กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๐๖)

กฎมหาเถรสมาคม

ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๐๖) [1]

ว่าด้วยระเบียบการปกครองคณะสงฆ์

———————–

         อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๘ และมาตรา ๒๐ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕  มหาเถรสมาคมตรากฎมหาเถรสมาคมไว้ ดังต่อไปนี้

         ข้อ ๑ กฎมหาเถรสมาคมนี้ เรียกว่า “กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๐๖) ว่าด้วยระเบียบการปกครองคณะสงฆ์”

         ข้อ ๒ กฎมหาเถรสมาคมนี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในแถลงการณ์คณะสงฆ์ เป็นต้นไป

         ข้อ ๓ ตั้งแต่วันใช้กฎมหาเถรสมาคมนี้ ให้ยกเลิกบรรดา สังฆาณัติ กติกาสงฆ์ กฎองค์การ พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช ข้อบังคับและระเบียบเกี่ยวกับคณะสงฆ์ ที่บัญญัติไว้แล้วในกฎมหาเถรสมาคมนี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งกฎมหาเถรสมาคมนี้

หมวด ๑
บททั่วไป

         ข้อ ๔ การปกครองคณะสงฆ์ ทุกส่วนทุกชั้น ให้มีเจ้าคณะมหานิกายและเจ้าคณะธรรมยุต ปกครองบังคับบัญชาวัดและพระภิกษุสามเณรในนิกายนั้น

หมวด ๒
ระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ส่วนกลาง

         ข้อ ๕ วิธีดำเนินการเพื่อความเรียบร้อยดีงาม วิธีดำเนินการศาสนศึกษาและศึกษาสงเคราะห์ วิธีดำเนินการเผยแผ่พระพุทธศาสนา วิธีดำเนินการสาธารณูปการและสาธารณสงเคราะห์ อันเกี่ยวกับการคณะสงฆ์และการพระศาสนา ให้เป็นไปตามที่กำหนดในระเบียบมหาเถรสมาคม

         ข้อ ๖ เพื่อประโยชน์แก่การปกครองคณะสงฆ์ ตามข้อ ๔  และเพื่อแบ่งเบาภาระของมหาเถรสมาคม ให้มีเจ้าคณะใหญ่ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการคณะสงฆ์นิกายนั้น ๆ ในเขตปกครองคณะสงฆ์  ดังนี้

              (๑) เจ้าคณะใหญ่หนกลาง ปฏิบัติหน้าที่ในเขตปกครองคณะสงฆ์ ภาค ๑ ภาค ๒ ภาค ๓ ภาค ๑๓ ภาค ๑๔ และภาค ๑๕

              (๒) เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ ปฏิบัติหน้าที่ในเขตปกครองคณะสงฆ์ ภาค ๔ ภาค ๕  ภาค ๖  และภาค ๗

              (๓) เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก ปฏิบัติหน้าที่ในเขตปกครองคณะสงฆ์ ภาค ๘  ภาค ๙  ภาค ๑๐  ภาค ๑๑  และภาค ๑๒

              (๔) เจ้าคณะใหญ่หนใต้ ปฏิบัติหน้าที่ในเขตปกครองคณะสงฆ์ ภาค ๑๖ ภาค ๑๗  และภาค ๑๘

              (๕) เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต ปฏิบัติหน้าที่ในเขตปกครองคณะสงฆ์ธรรมยุตภาคทุกภาค

         สมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งเจ้าคณะใหญ่ และทรงมอบหมายอำนาจหน้าที่ให้ปฏิบัติ ตามมติของมหาเถรสมาคม

         ข้อ ๗ เจ้าคณะใหญ่พ้นจากตำแหน่ง เมื่อ

              (๑) มรณภาพ

              (๒) พ้นจากความเป็นพระภิกษุ

              (๓) ลาออก

              (๔) สมเด็จพระสังฆราชมีพระบัญชาให้ออก ตามมติของมหาเถรสมาคม

         ข้อ ๘ เพื่อประโยชน์แก่การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าคณะใหญ่ ให้มีเลขานุการเจ้าคณะใหญ่ ๒ รูป ทำหน้าที่การเลขานุการ

หมวด ๓
ระเบียบการปกครองคระสงฆ์ส่วนภูมิภาค

———

ส่วนที่ ๑
ภาค

         ข้อ ๙ เจ้าคณะภาคมีอำนาจหน้าที่ปกครองคณะสงฆ์ในเขตภาคของตน  ดังนี้

              (๑) ดำเนินการปกครองคณะสงฆ์ ให้เป็นไปตามพระธรรมวินัย กฎหมาย กฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับหรือระเบียบมหาเถรสมาคม คำสั่งมหาเถรสมาคม และพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช

