประการแล้ว     และฝ่ายพระพุทธจักรนั้น การปกครองสังฆมณฑล ย่อมเป็นการสำคัญทั้งในประโยชน์แห่งพระศาสนา และในประโยชน์ความเจริญของพระราชอาณาจักรด้วย ถ้าการปกครองสังฆมณฑลเป็นไปตามแบบแผนอันเรียบร้อย พระศาสนาก็จะรุ่งเรืองถาวร และจะชักนำประชาชนทั้งหลายให้เลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสโนวาท ประพฤติสัมมาปฏิบัติและร่ำเรียนวิชาคุณ ในสงฆ์สำนักยิ่งขึ้นเป็นอันมาก

        มีพระราชประสงฆ์จะทรงทำนุบำรุงสังฆมณฑลให้เจริญคุณสมบัติมั่นคงสืบไปในพระศาสนา  จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราเป็นพระราชบัญญัติไว้สืบไปดังนี้ว่า

หมวดที่  ๑

ว่าด้วยนามและกำหนดใช้พระราชบัญญัติ

        มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้ให้มีนามว่า พระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์รัตนโกสินทรศก ๑๒๑ (๑) และพระราชบัญญัตินี้ จะโปรดให้ใช้ในมณฑลใดเมื่อใดจะได้

ประกาศในหนังสือพิมพ์ราชกิจจานุเบกษาเป็นสำคัญ

        มาตรา ๒ ตั้งแต่วันที่ได้ใช้พระราชบัญญัตินี้ในที่ใด ให้ยกเลิกบรรดากฎหมาย แบบแผนประเพณีที่ขัดขวางต่อพระราชบัญญัตินี้  มิให้ใช้ในที่นั้นสืบไป

หมวดที่ ๒

ว่าด้วยคณะใหญ่

        มาตรา ๓ พระราชบัญญัตินี้ไม่เกี่ยวด้วยนิกายสงฆ์ กิจและลัทธิเฉพาะในนิกายนั้นๆ ซึ่งเจ้าคณะหรือสังฆนายกในนิกายนั้นได้เคยมีอำนาจว่ากล่าวบังคับมาแต่ก่อนประการใด ก็ให้คงเป็นไปตามเคยทุกประการ แต่การปกครองอันเป็นสามัญทั่วไปในนิกายทั้งปวง  ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้  (๒)

        มาตรา ๔ สมเด็จเจ้าคณะใหญ่ทั้ง ๔ ตำแหน่ง คือ เจ้าคณะใหญ่คณะเหนือ ๑   เจ้าคณะใหญ่คณะใต้ ๑ เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุตกา ๑ เจ้าคณะใหญ่คณะกลาง ๑ ทั้งพระราชาคณะเจ้าคณะรอง คณะเหนือ คณะใต้ คณะธรรมยุตกา คณะกลาง ทั้ง ๔ ตำแหน่งนั้น ยกเป็นพระมหาเถระที่ทรงปรึกษาในการพระศาสนาและการปกครองบำรุงสังฆมณฑลทั่วไป ข้อภารธุระในพระศาสนาหรือในสังฆมณฑล ซึ่งได้โปรดให้พระมหาเถระทั้งนี้ ประชุมวินิจฉัยในที่มหาเถรสมาคม ตั้งแต่ ๕ พระองค์ขึ้นไป คำตัดสินของมหาเถรสมาคมนั้น ให้เป็นสิทธิ์ขาด ผู้ใดจะอุทธรณ์หรือโต้แย้งต่อไปอีกไม่ได้ (๓)

หมวดที่  ๓

ว่าด้วยวัด

        มาตรา ๕ วัดกำหนดตามพระราชบัญญัตินี้ เป็น ๓ อย่าง คือ พระอารามหลวงอย่าง ๑ อารามราษฎร์อย่าง ๑ ที่สำนักสงฆ์อย่าง ๑

        ๑. พระอารามหลวง คือ วัดที่พระเจ้าแผ่นดินทรงสร้าง หรือทรงพระกรุณาโปรดให้เข้าจำนวนในบาญชี นับว่าเป็นพระอารามหลวง

        ๒. อารามราษฎร์นั้น คือ วัดซึ่งได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา แต่มิได้เข้าบาญชีนับว่าเป็นวัดหลวง

        ๓. ที่สำนักสงฆ์นั้น คือ วัดซึ่งยังไม่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา

        มาตรา ๖ ที่วัดและที่ขึ้นวัดนั้น  จำแนกตามพระราชบัญญัตินี้เป็น ๓ อย่าง คือ    ที่วัด ๑ ที่ธรณีสงฆ์ ๑ ที่กัลปนา ๑

        ๑. ที่วัดนั้น คือ ที่ซึ่งตั้งวัดจนตลอดเขตวัดนั้น เรียกว่าที่วัด

        ๒. ที่ธรณีสงฆ์นั้น คือ ที่แห่งใด ๆ ซึ่งเป็นสมบัติของวัด

        ๓. ที่กัลปนานั้น คือ ที่แห่งใด ๆ ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินได้ทรงพระราชอุทิศเงินอากรค่าที่แห่งนั้นขึ้นวัดก็ดี หรือที่ซึ่งเจ้าของมิได้ถวายกรรมสิทธิ์อุทิศแต่ผลประโยชน์อันเกิดแต่ที่นั้นขึ้นวัดก็ดี ที่เช่นนั้นเรียกว่า ที่กัลปนา

        มาตรา ๗ ที่วัดก็ดี ที่ธรณีสงฆ์ก็ดี เป็นสมบัติสำหรับพระศาสนา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวผู้เป็นอัครศาสนูปถัมภก ทรงปกครองรักษาโดยพระบรมราชานุภาพ ผู้ใดผู้หนึ่งจะโอนกรรมสิทธิ์นั้นไม่ได้  (๔)

        มาตรา ๘ วัดใดร้างสงฆ์ไม่อาศัย (๕) ให้เจ้าพนักงานฝ่ายพระราชอาณาจักรเป็นผู้ปกครองรักษาวัดนั้น  ทั้งที่ธรณีสงฆ์ซึ่งขึ้นวัดนั้นด้วย

        มาตรา ๙ ผู้ใดจะสร้างวัดขึ้นใหม่ ต้องได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตก่อน   จึงจะสร้างได้ และพระบรมราชานุญาตนั้น จะพระราชทานดังนี้ คือ

        ข้อ ๑ ผู้ใดจะสร้างที่สำนักสงฆ์ขึ้นใหม่ ในที่แห่งใด ให้ผู้นั้นมีจดหมายแจ้งความต่อนายอำเภอผู้ปกครองท้องที่แห่งนั้น ให้นายอำเภอปรึกษาด้วยเจ้าคณะแขวงนั้น  ตรวจและพิเคราะห์ข้อความเหล่านี้ก่อน คือ

             ๑. ที่ดินซึ่งจะเป็นวัดนั้น ผู้ขออนุญาตมีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย ที่จะยกให้ได้หรือไม่ (๖)

