กฎมหาเถรสมาคม
ฉบับที่ ๓ แก้ไขเพิ่มเติม (พ.ศ. ๒๕๒๑)
ว่าด้วยจำนวนและเขตปกครองคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาค *
————————-
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๘ และมาตรา ๒๑ วรรค ๒ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ มหาเถรสมาคมตรากฎมหาเถรสมาคมไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ กฎมหาเถรสมาคมนี้ เรียกว่า “กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๓ แก้ไขเพิ่มเติม (พ.ศ. ๒๕๒๑) ว่าด้วยจำนวนและเขตปกครองคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาค”
ข้อ ๒ กฎมหาเถรสมาคมนี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในแถลงการณ์คณะสงฆ์ เป็นต้นไป
ข้อ ๓ ให้ยกเลิกความในวรรค ๓ วรรค ๒ แห่งกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๓ แก้ไขเพิ่ติม (พ.ศ. ๒๕๑๕) ว่าด้วยจำนวนและเขตปกครองคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาค และให้ใช้ความดังต่อไปนี้แทน
“ภาค ๑ มีจังหวัด ๕ จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี และจังหวัดสมุทรปราการ
ข้อ ๔ ให้ยกเลิกความในข้อ ๕ แห่งกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๓ (พ.ศ. ๒๕๐๖) ว่าด้วยจำนวนและเขตปกครองคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาค และให้ใช้ความดังต่อไปนี้ แทน
“ข้อ ๕ จำนวนและเขตปกครองคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาค ในชั้นจังหวัด ได้แก่กรุงเทพมหานครและจังหวัดนอกจากกรุงเทพมหานครก็ดี ชั้นอำเภอได้แก่เขตในกรุงเทพมหานครและอำเภอในจังหวัดนอกจากกรุงเทพมหานครก็ดี ชั้นตำบลในได้แก่แขวงในกรุงเทพมหานครและตำบลในจังหวัดนอกจากกรุงเทพมหานครก็ดี ให้อนุโลมตามจำนวนและเขตบริหารราชการแห่งราชอาณาจักร แต่ละชั้นแล้วแต่กรณี แต่ถ้ามีกรณีพิเศษจะกำหนดให้เป็นอย่างอื่น ย่อมทำได้โดยระเบียบมหาเถรสมาคม
ตราไว้ ณ วันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๑
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ
สมเด็จพระสังฆราช ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม
หมายเหตุ:-
เหตุผลในการประกาศใช้กฎมหาเถรสมาคมฉบับนี้ คือ เนื่องจากทางฝ่ายราชอาณาจักรได้ออกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๓๕ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ กำหนดเรียกนครหลวงของประเทศไทยว่า “กรุงเทพมหานคร” และกำหนดให้กรุงเทพมหานครเป็นจังหวัดตามนัยแห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๑๘ ลงวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๑๕ โดยมีเขตท้องที่ตามเขตนครหลวงกรุงเทพธนบุรี นอกจากนี้ ยังกำหนดให้แบ่งพื้นที่กรุงเทพมหานครออกเป็นเขต โดยถือเขตอำเภอเป็นหลัก และแบ่งพื้นที่เขตออกเป็น “แขวง” โดยถือเขตตำบลเป็นหลัก ตามความในพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๑๘
ฉะนั้น เพื่อกำหนดให้การปกครองนครหลวงกรุงเทพธนบุรีทางคณะสงฆ์
และการปกครองอำเภอและตำบลในนครหลวงกรุงเทพธนบุรี
ได้มีชื่อจำนวนและเขตปกครองแต่ละชั้นอนุโลมตามชื่อจำนวนและเขตบริหารราชการแห่งราชอาณาจักรดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น จึงสมควรตรากฎมหาเถรสมาคมฉบับนี้ขึ้น
* จากแถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๖๖ ตอนที่ ๕ : ๒๕ ธันวาคม ๒๕๒๑
Hits: 1