              (๒) ควบคุมและส่งเสริมการรักษาความเรียบร้อยดีงาม การศาสนศึกษา การศึกษาสงเคราะห์ การเผยแผ่พระพุทธศาสนา การสาธารณูปการ และการสาธารณสงเคราะห์   ให้ดำเนินไปด้วยดี

              (๓) วินิจฉัยการลงนิคหกรรม วินิจฉัยข้ออุทธรณ์ คำสั่งหรือคำวินิจฉัยชั้นจังหวัด

              (๔) แก้ไขข้อขัดข้องของเจ้าคณะจังหวัดให้เป็นไปโดยชอบ

              (๕) ควบคุมบังคับบัญชาเจ้าคณะและเจ้าอาวาส ตลอดถึงพระภิกษุสามเณรผู้อยู่ในบังคับบัญชา หรืออยู่ในเขตปกครองของตนและตรวจตราชี้แจงแนะนำการปฏิบัติหน้าที่ของผู้อยู่ในบังคับบัญชา  ให้เป็นไปโดยความเรียบร้อย

         ข้อ ๑๐ ในเมื่อไม่มีเจ้าคณะภาค หรือเจ้าคณะภาคไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้เจ้าคณะใหญ่ปฏิบัติหน้าที่เจ้าคณะภาค หรือจะแต่งตั้งพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งที่เห็นสมควรให้รักษาการแทนเจ้าคณะภาคก็ได้ แล้วรายงานให้มหาเถรสมาคมทราย

         ในกรณีที่ไม่มีเจ้าคณะภาค เมื่อได้ปฏิบัติตามความในวรรคต้นแล้ว ให้เจ้าคณะใหญ่ดำเนินการเพื่อมีการแต่งตั้งเจ้าคณะภาคภายในเวลาไม่เกินหนึ่งปี

         ให้ผู้รักษาการแทนเจ้าคณะภาค  มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับเจ้าคณะภาค

         ข้อ ๑๑ รองเจ้าคณะภาคเป็นผู้ช่วยเจ้าคณะภาค มีอำนาจหน้าที่ตามที่เจ้าคณะภาคมอบหมาย

         ข้อ ๑๒ เพื่อประโยชน์แก่การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าคณะภาคและรองเจ้าคณะภาค ให้มีเลขานุกรเจ้าคณะภาค  และเลขานุการรองเจ้าคณะภาค  ทำหน้าที่การเลขานุการ

ส่วนที่ ๒
จังหวัด

         ข้อ ๑๓ เจ้าคณะจังหวัดมีอำนาจหน้าที่ปกครองคณะสงฆ์ ในเขตจังหวัดของตน ดังนี้

              (๑) ดำเนินการปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปตามพระธรรมวินัย กฎหมาย มหาเถรสมาคม ข้อบังคับหรือระเบียบมหาเถรสมาคม คำสั่งมหาเถรสมาคม พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช  และคำสั่งของผู้บังคับบัญชาเหนือตน

              (๒) ควบคุมและส่งเสริมการรักษาความเรียบร้อยดีงาม การศาสนศึกษา การศึกษาสงเคราะห์ การเผยแผ่พระพุทธศาสนา การสาธารณูปการ และการสาธารณสงเคราะห์   ให้ดำเนินไปด้วยดี

              (๓) ระงับอธิกรณ์ วินิจฉัยการลงนิคหกรรม วินิจฉัยข้ออุทธรณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยของเจ้าคณะอำเภอ

              (๔) แก้ไขข้อขัดข้องของเจ้าคณะอำเภอให้เป็นไปโดยชอบ

              (๕) ควบคุมบังคับบัญชาเจ้าคณะและเจ้าอาวาส ตลอดถึงพระภิกษุสามเณรผู้อยู่ในบังคับบัญชาหรืออยู่ในเขตปกครองของตน และตรวจตราชี้แจงแนะนำการปฏิบัติหน้าที่ของผู้อยู่ในบังคับบัญชา ให้เป็นไปโดยความเรียบร้อย

         ข้อ ๑๔ ในเมื่อไม่มีเจ้าคณะจังหวัด หรือเจ้าคณะจังหวัดไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้เจ้าคณะภาคแต่งตั้งรองเจ้าคณะจังหวัด รักษาการแทนเจ้าคณะจังหวัด ถ้าไม่มีรองเจ้าคณะจังหวัด หรือรองเจ้าคณะจังหวัดไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้แต่งตั้งพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งที่เห็นสมควรรักษาการแทนเจ้าคณะจังหวัด แล้วรายงานให้เจ้าคณะใหญ่ทราบ

         ในกรณีที่ไม่มีเจ้าคณะจังหวัด เมื่อได้ปฏิบัติตามวรรคต้นแล้ว ให้เจ้าคณะภาคดำเนินการเพื่อมีการแต่งตั้งเจ้าคณะจังหวัดภายในเวลาไม่เกินหนึ่งปี