             ๒. ถ้าสร้างวัดในที่นั้น จะเป็นความขัดข้องอันใดในราชการฝ่ายพระราช- อาณาจักรหรือไม่ (๗)

             ๓. วัดสร้างขึ้นในที่นั้นจะเป็นที่ควรสงฆ์อาศัยหรือไม่  (๘)

             ๔. สร้างวัดขึ้นในที่นั้น จะเป็นประโยชน์แก่ประชุมชนในท้องที่นั้นหรือไม่ (๙)

            ๕. วัดสร้างขึ้นในที่นั้น จะเสื่อมประโยชน์แห่งพระศาสนาด้วยประการใดบ้าง เป็นต้นว่าจะพาให้วัดที่มีอยู่แล้วร่วงโรยหรือร้างไปหรือไม่  (๑๐)

        ถ้านายอำเภอและเจ้าคณะแขวง เห็นพร้อมกันว่า ไม่มีข้อขัดข้องอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๕ ข้อนั้นแล้ว ก็พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เจ้าคณะแขวง มีอำนาจที่จะทำหนังสืออนุญาตให้สร้างที่สำนักสงฆ์นั้นขึ้น และให้นายอำเภอประทับตรากำกับในหนังสือนั้นด้วย และเจ้าของที่ดินนั้นจะต้องจัดการโอนโฉนดเนื้อที่วัดถวายแก่สงฆ์ตามกฎหมายก่อน   จึงจะสร้างที่สำนักสงฆ์ได้

        ข้อ ๒ ในการที่จะขอรับพระราชทานที่วิสุงคามสีมาสำหรับอารามเดิมที่ได้ก่อสร้างปฏิสังขรณ์ใหม่ก็ดี หรือจะสร้างที่สำนักสงฆ์ขึ้นเป็นอารามก็ดี ให้ผู้ขอทำจดหมายยื่นต่อผู้ว่าราชการเมืองนั้น ๆ ให้มีใบบอกเข้ามากราบบังคมทูล ฯ ถ้าในจังหวัดกรุงเทพ ฯ ก็ให้ยื่นจดหมายนั้นต่อกระทรวงธรรมการให้นำกราบบังคมทูล ฯ เพื่อจะได้พระราชทานใบพระบรมราชานุญาต (๑๑)

        ข้อ ๓ ถ้าจะสร้างอารามขึ้นใหม่ทีเดียว ต้องขออนุญาตอย่างสร้างที่สำนักสงฆ์ก่อน  ต่อได้อนุญาตนั้นแล้ว จึงจะขอรับพระราชทานที่วิสุงคามสีมาได้ (๑๒)

หมวดที่  ๔

ว่าด้วยเจ้าอาวาส

        มาตรา ๑๐ วัดหนึ่งให้มีพระภิกษุเป็นเจ้าอาวาสรูปหนึ่ง การเลือกสรรและ

ตั้งเจ้าอาวาสพระอารามหลวงนั้น แล้วแต่จะทรงพระราชดำริเห็นสมควร แม้อารามราษฎร์และสำนักสงฆ์แห่งใด ถ้าทรงพระราชดำริเห็นสมควร จะทรงเลือกสรรและตั้งเจ้าอาวาสก็ได้  (๑๓)

        มาตรา ๑๑ วัดในจังหวัดกรุงเทพ ฯ วัดหลวงก็ดี  วัดราษฎร์ก็ดี  ที่พระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงเลือกและตั้งเจ้าอาวาส ให้เป็นหน้าที่ของพระราชาคณะผู้กำกับแขวง (๑๔)  ที่วัดนั้นตั้งอยู่ จะปรึกษาสงฆ์และสัปปุรุษทายกแห่งวัดนั้นเลือกสรรพระภิกษุซึ่งสมควรจะเป็นเจ้าอาวาส ถ้าและพระราชาคณะนั้นเห็นว่า พระภิกษุรูปใดสมควรจะเป็นเจ้าอาวาสก็ให้มีอำนาจที่จะทำตราตั้งพระภิกษุรูปนั้นเป็นเจ้าอาวาสวัดนั้น และตราตั้งนั้นต้องให้ผู้บัญชาการกระทรวงธรรมการ ประทับตราเป็นสำคัญในฝ่ายพระราชอาณาจักรด้วย

        มาตรา ๑๒ การเลือกสรรเจ้าอาวาสวัดในหัวเมือง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงเลือกและตั้งเองนั้น ให้เป็นหน้าที่ของเจ้าคณะแขวง ที่จะปรึกษาสงฆ์ และสัปปุรุษทายกแห่งวัดนั้น เลือกสรรพระภิกษุซึ่งสมควรจะเป็นเจ้าอาวาส ถ้าปรึกษาเห็นพร้อมกันในพระภิกษุรูปหนึ่งรูปใดก็ดี  หรือเห็นแตกต่างกันในพระภิกษุหลายรูปก็ดี ให้เจ้าคณะแขวงนำความเสนอต่อเจ้าคณะเมือง ๆ เห็นว่า พระภิกษุรูปใดสมควรจะเป็นเจ้าอาวาส ก็ให้มีอำนาจที่จะทำตราตั้งพระภิกษุรูปนั้น เป็นเจ้าอาวาสวัดนั้น และตราตั้งนั้นต้องให้ผู้ว่าราชการเมืองประทับตราตำแหน่งเป็นสำคัญในฝ่ายพระราชอาณาจักรด้วย

        อนึ่ง เจ้าอาวาสทั้งปวงนั้น ถ้าไม่ได้อยู่ในสมณศักดิ์ที่สูงกว่า ก็ให้มีสมณศักดิ์เป็นอธิการ (๑๕)

        มาตรา ๑๓ เจ้าอาวาสมีหน้าที่ดังนี้ คือ

             ข้อ ๑ ที่จะทำนุบำรุงรักษาวัดนั้น ตามกำลังและความสามารถ

             ข้อ ๒ ที่จะตรวจตราอย่าให้วัดนั้นเป็นที่พำนักแอบแฝงของโจรผู้ร้าย

             ข้อ ๓ ที่จะปกครองบรรพชิตและคฤหัสถ์   ซึ่งอาศัยอยู่ในวัดนั้น

             ข้อ ๔ ที่จะรักษาความเรียบร้อยและระงับอธิกรณ์ ในหมู่บรรพชิตและคฤหัสถ์ซึ่งอาศัยอยู่ในวัดนั้น

             ข้อ ๕ ที่จะเป็นธุระในการสั่งสอนพระศาสนาแก่บรรพชิตและคฤหัสถ์ให้เจริญในสัมมาปฏิบัติ  ตามสมควรแก่อุปนิสัย

             ข้อ ๖ ที่จะเป็นธุระให้กุลบุตรซึ่งอาศัยเป็นศิษย์อยู่ในวัดนั้น ได้ร่ำเรียนวิชาความรู้ตามสมควร  (๑๖)

             ข้อ ๗ ที่จะเป็นธุระแก่สัปปุรุษและทายกผู้มาทำบุญในวัดนั้น ให้ได้บำเพ็ญกุศลโดยสะดวก  (๑๗)

