ข้ออาณัติของคณะสงฆ์ เนื่องจากประกาศตั้งอุปัชฌาย์

ข้ออาณัติของคณะสงฆ์

เนื่องจากประกาศตั้งอุปัชฌาย์[1]

——————–

         สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส พระมหาสมณะ เสด็จประทับในมหาเถรสมาคม ทรงตั้งข้ออาณัติของคณะสงฆ์เนื่องจากประกาศตั้งอุปัชฌาย์ พุทธศักราช ๒๔๕๖ ดังต่อไปนี้

         ข้อ ๑ องค์สมบัติควรถือเป็นเกณฑ์สำหรับเลือกตั้งอุปัชฌาย์ในข้อ ๓ แห่งประกาศนั้น ให้กำหนดดังนี้

              ๑). มีความประพฤติดี

              ๒). เป็นที่นับถือของคนทั้งหลาย ทั้งบรรพชิต ทั้งคฤหัสถ์

              ๓). มีความรู้พอจะฝึกนิสิตให้เป็นพระที่ดีได้

              ๔). มีความรู้พอจะทำอุปสมบทกรรม ให้ถูกระเบียบตามที่ใช้กันอยู่

              ๕). องค์นี้กำหนดตามสมควรแก่ท้องถิ่นที่จะได้รับตั้งเป็นอุปัชฌาย์

              ๖). มีพรรษพ้น ๑๐ แล้ว

         เจ้าคณะผู้จะเลือกผู้จะตั้งภิกษุใดเป็นอุปัชฌาย์ จงสอดส่องให้รู้ว่า ภิกษุนั้นประกอบด้วยองค์สมบัติ ๕ ประการเหล่านี้บริบูรณ์ก่อน จึงเลือกจึงตั้ง

         ข้อ ๒ ให้ภิกษุผู้รับตั้งเป็นอุปัชฌาย์ ประพฤติตามกรณีที่กำหนดให้ไว้ ตามความข้อ ๑๖ แห่งประกาศนั้น ดังต่อไปนี้

              ๑). จะรับให้บรรพชาอุปสมบท จงสอบสวนให้ได้ลักษณะของกุลบุตรก่อน ถ้าได้จึงรับ ถ้าไม่ได้อย่ารับ ลักษณะของกุลบุตรนั้นดังนี้

                   ก. ถ้ามีบิดามารดา ให้ดูหลักฐานของบิดามารดา ว่าเป็นคนตั้งทำมาหากินโดยชอบ หรือมีถิ่นฐานมั่นคง ถ้าไม่มีผู้ใหญ่แล้ว หลักอันนี้ให้ตรวจดูในคนจะบวชนั้นเอง

                   ข. คนจะบวชนั้น เป็นคนดีไม่ใช่เป็นนักเลง ไม่มีความเสียหายในทางอื่น เช่นสูบฝิ่นเป็นต้น

                   ค. มีความรู้เป็นพื้นมา สำหรับว่า  เมื่อบวชแล้ว มีทางจะศึกษาได้ เช่น อ่านหนังสือออกเป็นต้น (นี้สำหรับตำบลมีคนอ่านหนังสือออกเป็นพื้นฐานแล้ว)           

              ๒). อย่าให้บรรพชาอุปสมบทแก่คนต้องห้าม ดังต่อไปนี้

                   ก. คนทำความผิดหลบหนีอาชญาแผ่นดินอยู่

                   ข. คนหลบหนีราชการ

                   ค. คนมีคดีค้างในศาล

                   ฆ. คนไม่มีใบอนุญาตในราชการ (นี้ในตำบลที่จัดแล้ว)

                   ง. คนเคยถูกอาชญาแผ่นดิน โดยฐานเป็นผู้ร้ายอุกฉกรรจ์ หรือคนมีเครื่องหมายบอกโทษ สักติดตัว

                   จ. คนถูกห้ามอุปสมบทเป็นเด็ดขาด ในทางพระศาสนาก็ดี ในทางราชการก็ดี

                   ฉ. คนมีโรคอันจะลามติดกันได้ เป็นต้นว่าโรคกุฏฐัง

                   ช. คนพิการเสียอวัยวะ จนจะปฏิบัติพระศาสนาไม่สะดวก

              ๓). คนนอกจากที่ระบุไว้ จงพิจารณาตามควร

              ๔). อย่าให้บรรพชาอุปสมบทนอกเขตที่ได้รับอนุญาต เว้นไว้แต่ได้อนุญาตเป็นพิเศษ แลอย่าให้บรรพชาอุปสมบท แก่คนจรมาจากเขตอื่น กว่าคนนั้นจะได้ตั้งถิ่นฐานเป็นคนในเขตนั้นแล้ว

              ๕). จะให้บรรพชาอุปสมบทในวัดอื่น ต้องได้รับนิมนต์ของเจ้าอาวาสนั้น อย่าให้ตามลำพัง หรือบวชที่สำนักตนแล้วปล่อยไป

              ๖). นิสิตจะลาไปอยู่วัดอื่น จงฝากและมอบอำนาจให้แก่เจ้าอาวาสที่จะไปขออยู่

              ๗). ให้อุปสมบทกุลบุตรแล้ว จงเอาธุระสั่งสอนสัทธิวิหาริกของตน ให้ตั้งในปฏิบัติชอบ แลขวนขวายให้ได้รับศึกษาพระธรรมวินัยตามกำลัง ถ้าสัทธิวิหาริกจะไปอยู่วัดอื่น ก็จะมอบธุระแก่เจ้าอาวาสนั้น ให้เป็นอาจารย์ผู้ดูแลสั่งสอนแทนตน

              กำหนดไว้ ณ วันที่ ๒๘ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๕๖

(ลงนาม) กรม-วชิรญาณวโรรส


[1]  จากแถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๑ พุทธศักราช ๒๔๕๖

Hits: 0