         ให้ผู้รักษาการแทนเจ้าคระจังหวัด  มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับเจ้าคณะจังหวัด

         ข้อ ๑๕ รองเจ้าคณะจังหวัดเป็นผู้ช่วยเจ้าคณะจังหวัด มีอำนาจหน้าที่ตามที่เจ้าคณะจังหวัดมอบหมาย

         ข้อ ๑๖ เพื่อประโยชน์แก่การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าคณะจังหวัด ให้มีเลขานุการเจ้าคณะจังหวัด  ทำหน้าที่การเลขานุการ

ส่วนที่ ๓
อำเภอ

         ข้อ ๑๗ เจ้าคณะอำเภอมีอำนาจหน้าที่ปกครองคณะสงฆ์ในเขตอำเภอของตน ดังนี้

              (๑) ดำเนินการปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปตามพระธรรมวินัย กฎหมาย กฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับหรือระเบียบมหาเถรสมาคม คำสั่งมหาเถรสมาคม พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช  และคำสั่งของผู้บังคับบัญชาเหนือตน

              (๒) ควบคุมและส่งเสริมการรักษาความเรียบร้อยดีงาม การศาสนศึกษา การศึกษาสงเคราะห์ การเผยแผ่พระพุทธศาสนา การสาธารณูปการ และการสาธารณสงเคราะห์  ให้ดำเนินไปด้วยดี

              (๓) ระงับอธิกรณ์ วินิจฉัยการลงนิคหกรรม วินิจฉัยข้ออุทธรณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยชั้นเจ้าคณะตำบล

              (๔) แก้ไขข้อขัดข้องของเจ้าคณะตำบลให้เป็นไปโดยชอบ

              (๕) ควบคุมบังคับบัญชาเจ้าคณะและเจ้าอาวาส ตลอดถึงพระภิกษุสามเณรผู้อยู่ในบังคับบัญชาหรืออยู่ในเขตปกครองของตน และตรวจตราชี้แจงแนะนำการปฏิบัติหน้าที่ของผู้อยู่ในบังคับบัญชา  ให้เป็นไปโดยความเรียบร้อย

         ข้อ ๑๘ ในเมื่อไม่มีเจ้าคณะอำเภอ หรือเจ้าคณะอำเภอไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้เจ้าคณะจังหวัดแต่งตั้งรองเจ้าคณะอำเภอรักษาการแทนเจ้าคณะอำเภอ ถ้าไม่มีรองเจ้าคณะอำเภอ หรือรองเจ้าคณะอำเภอไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้แต่งตั้งพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งที่เห็นสมควรรักษาการแทนเจ้าคณะอำเภอ แล้วรายงานให้เจ้าคระภาคทราบ

         ในกรณีที่ไม่มีเจ้าคณะอำเภอ เมื่อได้ปฏิบัติตามวรรคต้นแล้ว ให้เจ้าคณะจังหวัดดำเนินการเพื่อมีการแต่งตั้งเจ้าคณะอำเภอภายในเวลาไม่เกินหนึ่งปี

         ให้ผู้รักษาการแทนเจ้าคณะอำเภอ  มีอำนาจเจ้าที่เช่นเดียวกับเจ้าคณะอำเภอ

         ข้อ ๑๙ รองเจ้าคณะอำเภอเป็นผู้ช่วยเจ้าคณะอำเภอ มีอำนาจหน้าที่ตามที่เจ้าคณะอำเภอมอบหมาย

         ข้อ ๒๐ เพื่อประโยชน์แก่การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าคณะอำเภอ  ให้มีเลขานุการเจ้าคณะอำเภอ   ทำหน้าที่การเลขานุการ

ส่วนที่ ๔
ตำบล

         ข้อ ๒๑ เจ้าคณะตำบลมีอำนาจหน้าที่ปกครองคณะสงฆ์ในเขตตำบลของตน ดังนี้

              (๑) ดำเนินการปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปตามพระธรรมวินัย กฎหมาย กฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับหรือระเบียบมหาเถรสมาคม คำสั่งมหาเถรสมาคม พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช และคำสั่งของผู้บังคับบัญชาเหนือตน

              (๒) ควบคุมและส่งเสริมการรักษาความเรียบร้อยดีงาม การศาสนศึกษา การศึกษาสงเคราะห์ การเผยแผ่พระพุทธศาสนา การสาธารณูปการ และการสาธารณสงเคราะห์   ให้ดำเนินไปด้วยดี

              (๓) ระงับอธิกรณ์ วินิจฉัยการลงนิคหกรรม วินิจฉัยข้ออุทธรณ์คำสั่ง หรือคำวินิจฉัยของเจ้าอาวาส

