กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๐๖)

กฎมหาเถรสมาคม

ฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๐๖)(๑)

กำหนดอำนาจหน้าที่ตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์

พ.ศ. ๒๕๐๕

————————-

        อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๕ และมาตรา ๑๘ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕   มหาเถรสมาคมตรากฎมหาเถรสมาคมไว้   ดังต่อไปนี้

         ข้อ ๑ กฎมหาเถรสมาคมนี้ เรียกว่า “กฎมหาเถรสมาคมกำหนดอำนาจหน้าที่ตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕”

         ข้อ ๒ กฎมหาเถรสมาคมนี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในแถลงการณ์คณะสงฆ์เป็นต้นไป

         ข้อ ๓ บรรดาอำนาจหน้าที่ตามสังฆาณัติ กติกาสงฆ์ กฎองค์การ พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช ข้อบังคับ และระเบียบอันเกี่ยวกับคณะสงฆ์ที่ใช้บังคับอยู่ในวันประกาศพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ในราชกิจจานุเบกษา

              (๑) ในส่วนที่เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะสังฆมนตรี และของ ก.ส.พ. ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของมหาเถรสมาคม

              (๒) ในส่วนหนึ่งที่เป็นอำนาจหน้าที่ของสังฆนายกและของประธาน ก.ส.พ. ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของสมเด็จพระสังฆราช

              (๓) ในส่วนที่เป็นอำนาจหน้าที่ของสังฆมนตรีว่าการองค์การ และสังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การ ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของสมเด็จพระสังฆราช และหรือสมเด็จพระราชาคณะหรือพระราชาคณะผู้ได้รับมอบหมายจากสมเด็จพระสังฆราช โดยการเสนอของมหาเถรสมาคม

              (๔) ในส่วนที่เป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าคณะตรวจการให้เป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าคณะภาค

              (๕) ในส่วนที่เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสงฆ์จังหวัด ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าคณะจังหวัด  หรือผู้รักษาการในหน้าที่เจ้าคณะจังหวัด

              (๖) ในส่วนที่เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสงฆ์อำเภอ ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าคณะอำเภอ หรือผู้รักษาการในหน้าที่เจ้าคณะอำเภอ

              (๗) ในส่วนหนึ่งที่เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะวินัยธร

                   ก. อธิกรณ์ทุกชั้น ที่ค้างปฏิบัติก่อนวันใช้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕  ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของมหาเถรสมาคม

                   ข. นอกจากอธิกรณ์ที่ค้างปฏิบัติอยู่

              ๑. อธิกรณ์ชั้นฎีกา ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของมหาเถรสมาคม

              ๒. อธิกรณ์ชั้นอุทธณ์ ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะอนุกรรมการที่มหาเถรสมาคมจะได้ตั้งขึ้น

              ๓. อธิกรณ์ชั้นต้น ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าอาวาสวัดที่พระภิกษุผู้ถูกฟ้องสังกัดอยู่

              ถ้าผู้ถูกฟ้องเป็นเจ้าอาวาส หรือเจ้าคณะ ก็ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าคณะหรือผู้ปกครองคณะสงฆ์เหนือขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง

ตราไว้ ณ วันที่ ๒๙ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๖

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์

ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม


            (๑) ประกาศในแถลงการณ์คณะสงฆ์  เล่ม ๕๑  ภาค ๑  ตอนที่ ๓  วันที่  ๓๑  มกราคม  ๒๕๐๖