             ข้อ ๘ ที่จะทำบาญชีบรรพชิตและคฤหัสถ์ซึ่งอาศัยในวัดนั้น และทำรายงานการวัดยื่นต่อเจ้าคณะ (๑๘)

             ข้อ ๙ ถ้าพระภิกษุสามเณรในวัดนั้นปรารถนาจะไปอยู่วัดอื่นก็ดี  หรือจะไปทางไกลก็ดี  เป็นหน้าที่ของเจ้าอาวาสจะต้องให้หนังสือสุทธิเป็นใบสำคัญ (๑๙) เว้นแต่ถ้าเจ้าอาวาสเห็นว่า ภิกษุสามเณรรูปใดจะไปเพื่อประพฤติอนาจารในที่อื่น จะไม่ยอมให้หนังสือสุทธิก็ได้  แต่ต้องแจ้งเหตุให้พระภิกษุหรือสามเณรรูปนั้นทราบด้วย

        มาตรา ๑๔ เป็นหน้าที่ของบรรพชิตและคฤหัสถ์บรรดาซึ่งอาศัยในวัดนั้นจะต้องช่วยเจ้าอาวาสในการทั้งปวง อันเป็นภาระของเจ้าอาวาสนั้น

        มาตรา ๑๕ บรรดาพระภิกษุสามเณรต้องมีสังกัดอยู่ในบาญชีวัดใดวัดหนึ่งทุกรูป

        มาตรา ๑๖ คฤหัสถ์ซึ่งอาศัยอยู่ในวัด ย่อมมีหน้าที่และความรับผิดชอบต่อพระราชกำหนดกฎหมาย (๒๐) เหมือนพลเมืองทั้งปวง

        มาตรา ๑๗ เจ้าอาวาสมีอำนาจเหล่านี้ คือ

             ข้อ ๑ มีอำนาจที่จะบังคับว่ากล่าวบรรดาบรรพชิตและคฤหัสถ์ซึ่งอยู่ในวัดนั้น

             ข้อ ๒ อธิกรณ์เกิดขึ้นในวัดใด ถ้าเป็นความตามลำพังพระวินัย เจ้าอาวาสวัดนั้นมีอำนาจที่จะพิพากษาได้ ถ้าเป็นความแพ่ง แม้คู่ความทั้งสองฝ่ายยอมให้เจ้าอาวาสเปรียบเทียบก็เปรียบเทียบได้

             ข้อ ๓ บรรพชิตก็ดี คฤหัสถ์ก็ดี ถ้ามิได้รับอนุญาตของเจ้าอาวาส จะเข้าไปบวชหรือไปอยู่ในวัดนั้นไม่ได้  (๒๑)

             ข้อ ๔ บรรพชิตก็ดี คฤหัสถ์ก็ดี ที่อยู่ในวัดนั้น ถ้าไม่อยู่ในโอวาทของเจ้าอาวาส ๆ จะไม่ให้อยู่ในวัดนั้นก็ได้  (๒๒)

             ข้อ ๕ ถ้าเจ้าอาวาสบังคับการอันชอบด้วยพระวินัยบัญญัติ หรือพระราชบัญญัติ  และพระภิกษุสามเณรในวัดนั้นไม่กระทำตามก็ดี  หรือฝ่าฝืนคำสั่งหมิ่นประมาทเจ้าอาวาสก็ดี  เจ้าอาวาสมีอำนาจที่จะกระทำทัณฑกรรม (๒๓) แก่พระภิกษุสามเณรผู้มีความผิดนั้นได้

             ข้อ ๖ ถ้าเจ้าอาวาสกระทำการตามหน้าที่ โดยชอบด้วยพระราชกำหนดกฎหมาย  ถ้าและคฤหัสถ์ผู้ใดขัดขืนหรือลบล้างอำนาจหรือหมิ่นประมาทเจ้าอาวาส ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษปรับครั้งหนึ่ง  เป็นเงินไม่เกิน ๒๐ บาท หรือจำขังเดือนหนึ่ง หรือทั้งปรับและจำด้วยทั้ง ๒ สถาน (๒๔)

        มาตรา ๑๘ ผู้ใดจะอุทธรณ์คำสั่งของเจ้าอาวาส ถ้าวัดในจังหวัดกรุงเทพฯ ให้อุทธรณ์ต่อพระราชาคณะผู้กำกับแขวง ถ้าวัดในหัวเมือง ให้อุทธรณ์ต่อเจ้าคณะแขวง

        มาตรา ๑๙ วัดใดจำนวนสงฆ์มากก็ดี หรือเจ้าอาวาสวัดไม่สามารถจะกระทำการตามหน้าที่ได้ทุกอย่าง ด้วยความชราทุพพลภาพเป็นต้นก็ดี ในจังหวัดกรุงเทพฯ เมื่อพระราชาคณะผู้กำกับแขวงเห็นสมควรจะตั้งพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง เป็นรองเจ้าอาวาสสำหรับรับภาระทั้งปวง  หรือแต่อย่างใดอย่างหนึ่งช่วยเจ้าอาวาส ก็ตั้งรองเจ้าอาวาสได้ รองเจ้าอาวาสมีอำนาจได้เท่าที่พระราชาคณะซึ่งกำกับแขวงได้มอบนั้น แต่จะมีอำนาจเกินเจ้าอาวาส  หรือกระทำการฝ่าฝืนอนุมัติของเจ้าอาวาสไม่ได้ ส่วนวัดในหัวเมือง ก็ให้เป็นอำนาจและหน้าที่ของเจ้าคณะเมืองจะตั้งรองเจ้าอาวาส เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสได้เหมือนเช่นนั้น (๒๕) รองเจ้าอาวาสนี้ ถ้าไม่ได้อยู่ในสมณศักดิ์ที่สูงกว่า ให้มีสมณศักดิ์เป็นรองอธิการ

หมวดที่  ๕

ว่าด้วยคณะแขวง

        มาตรา  ๒๐ ในท้องที่อำเภอหนึ่ง  ให้กำหนดตามพระราชบัญญัตินี้เป็นแขวงหนึ่ง ในจังหวัดกรุงเทพฯ จะโปรดให้พระราชาคณะเป็นผู้กำกับคณะแขวงละรูป ส่วนท้องที่ในหัวเมืองนอกจังหวัดกรุงเทพฯ นั้น แขวงหนึ่งให้มีเจ้าคณะแขวงรูปนึ่ง แต่ถ้าแขวงใดมีวัดน้อย จะรวมหลายแขวงไว้ในหน้าที่เจ้าคณะแขวงใดแขวงหนึ่งก็ได้ ทั้งนี้ แล้วแต่เจ้าคณะมณฑลจะเห็นสมควร

        มาตรา ๒๑ พระราชาคณะผู้กำกับแขวงในจังหวัดกรุงเทพฯ นี้ จะโปรดให้พระราชาคณะรูปใดเป็นผู้กำกับคณะแขวงใด   แล้วแต่จะทรงพระราชดำริเห็นสมควร

