กฎมหาเถรสมาคม
ฉบับที่ ๔ แก้ไขเพิ่มเติม (พ.ศ. ๒๕๑๕) [1]
ว่าด้วยระเบียบการปกครองคณะสงฆ์
———————
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๘ และมาตรา ๒๐ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ มหาเถรสมาคมตรากฎมหาเถรสมาคมไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ กฎมหาเถรสมาคมนี้ เรียกว่า “กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๔ แก้ไขเพิ่มเติม (พ.ศ. ๒๕๑๕) ว่าด้วยระเบียบการปกครองคณะสงฆ์”
ข้อ ๒ กฎมหาเถรสมาคมนี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในแถลงการณ์คณะสงฆ์ เป็นต้นไป
ข้อ ๓ ให้ยกเลิกความในข้อ ๑๓ แห่งกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๐๖) ว่าด้วยระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
ข้อ ๑๓ เจ้าคณะจังหวัด หมายถึงเจ้าคณะนครหลวงกรุงเทพธนบุรี และเจ้าคณะจังหวัด นอกจากนครหลวงกรุงเทพธนบุรี
รองเจ้าคณะจังหวัด หมายถึง รองเจ้าคณะนครหลวงกรุงเทพธนบุรี และรองเจ้าคณะจังหวัด นอกจากนครหลวงกรุงเทพธนบุรี
ในกรณีที่มีข้อความกล่าวถึงเจ้าคณะจังหวัด รองเจ้าคณะจังหวัดที่ปรากฎอยู่ในกฎมหาเถรสมาคมนี้ และกฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับมหาเถรสมาคม ระเบียบมหาเถรสมาคม คำสั่งมหาเถรสมาคมอื่น ๆ สำหรับจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรี ให้หมายถึงเจ้าคณะนครหลวงกรุงเทพธนบุรี และรองเจ้าคณะนครหลวงกรุงเทพธนบุรี
ข้อ ๑๓ ทวิ เจ้าคณะจังหวัด มีอำนาจหน้าที่ปกครองคณะสงฆ์ในเขตจังหวัดของตน ดังนี้
(๑) ดำเนินการปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปตามพระธรรมวินัย กฎหมาย กฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ หรือระเบียบมหาเถรสมาคม คำสั่งมหาเถรสมาคม พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช และคำสั่งของผู้บังคับบัญชาเหนือตน
(๒) ควบคุมและส่งเสริมการรักษาความเรียบร้อยดีงาม การศาสนศึกษา การศึกษาสงเคราะห์ การเผยแผ่พระพุทธศาสนา การสาธารณูปการ และการสาธารณสงเคราะห์ ให้ดำเนินไปด้วยดี
(๓) ระงับอธิกรณ์ วินิจฉัยการลงนิคหกรรม วินิจฉัยข้ออุทธรณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยชั้นเจ้าคณะอำเภอ
(๔) แก้ไขข้อขัดข้องของเจ้าคณะอำเภอ ให้เป็นไปโดยชอบ
(๕) ควบคุมบังคับบัญชาเจ้าคณะและเจ้าอาวาส ตลอดถึงพระภิกษุสามเณรผู้อยู่ในบังคับบัญชาหรืออยู่ในเขตปกครองของตน และตรวจตราชี้แจงแนะนำการปฏิบัติหน้าที่ของผู้อยู่ในบังคับบัญชา ให้เป็นไปโดยความเรียบร้อย”
ตราไว้ ณ วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๕
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์
ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช
ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม
หมายเหตุ:-
เหตุผลในการประกาศใช้กฎมหาเถรสมาคมฉบับนี้
คือ เนื่องจากได้ตรากฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๓ แก้ไขเพิ่มเติม (พ.ศ. ๒๕๑๕)
ว่าด้วยจำนวนและเขตปกครองคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาค ให้รวมจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรีเป็นหนึ่งจังหวัด
เรียกว่านครหลวงกรุงเทพธนบุรี เพื่อให้สอดคล้องกับประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๔
จึงสมควรกำหนดความหมายคำว่า “เจ้าคณะจังหวัด”
และ “รองเจ้าคณะจังหวัด”
ตามที่ตราไว้ในกฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ ๔ และกฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับมหาเถรสมาคม
ระเบียบมหาเถรสมาคม คำสั่งมหาเถรสมาคมอื่น
ๆ
[1] ประกาศในแถลงการณ์คณะสงฆ์ ฉบับพิเศษ เล่ม ๖๐ ตอนที่ ๓ วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๕
Hits: 2