              (๔) แก้ไขข้อขัดข้องของเจ้าอาวาสให้เป็นไปโดยชอบ

              (๕)  ควบคุมบังคับบัญชาเจ้าอาวาสและพระภิกษุสามเณรผู้อยู่ในบัง0คับบัญชา หรืออยู่ในเขตปกครองของตน และตรวจตราชี้แจงแนะนำการปฏิบัติหน้าที่ของผู้อยู่ในบังคับบัญชา   ให้เป็นไปโดยความเรียบร้อย

         ข้อ ๒๒ ในเมื่อไม่มีเจ้าคณะตำบล หรือเจ้าคณะตำบลไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้เจ้าคณะอำเภอแต่งตั้งรองเจ้าคณะตำบลรักษาการแทนเจ้าคณะตำบล ถ้าไม่มีรองเจ้าคณะตำบล หรือรองเจ้าคณะตำบลไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้แต่งตั้งพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งที่เห็นสมควรรักษาการแทนเจ้าคณะตำบล   แล้วรายงานให้เจ้าคณะจังหวัดทราบ

         ในกรณีที่ไม่มีเจ้าคณะตำบล เมื่อได้ปฏิบัติตามวรรคต้นแล้ว ให้เจ้าคณะอำเภอดำเนินการเพื่อมีการแต่งตั้งเจ้าคณะตำบลภายในเวลาไม่เกินหนึ่งปี

         ให้ผู้รักษาการแทนเจ้าคณะตำบล   มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับเจ้าคณะตำบล

         ข้อ ๒๓ รองเจ้าคณะตำบลเป็นผู้ช่วยเจ้าคณะตำบล มีอำนาจหน้าที่ตามที่เจ้าคณะตำบลมอบหมาย

หมวด ๔
บทเบ็ดเตล็ด

         ข้อ ๒๔ เพื่อยกย่องเชิดชูเจ้าคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่มาโดยความเรียบร้อย หรือเพื่อช่วยการคณะสงฆ์เป็นครั้งคราว  เมื่อมหาเถรสมาคมเห็นสมควร  จะให้มีที่ปรึกษาของเจ้าคณะในส่วนภูมิภาคชั้นใด ๆ ก็ได้

ตราไว้  ณ  วันที่  ๑๘  พฤศจิกายน  พ.ศ. ๒๕๐๖

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ
สมเด็จพระสังฆราช  ประธานกรรมการมหาเถรสม

หมายเหตุ:-

         เหตุผลในการประกาศใช้กฎมหาเถรสมาคมฉบับนี้ คือ เนื่องจากการปกครองคณะสงฆ์ส่วนกลาง อันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของมหาเถรสมาคมตามมาตรา ๑๘ เป็นกิจการที่มีคุณภาพและปริมาณอย่างกว้างขวางมาก เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของมหาเถรสมาคมดังกล่าวได้ดำเนินไปโดยเรียบร้อย จึงสมควรวางระเบียบจัดสรรแบ่งกิจการในหน้าที่ออกเป็นส่วน ๆ เพื่อสะดวกแก่การดำเนินงานทั้งในส่วนกลางตลอดถึงส่วนภูมิภาคด้วย นอกจากนี้ สมควรจัดระเบียบให้มีเจ้าคณะใหญ่เป็นผู้ช่วยมหาเถรสมาคมอีกส่วนหนึ่ง เพื่อรับภาระปฏิบัติหน้าที่ในเขตปกครองคณะสงฆ์ ตามที่มหาเถรสมาคมจะได้แต่งตั้งและมอบห0มายหน้าที่ให้ปฏิบัติโดยควรแก่พฤติการณ์

         ส่วนการปกครองคณะสงฆ์ในส่วนภูมิภาค ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๑ และมาตรา ๒๒ นั้น ปรากฏว่า ยังมิได้บัญญัติอำนาจหน้าที่ของเจ้าคณะแต่ละชั้นไว้ จึงสมควรวางระเบียบกำหนดอำนาจหน้าที่ของเจ้าคณะแต่ละชั้น ให้มีการประสานงานกันโดยเรียบร้อย และกำหนดให้มีที่ปรึกษาของเจ้าคณะ กับให้มีเจ้าหน้าที่การเลขานุการของเจ้าคณะใหญ่ เจ้าคณะชั้นภาค ชั้นจังหวัด และชั้นอำเภอด้วย เพื่อความเหมาะสมแก่ปริมาณแห่งกิจการในหน้าที่ของเจ้าคณะชั้นนั้น ๆ


[1] ประกาศในแถลงการณ์คณะสงฆ์  เล่ม ๕๑  ภาค ๑๑  ตอนที่ ๑  วันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๐๖