        ส่วนการเลือกตั้งเจ้าคณะแขวงในหัวเมืองนั้น เป็นหน้าที่เจ้าคณะเมือง จะเลือกสรรเจ้าอาวาสวัดซึ่งอยู่ในแขวงนั้นเสนอต่อเจ้าคณะมณฑล แล้วแต่เจ้าคณะมณฑลจะเห็น สมควร  และให้เจ้าคณะมณฑลมีอำนาจที่จะทำตราตั้งเจ้าคณะแขวง และตราตั้งนั้นต้องให้ข้าหลวงใหญ่ (๒๖) ซึ่งสำเร็จราชการมณฑลประทับตรากำกับเป็นสำคัญข้างฝ่ายพระราชอาณาจักรด้วย อนึ่ง เจ้าคณะแขวงนี้ ถ้าไม่ได้อยู่ในสมณศักดิ์ที่สูงกว่า ให้มีสมณศักดิ์เป็นพระครู ถ้าทรงพระราชดำริเห็นสมควร จะทรงเลือกสรรหรือจะพระราชทานสัญญาบัตรราชทินนาม ตั้งเจ้าคณะแขวงให้มีสมณศักดิ์ยิ่งขึ้นไปก็ได้  (๒๗)

        มาตรา ๒๒ บรรดาวัดในจังหวัดกรุงเทพฯ อยู่ในแขวงใด ให้ขึ้นอยู่ในพระราชาคณะผู้กำกับแขวงนั้น ส่วนวัดในหัวเมืองวัดอยู่ในแขวงใด ก็ให้ขึ้นอยู่ในเจ้าคณะแขวงนั้น เว้นแต่วัดทั้งในกรุงเทพฯ และในหัวเมือง ที่โปรดให้ขึ้นอยู่เฉพาะคณะ หรือเฉพาะพระราชาคณะรูปใดรูปหนึ่ง  ซึ่งทรงพระราชดำริเห็นสมควร (๒๘)

        มาตรา  ๒๓  ให้พระราชาคณะผู้กำกับแขวงในจังหวัดกรุงเทพ ฯ มีฐานานุศักดิ์ ตั้งฐานานุกรมตำแหน่งพระสังฆรักษ์ได้อีกรูปหนึ่ง เว้นแต่ถ้าพระราชาคณะรูปนั้น มีฐานานุศักดิ์ควรตั้งฐานานุกรมเกิน ๓ รูป อยู่แล้ว ก็ไม่ต้องตั้ง

        มาตรา ๒๔ พระราชาคณะผู้กำกับแขวงมีหน้าที่ดังนี้ คือ

             ข้อ ๑ ที่จะตรวจตราอำนวยการวัด และการสงฆ์ (๒๙) บรรดาซึ่งอยู่ในปกครองให้เรียบร้อย เป็นไปตามพระวินัยบัญญัติ และพระราชบัญญัตินี้

             ข้อ ๒ ที่จะเลือกและตั้งรองเจ้าคณะแขวง (๓๐) เจ้าอาวาสและรองเจ้าอาวาสอันมีอำนาจเลือกตั้งได้ตามพระราชบัญญัตินี้

             ข้อ ๓ ที่จะตรวจตราทำนุบำรุงการสั่งสอนพระศาสนา และการศึกษาในวัดซึ่งอยู่ในความปกครอง

             ข้อ ๔ ที่จะไปดูแลตรวจตราการตามวัดขึ้นในแขวงนั้น เป็นครั้งเป็นคราวตามสมควร

             ข้อ ๕ ที่จะช่วยระงับอธิกรณ์แก้ไขความขัดข้องของเจ้าอาวาส และวินิจฉัยข้ออุทธรณ์เจ้าอาวาส

        มาตรา ๒๕ พระราชาคณะผู้กำกับแขวงในจังหวัดกรุงเทพฯ มีอำนาจดังนี้  คือ

             ข้อ ๑ รองเจ้าคณะแขวงก็ดี เจ้าอาวาสก็ดี รองเจ้าอาวาสก็ดี ที่พระราชาคณะนั้นตั้งได้ตามพระราชบัญญัตินี้ แม้ไม่สมควรจะอยู่ในตำแหน่งต่อไป เพราะความประพฤติก็ดี เพราะไม่สามารถก็ดี พระราชาคณะผู้กำกับแขวงมีอำนาจที่จะเอาออกจากตำแหน่งได้

             ข้อ ๒ มีอำนาจที่จะตัดสินข้ออุทธรณ์ หรือการเกี่ยงแย่งในคำสั่งและคำวินิจฉัยของเจ้าอาวาสวัดขึ้นในแขวงนี้

             ข้อ ๓ มีอำนาจที่จะบังคับว่ากล่าวพระภิกษุสามเณรในวัดซึ่งขึ้นอยู่ในแขวงนั้นในกิจอันชอบด้วยพระวินัยบัญญัติและพระราชบัญญัติ

        มาตรา ๒๖ พระครูเจ้าคณะแขวงหัวเมืองมีหน้าที่ดังนี้ คือ

             ข้อ ๑ ที่จะตรวจตราอำนวยการวัด และการสงฆ์บรรดาที่อยู่ในปกครองให้เรียบร้อย  เป็นไปตามพระวินัยบัญญัติ และพระราชบัญญัติ

             ข้อ ๒ ที่จะเลือกเจ้าอาวาสและรองเจ้าอาวาสตามความในพระราชบัญญัตินี้

             ข้อ ๓ ที่จะตรวจตราทำจะบำรุงการสั่งสอนพระศาสนา และการศึกษาในวัดซึ่งอยู่ในปกครอง

             ข้อ ๔ ที่จะไปดูแลตรวจตราตามวัดขึ้นในแขวงนั้น เป็นครั้งเป็นคราวตามสมควร

             ข้อ ๕ ที่จะช่วยแก้ไขความขัดข้องของเจ้าอาวาส และวินิจฉัยข้ออุทธรณ์คำสั่งของเจ้าอาวาส

             ข้อ ๖ ถ้าเกิดเหตุหรืออธิกรณ์อย่างใดในการวัดหรือการสงฆ์ในแขวงนั้น         อันเหลือกำลังที่จะระงับได้ ก็ให้รีบนำความเสนอต่อเจ้าคณะเมือง

        มาตรา  ๒๗  เจ้าคณะแขวงมีอำนาจดังนี้    คือ

             ข้อ ๑ มีอำนาจที่จะตัดสินข้ออุทธรณ์ หรือการเกี่ยงแย่งในคำสั่งและคำวินิจฉัยของเจ้าอาวาสวัดขึ้นในแขวงนั้น

             ข้อ ๒ มีอำนาจที่จะบังคับว่ากล่าวพระภิกษุสามเณรตลอดท้องที่แขวงนั้น    ในกิจอันชอบด้วยพระวินัยบัญญัติและพระราชบัญญัติ

        มาตรา ๒๘ เจ้าคณะแขวงมีฐานานุศักดิ์ตั้งฐานานุกรมผู้ช่วยการคณะได้ ๒ รูปคือพระสมุห์ ๑ พระใบฎีกา ๑ ถ้าเจ้าคณะแขวงนั้น ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นพระครูราชทินนาม ตั้งพระปลัดได้อีกรูป ๑

        มาตรา ๒๙ แขวงใดในจังหวัดกรุงเทพฯ ก็ดี ในหัวเมืองก็ดี  มีวัดมากพระราชาคณะผู้กำกับแขวงในจังหวัดกรุงเทพฯ หรือเจ้าคณะเมืองนั้น เห็นสมควรจะมีผู้ช่วยตรวจตราการอยู่ประจำท้องแขวง จะตั้งเจ้าอาวาสวัดใดวัดหนึ่งในแขวงนั้น ให้เป็นรองเจ้าคณะแขวงกำกับตรวจตราการวัด  ในตำบลหนึ่งหรือหลายตำบลก็ได้ และในจำนวนแขวงหนึ่งจะมีรองเจ้าคณะแขวงกี่รูปก็ได้ตามสมควร แต่รองเจ้าคณะแขวงรูปหนึ่ง ต้องมีจำนวนวัดอยู่ในหมวดนั้นไม่น้อยกว่า ๕ วัดจึงควรตั้ง (๓๑) และรองเจ้าคณะแขวงมีหน้าที่ฟังคำสั่งและเป็นผู้ช่วยเจ้าคณะแขวง อนึ่ง รองเจ้าคณะแขวงนั้น ถ้าไม่ได้อยู่ในสมณศักดิ์ที่สูงกว่า  ให้มีสมณศักดิ์เป็นเจ้าอธิการ

หมวดที่  ๖

ว่าด้วยคณะเมือง

        มาตรา ๓๐ หัวเมืองหนึ่ง ให้มีพระราชาคณะหรือพระครูเป็นเจ้าคณะเมืองรูป ๑   การเลือกสรรและตั้งตำแหน่งเจ้าคณะเมืองนี้ แล้วแต่จะทรงพระราชดำริเห็นสมควร (๓๒)

        มาตรา ๓๑ เจ้าคณะเมืองมีหน้าที่ดังนี้ คือ

             ข้อ ๑ ที่จะตรวจตราอำนวยการวัดและการสงฆ์บรรดาอยู่ในเขตเมืองนั้น      ให้เรียบร้อยเป็นไปตามพระวินัยบัญญัติและพระราชบัญญัติ

             ข้อ ๒ ที่จะตั้งรองเจ้าคณะแขวง เจ้าอาวาส และรองเจ้าอาวาสวัดในเขตเมืองนั้นซึ่งมีอำนาจตั้งได้ตามพระราชบัญญัตินี้

             ข้อ ๓ ที่จะตรวจตราทำนุบำรุงการสั่งสอนพระศาสนา และการศึกษาในบรรดาวัดในเขตเมืองนั้น

             ข้อ ๔ ที่จะช่วยแก้ไขความขัดข้องของเจ้าคณะแขวงและระงับอธิกรณ์ วินิจฉัยข้ออุทธรณ์คำสั่งและคำวินิจฉัยของเจ้าคณะแขวงในเมืองนั้น

             ข้อ ๕ ที่จะเลือกเจ้าอาวาสซึ่งสมควรเป็นเจ้าคณะแขวงเสนอต่อเจ้าคณะมณฑล

        มาตรา ๓๒ เจ้าคณะเมืองมีอำนาจดังนี้    คือ

             ข้อ ๑  มีอำนาจที่จะบังคับบัญชา  ว่ากล่าวสงฆมณฑลตลอดเมืองนั้น  ในกิจอันชอบด้วยพระวินัยบัญญัติและพระราชบัญญัติ

             ข้อ  ๒  รองเจ้าคณะแขวงก็ดี  เจ้าอาวาสก็ดี  รองเจ้าอาวาสก็ดี  ซึ่งเจ้าคณะเมืองตั้งได้ตามพระราชบัญญัตินี้ ถ้าไม่สมควรจะคงอยู่ในตำแหน่งต่อไป เพราะความประพฤติก็ดี หรือเพราะขาดความสามารถก็ดี เจ้าคณะเมืองมีอำนาจที่จะเอาออกจากตำแหน่งได้

             ข้อ ๓ มีอำนาจที่จะตัดสินข้ออุทธรณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยของเจ้าคณะแขวง

        มาตรา ๓๓ เจ้าคณะเมืองมีฐานานุศักดิ์ ตั้งฐานานุกรมได้ ๕ รูป คือ พระปลัด ๑ พระวินัยธร ๑ พระวินัยธรรม ๑ พระสมุห์ ๑ พระใบฎีกา ๑ สำหรับช่วยในการคณะ

        มาตรา ๓๔ หัวเมืองใดมีกิจภาระมาก จะทรงพระกรุณาโปรดตั้งพระครูเจ้าคณะรองเป็นผู้ช่วยเจ้าคณะเมืองรูป ๑ หรือหลายรูป ตามแต่จะทรงพระราชดำริเห็นสมควร

หมวดที่  ๗

ว่าด้วยคณะมณฑล

        มาตรา ๓๕ หัวเมืองมณฑล ๑ จะทรงพระกรุณาโปรดให้พระราชาคณะผู้ใหญ่เป็นเจ้าคณะมณฑลรูป ๑ พระราชาคณะรูปใดควรจะเป็นเจ้าคณะมณฑลไหนนั้น แล้วแต่จะทรงพระราชดำริเห็นสมควร

        มาตรา ๓๖ ถ้ามณฑลใดมีกิจภาระมาก จะทรงพระกรุณาโปรดให้มีพระราชาคณะเป็นเจ้าคณะรองผู้ช่วยภาระมณฑลนั้นอีกรูป ๑ หรือหลายรูป ทั้งนี้แล้วแต่จะทรงพระราชดำริเห็นสมควร

        มาตรา ๓๗ เจ้าคณะมณฑลมีหน้าที่ดังนี้ คือ

             ข้อ ๑ ที่จะรับพระบรมราชานุมัติไปจัดการทำนุบำรุงพระศาสนา และบำรุงการศึกษาตามวัดในมณฑลนั้น ให้เจริญรุ่งเรืองตามพระราชประสงค์

             ข้อ ๒ ที่จะออกไปตรวจตราการคณะสงฆ์ และการศึกษาในมณฑลนั้น ๆ   บ้างเป็นครั้งคราว (๓๓)

             ข้อ ๓ ที่จะตั้งพระครูเจ้าคณะแขวงตามหัวเมืองในมณฑลนั้น บรรดาซึ่งมิได้รับพระราชทานสัญญาบัตร

             ข้อ ๔ ที่จะช่วยแก้ไขความขัดข้องของเจ้าคณะเมืองในมณฑลนั้น

        มาตรา ๓๘ เจ้าคณะมณฑลมีอำนาจดังนี้ คือ

             ข้อ ๑ มีอำนาจที่จะบังคับบัญชาพระภิกษุสามเณรทั่วทั้งมณฑลนั้น ในกิจอันชอบด้วยพระวินัยบัญญัติและพระราชบัญญัติ

             ข้อ ๒ ที่จะมอบอำนาจให้เจ้าคณะรองออกไปตรวจจัดการ ในมณฑลได้ตามเห็น

สมควรจะให้มีอำนาจเท่าใด แต่มิให้เกินแก่อำนาจและฝ่าฝืนอนุมัติของเจ้าคณะมณฑล

             ข้อ ๓ ผู้มีตำแหน่งสมณศักดิ์ชั้นใด ๆ ในมณฑลนั้น นอกจากที่ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรแล้ว ถ้าไม่สมควรจะอยู่ในตำแหน่ง เพราะความประพฤติก็ดี เพราะขาดความสามารถก็ดี เจ้าคณะมณฑลมีอำนาจที่จะเอาออกจากตำแหน่งได้

             ข้อ ๔ เจ้าคณะมณฑลมีอำนาจที่จะตัดสินข้ออุทธรณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยของเจ้าคณะเมือง

        มาตรา ๓๙ เจ้าคณะมณฑลมีฐานานุศักดิ์ตั้งฐานานุกรมได้ ๖ รูป คือ พระครูปลัด ๑  พระครูวินัยธร ๑ พระครูวินัยธรรม ๑ พระสังฆรักษ์ ๑ พระสมุห์ ๑ พระใบฎีกา ๑ แต่ถ้าในฐานานุศักดิ์เดิมมีตำแหน่งใดแล้ว ไม่ต้องตั้งตำแหน่งนั้น

หมวดที่  ๘

ว่าด้วยอำนาจ

        มาตรา ๔๐ เป็นหน้าที่ของเจ้ากระทรวงธรรมการ  และเจ้าพนักงานผู้ปกครองท้องที่ จะช่วยอุดหนุนเจ้าคณะให้ได้กำลังและอำนาจพอที่จะจัดการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้

        มาตรา ๔๑ พระภิกษุสามเณร ต้องฟังบังคับบัญชาเจ้าคณะซึ่งตนอยู่ในความปกครองตามพระราชบัญญัตินี้ ถ้าไม่ฟังบังคับบัญชาหรือหมิ่นละเมิดต่ออำนาจเจ้าคณะมีความผิด เจ้าคณะมีอำนาจที่จะทำทัณฑกรรมได้

        มาตรา ๔๒ ถ้าเจ้าคณะกระทำการตามหน้าที่ในพระราชบัญญัติ และคฤหัสถ์ผู้ใดลบล้างขัดขืนต่ออำนาจเจ้าคณะ ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษฐานขัดอำนาจเจ้าพนักงาน

        มาตรา ๔๓ คดีที่จำเลยเป็นเจ้าอาวาสก็ดี หรือเป็นคดีอุทธรณ์คำตัดสินหรือคำสั่งของเจ้าอาวาสก็ดี  หรือจำเลยเป็นรองเจ้าคณะแขวง หรือเป็นฐานานุกรมของเจ้าคณะแขวงก็ดี หรืออุทธรณ์คำสั่งรองเจ้าคณะแขวง หรือฐานานุกรมเจ้าคณะแขวงก็ดี ถ้าข้อวินิจฉัยคดีนั้น อยู่ในลำพังพระวินัยบัญญัติ หรือในการบังคับบัญชาตามพระราชบัญญัตินี้   คดีเกิดขึ้นในแขวงใด ให้เจ้าคณะแขวงนั้นมีอำนาจที่จะตัดสินคดีนั้นได้

        คดีเช่นนั้น  ถ้าจำเลยหรือผู้ต้องอุทธรณ์เป็นเจ้าคณะแขวง หรือรองเจ้าคณะเมือง หรือฐานานุกรมเจ้าคณะหัวเมืองใด ให้เจ้าคณะเมืองนั้นมีอำนาจที่จะตัดสินได้ ถ้าจำเลยหรือผู้ต้องอุทธรณ์เป็นเจ้าคณะเมือง หรือรองเจ้าคณะมณฑล หรือฐานานุกรมของเจ้าคณะมณฑลของรองเจ้าคณะมณฑลใด ให้เจ้าคณะมณฑลนั้นมีอำนาจตัดสินได้   ถ้าจำเลยหรือผู้ต้องอุทธรณ์เป็นเจ้าคณะมณฑลหรือเป็นพระราชาคณะผู้กำกับแขวง ให้โจทก์หรือผู้อุทธรณ์ทำฎีกายื่นต่อกระทรวงธรรมการ ให้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณา (๓๔)

        มาตรา ๔๔ พระราชาคณะหรือสังฆนายก ซึ่งโปรดให้ปกครองคณะพิเศษ นอกจากที่ได้กล่าวมาในพระราชบัญญัตินี้ เช่น พระราชาคณะซึ่งได้ว่ากล่าววัดในจังหวัดกรุงเทพฯ  หลายวัด (๓๕) แต่มิได้กำกับเป็นแขวงเป็นต้นก็ดี มีอำนาจและหน้าที่ในการปกครองวัดขึ้น  เหมือนพระราชาคณะผู้กำกับแขวงฉะนั้น

        มาตรา ๔๕ ให้เป็นหน้าที่เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ที่จะรักษาการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้

        ประกาศมา ณ วันที่ ๑๖  มิถุนายน  รัตนโกสินทรศก  ๑๒๑  เป็นวันที่ ๑๒๒๗๐ ในรัชกาลปัจจุบันนี้

บันทึก

เรื่องพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.  ๑๒๑

        “ภิกษุสงฆ์ แม้มีพระวินัยเป็นกฎหมายสำหรับตัวอยู่ส่วนหนึ่งแล้ว   ก็ยังจะต้องอยู่ในใต้อำนาจแห่งกฎหมายฝ่ายอาณาจักรอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งตราไว้เฉพาะหรือเพื่อคนทั่วไปและยังควรอนุวัตจารีตของบ้านเมือง  อันไม้ขัดต่อกฎหมายสองประเภทนั้นอีก

        สรุปความ  ภิกษุสงฆ์มีกฎหมายอันจะพึงฟังอยู่ ๓ ประเภท คือ กฎหมายแผ่นดิน ๑   พระวินัย ๑   จารีต  ๑

        พระราชบัญญัตินี้  เป็นกฎหมายแผ่นดินจึงสมควรจะรู้จะเข้าใจ และปฏิบัติให้ถูกต้อง”

        บทความข้างต้นนี้ เป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ซึ่งได้ทรงนิพนธ์ไว้ในตอนท้ายแห่งแถลงการณ์คณะสงฆ์ ก่อนหน้าพระราช บัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ เมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ.  ๒๔๕๗

        อนึ่ง บทความเชิงอรรถใต้มาตราต่าง ๆ  แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ ข้างท้ายบันทึกนี้ ก็เป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยา วชิรญาณวโรรส  เช่นเดียวกัน


          (๑) พุทธศักราช  ๒๔๔๕

          (๒) หมายเอาคณะธรรมยุตกา ที่เคยได้พระบรมราชานุญาตให้ปกครองกันตามลำพัง แลวัดในกรุงอันยังแยกขึ้นก้าวก่าย ในคณะ นั้น ๆ ฯ การปกครองสามัญทั่วไปในนิกายทั้งปวงนั้น เช่น หน้าที่แลอำนาจเจ้า-อาวาส เป็นตัวอย่าง  ฯ

          (๓) ในเวลาตั้งพระราชบัญญัตินี้ ว่างสมเด็จพระมหาสมณะ หรือสมเด็จพระสังฆราช มีแต่เจ้าคณะใหญ่ ๔ รูป เจ้าคณะรอง ๔ รูป  คณะใหญ่ทั้ง ๔ นั้นต่างมิได้ขึ้นแก่กัน  เมื่อมีกิจอันจะพึงทำร่วมกัน  เสนาบดีกระทรวงธรรมการ  รับพระบรมราชโองการสั่ง ฯ เจ้าคณะรูปใดมีสมณศักดิ์สูง เสนาบดีก็พูดทางเจ้าคณะรูปนั้น ๆ เป็นการกในการประชุม ในครั้งนั้นข้าพเจ้าเป็นการก ฯ ในแผ่นดินปัตยุบัน โปรดให้ข้าพเจ้าเป็นผู้บัญชาการคณะสงฆ์ได้ทั่วไป การประชุมตามพระราชบัญญัตินี้ ก็ชื่อว่าเป็นอันงดชั่วคราวโดยนัย หรือกล่าวอีกโวหารหนึ่งว่า ยังไม่ถึงคราวเรียกประชุมตามพระราชบัญญัติ  ตลอดเวลาที่ข้าพเจ้ายังบัญชาการอยู่   ข้าพเจ้าปรารถนาจะให้มหาเถรสมาคมคงมียืนอยู่ด้วยประการหนึ่ง  จึงยังคงเรียกประชุม  แลบัญชากิจการอันจะพึงทำเป็นการสงฆ์ในที่ประชุมนั้น ฯ เจ้าคณะใหญ่ชราโดยมาก  มาได้บ้าง มาไม่ได้บ้าง  เจ้าคณะรองเป็นผู้บัญชาการคณะมณฑลทั้งนั้น  ว่างบ้างก็มี  บางคราวไม่ครบกำหนดสงฆ์ปัญจวรรค ที่เป็นองค์ของสมาคมในพระราชบัญญัติ  จึงเรียกพระราชาคณะชั้นธรรมเข้าเพิ่มด้วย นี้ประชุมโดยปกติอย่าง ๑ เรียกเจ้าคณะมณฑลหรือคณาจารย์เอกเข้าประชุมด้วยก็มี  นี้เป็นประชุมพิเศษอย่าง ๑ ฯ

       (๔) ไม่ใช่ห้ามเด็ดขาดทีเดียว เคยพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้โอนได้ก็มี แปลว่าทำตามลำพังไม่ได้  ต้องขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต

       (๕)  ร้างตามลำพัง  หรือมีรูปเดียวหรือน้อยรูป  เจ้าคณะเห็นไม่สมควรจะตั้ง  สั่งถอนไปเข้ากับวัดอื่นเสีย ฯ

       (๖)   ผู้สร้างจะยกที่ดินตำบลใดเป็นวัด ต้องเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของที่ดินนั้น หรือมีกรรมสิทธิ์เพื่อจะทำได้ฯ

       (๗)  ที่ขัดข้องแก่ราชการนั้น  เช่นได้กะไว้ว่าจะตัดถนนหรือจะสร้างที่ทำการรัฐบาลเป็นตัวอย่าง ฯ

       (๘)   ที่สงฆ์ไม่ควรอาศัยนั้น เช่น อยู่ในตำบลที่ตั้งแห่งคนถือศาสนาอื่นเป็นอันมากมีคนถือพระพุทธศาสนาน้อยไม่พอจะบำรุง อยู่ในตำบลที่มากไปด้วยอโคจร เช่น เป็นถิ่นของหญิงแพศยา  หรือใกล้โรงสุรายาฝิ่น หรืออยู่ในตำบลอันกันดารเกินไป ฯ

       (๙)   ถ้าตั้งขึ้นในหมู่คนศาสนาอื่น   ถือศาสนาอื่น  หาเป็นประโยชน์แก่ประชุมชนในท้องที่นั้นไม่  ตั้งในหมู่คนถือพระพุทธศาสนา   จึงเป็นประโยชน์

       (๑๐) ในตำบลเดียว  ชาวบ้านมีกำลังพอจะบำรุงได้วัดหนึ่ง ตั้งขึ้นอีกวัดหนึ่ง  ชาวบ้านแยกกันออกเป็นทายกของวัดนั้นบ้าง ของวัดนี้บ้าง  วัดตั้งใหม่ ถ้าแข็งแรง ชักเอาทายกมาได้มากก็ทำวัดเดิมร่วงโรย  ถ้าไม่แข็งแรงก็ร่วงโรยเอง  เว้นไว้แต่ตั้งขึ้นในตำบลที่ห่าง   ชาวบ้านไปมาไม่ถึงกัน หรือต้องไปทำบุญไกล  ฯ

       (๑๑) เดิมเจ้าวัดกับทายกผู้สร้างหรือปฏิสังขรณ์ เป็นผู้เข้าชื่อขอพระราชทาน  มาบัดนี้ (ศก ๒๔๕๗)  จัดให้เป็นหน้าที่ของเจ้าคณะมณฑลกับเจ้าคณะเมืองจะขอเองฯ

       (๑๒) เป็นธรรมเนียมที่ต้องรอกว่าจะเห็นว่า   สำนักสงฆ์นั้นตั้งติดและเป็นหลักฐานพอจึงขอ  ฯ

       (๑๓) ทรงตั้งเจ้าอาวาสแห่งอารามราษฎร์นั้น  พึงเห็นเช่นพระราชทานสัญญาบัตรตั้งให้เป็นพระครูเจ้าอาวาส  มีสมณศักดิ์ต่ำกว่าพระครูเจ้าอาวาสแห่งพระอารามหลวง  ภิกษุผู้ได้รับนั้นเป็นเจ้าอาวาสอยู่แล้วแทบทั้งนั้น ฯ

       (๑๔) ในรัชกาลที่  ๕  จัดคณะแขวงกรุงเทพ ฯ   แล้ว  เฉพาะแขวงดุสิต มาในรัชกาลปัตยุบัน ได้จัดทั่วทุกแขวง รวมเข้าในคณะกลาง  พระราชาคณะกำกับแขวงในพระราชบัญญัตินี้เป็นตัวเจ้าคณะแขวง    มีตำแหน่งเสมอเจ้าคณะเมือง  ถ้าไม่ได้อยู่ในตำแหน่งที่สูงกว่า ฯ

       (๑๕) เจ้าอาวาสเป็นพระอธิการ  รองแขวงที่เรียกอีกโวหารหนึ่งว่า  เจ้าคณะหมวดเป็นเจ้าอธิการ  ในบัดนี้พระอุปัชฌายะก็เป็นเจ้าอธิการเหมือนกัน ฯ

       (๑๖)  ไม่ใช่จะต้องสอนเอง   เป็นแต่ดูแลให้ได้เล่าเรียนด้วยประการใดประการหนึ่ง  ฯ

       (๑๗)  เช่นรับนิมนต์พระให้  ช่วยจัดที่ให้    ให้ยืมสิ่งของเครื่องใช้  ย่นลงว่า  ช่วยเป็นสหายในการบุญของเขา ฯ

       (๑๘)  ผู้เป็นใหญ่เหนือตนในลำดับ  กล่าวคือรองแขวง    ถ้าเจ้าคณะแขวงจัดทำเองส่งเจ้าคณะแขวงทีเดียวก็ได้ ฯ

       (๑๙) ในหนังสือสุทธินั้น   สำหรับพระภิกษุ มีข้อสำคัญจะพึงแสดง  คือ เป็นผู้มีสังวาสเสมอด้วยสงฆ์ในวัดที่ไปจาก กล่าวคือได้ร่วมอุโบสถ  ปวารณา สังฆกรรมอยู่ด้วยกัน นอกจากนี้บอกชื่อภิกษุ   ชื่อวัดที่ไปจาก  ชื่อวัดที่จะไปอยู่ หรือตำบลที่จะไป ธุระเป็นเหตุไป ยิ่งบอกให้รู้ว่าอุปสมบทที่ไหน ใครเป็นอุปัชฌายะ ใครเป็นกรรมวาจาจารย์ยิ่งดี สำหรับสามเณร  ไม่มีข้อว่าด้วยสังวาส  เป็นแต่บอกให้รู้ว่าเป็นสามเณรโดยปกติก็พอ ฯ

       (๒๐) เช่นถูกเรียกเข้ารับราชการ ต้องเสียเงินค่ารัชชูปการ ถูกเรียกเป็นพยานต้องไปเบิกความที่ศาล เป็นตัวอย่างไม่ได้รับยกเว้นดุจภิกษุ

       (๒๑)  คำว่า  เข้าไปบวช  หมายความว่า  เป็นคฤหัสถ์เข้าไปบวชแล้วอยู่ในวัดนั้น  ฯ  คำว่าไปอยู่ในวัดนั้น

หมายความว่า บวชในที่อื่น เป็นภิกษุหรือเป็นสามเณรเข้าไปอยู่เป็นเจ้าถิ่น ฯ แต่คำในพระราชบัญญัติว่ากว้าง   แม้จะขออาศัยสีมาวัดนั้นอุปสมบทแล้วจะพาไปอยู่ที่อื่น หรือภิกษุเป็นอาคันตุกะมา จะขออาศัยอยู่ชั่วกาล ก็อยู่ในฐานะจะต้องได้รับอนุญาตก่อนเหมือนกัน ฯ

       (๒๒) หมายเอาคำสั่งเนื่องด้วยการปกครอง ฯ

       (๒๓) ทัณฑกรรมนี้  หมายความว่า  ลงโทษใช้ให้ทำการ  เช่นใช้ให้ตักน้ำ ขนทรายกวาด  หรือกักตัวไว้  แต่ไม่ได้จำ  ไม่ได้ขัง เป็นตัวอย่าง ไม่ใช่ลงอาชญามีเฆี่ยนแลมัด  เป็นต้น

       (๒๔)  นี้เป็นธุระของฝ่ายอาณาจักร  หาใช่หน้าที่ของเจ้าอาวาสไม่  ฯ

       (๒๕)   ตำแหน่งรองเจ้าอาวาสนี้    ไม่จำเป็นจะตั้งทุกวัด ฯ

       (๒๖)  ในบัดนี้   (๒๔๕๗)    เรียกสมุหเทศาภิบาลฯ

       (๒๗)  มีธรรมเนียมว่า   ในชั้นต้น   เจ้าคณะมณฑลตั้งก่อน    ต่อทำการมานานโดยเรียบร้อย      หรือมีความชอบจึงพระราชทานสัญญาบัตรเป็นพระครูมีชื่อ ฯ

       (๒๘) วัดที่ขึ้นเฉพาะคณะนั้น เช่น วัดธรรมยุตกา ไม่ว่าอยู่ในกรุงหรือในหัวเมือง ขึ้นเฉพาะคณะธรรมยุตกนิกาย แม้วัดในกุรงเทพฯ  ที่ขึ้นก้าวก่าย ในคณะเหนือบ้าง  ในคณะใต้บ้าง  ในคณะกลางบ้าง  ในเวลานั้น  ก็นับเข้าในมาตรานี้ ฯ วัดที่ขึ้นเฉพาะพระราชาคณะนั้น เช่น โปรดให้พระราชาคณะรูปใดรูปหนึ่ง ผู้อยู่ต่างจังหวัด        เป็นผู้กำกับวัดใดวัดหนึ่งเฉพาะวัดหรือน้อยวัดไม่ถึงจัดเป็นหมวด ฯ

       (๒๙)  “การวัด”  เนื่องด้วยปกครองถิ่น   เช่น  รักษาความสะอาด  ดูแลปฏิสังขรณ์  ปกครองคน “การสงฆ์” เนื่องด้วยปกครองภิกษุสามเณร เช่น รับคนเข้าบวช ให้โอวาทสั่งสอนจัดภิกษุเป็นเจ้าหน้าที่ทำการสงฆ์    เป็นต้นว่า เป็นผู้แจกภัตตาหาร  หรือเป็นผู้จัดเสนาสนะ ฯ

       (๓๐)  ในกรุงเทพ ฯ  เรียกเจ้าคณะหมวด ฯ

       (๓๑)  นี้เป็นแต่กำหนดโดยประมาณ   ควรถือเอาย่านเป็นสำคัญ   เช่น ในย่านหนึ่งมีวัดเพียง ๓ หรือ  ๔  วัด  ก็ควรจัดเป็นหมวดได้ แต่เป็นหมวดที่ไม่เต็มจำนวน  เจ้าหมวดควรเป็นผู้รั้ง  ถ้ามีแต่ ๒  วัด  ควรให้วัดหนึ่งขึ้นอีกวัดหนึ่ง ถ้าในย่านเดียวกันมี  ๘ วัด จะแบ่งจัดหมวดหนึ่ง ๕  วัด  อีกหมวดหนึ่ง ๓ วัด ดังนี้ไม่ได้ต้องรวมเป็นหมวดเดียว ฯ

       (๓๒ )  คือเป็นตำแหน่งที่ทรงตั้ง ฯ

       (๓๓)   ในครั้งนั้น   เจ้าคณะมณฑลอยู่ในกรุงเทพฯ   แทบทั้งนั้น  พระราชบัญญัติจึงเรียงไปตามนั้น  ฯ

       (๓๔)   เมื่อทรงสถาปนาสมเด็จพระมหาสมณะขึ้นแล้ว   เปลี่ยนเป็นถวายสมเด็จพระมหาสมณะก่อน  แต่สมเด็จพระมหาสมณะทรงวินิจฉัยในมหาเถรสมาคมแล้ว   ก็เป็นเด็ดขาดเหมือนกันตามพระราชบัญญัตินี้ฯ

       (๓๕)  หมายความอย่างเดียวกับหมายเหตุที่  ๒๘  ฯ