สังฆาณัติกำหนดเขตภาค
พุทธศักราช ๒๔๘๕[1]
สมเด็จพระสังฆราช
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช
สกลมหาสังฆปริณายก
บัญญัติไว้ ณ วันที่ ๑๔ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๘๕
—————————–
โดยที่สังฆสภาลงมติว่า สมควรกำหนดเขตภาค เพื่อสะดวกแก่การบริหารการคณะสงฆ์ ตามความในมาตรา ๓๕ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔
จึงมีพระบัญชาให้บัญญัติสังฆาณัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำของสังฆสภา ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ สังฆาณัตินี้ให้เรียกว่า “สังฆาณัติกำหนดเขตภาค พุทธศักราช ๒๔๘๕”
มาตรา ๒ ให้ใช้สังฆาณัตินี้ตั้งแต่วันประกาศในแถลงการณ์คณะสงฆ์เป็นต้นไป
มาตรา ๓ ตั้งแต่วันใช้สังฆาณัตินี้ ให้ยกเลิกบรรดากฎ อาณัติคณะสงฆ์ ข้อบังคับและระเบียบอื่น ในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในสังฆาณัตินี้ หรือซึ่งแย้งกับบทบัญญัติแห่งสังฆาณัตินี้
มาตรา ๔ ให้รวมจังหวัดเป็นภาค ดังนี้
(๑) ภาคกลาง มีจังหวัดรวม ๒๐ จังหวัด คือ จังหวัดพระนคร จังหวัดธนบุรี จังหวัดนนทบุรี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดปทุมธานี จังหวัดลพบุรี จังหวัดสระบุรี จังหวัดสิงห์บุรี จังหวัดอ่างทอง จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดชัยนาท จังหวัดอุทัยธานี จังหวัดราชบุรี จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดสมุทรสงคราม จังหวัดนครปฐม จังหวัดสุพรรณบุรี และจังหวัดสมุทรสาคร
(๒) ภาคบูรพา มีจังหวัดรวม ๘ จังหวัด คือ จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดชลบุรี จังหวัดนครนายก จังหวัดจันทบุรี จังหวัดตราด และจังหวัดระยอง
(๓) ภาคอิสาณ มีจังหวัดรวม ๑๔ จังหวัด คือ จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดอุดรธานี จังหวัดขอนแก่น จังหวัดนครพนม จังหวัดเลย จังหวัดสกลนคร และจังหวัดหนองคาย
(๔) ภาคเหนือ มีจังหวัดรวม ๑๔ จังหวัด คือ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดเเม่ฮ่องสอน จังหวัดลำพูน จังหวัดลำปาง จังหวัดน่าน จังหวัดแพร่ จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดพิจิต จังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดสุโขทัย จังหวัดอุตตรดิตถ์ จังหวัดกำแพงเพชร และจังหวัดตาก
(๕) ภาคใต้ มีจังหวัดรวม ๑๔ จังหวัด คือ จังหวัดสงขลา จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดพัทลุง จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดชุมพร จังหวัดสตูล จังหวัดปัตตานี จังหวัดนราธิวาส จังหวัดยะลา จังหวัดภูเก็ต จังหวัดกระบี่ จังหวัดตรัง จังหวัดพังงา และจังหวัดระนอง
(๖) ภาคพิเศษ มีจังหวัดรวม ๔ จังหวัด คือ จังหวัดพระตะบอง จังหวัดพิบูลสงคราม จังหวัดนครจำปาศักดิ์ และจังหวัดลานช้าง
มาตรา ๕ ภาคหนึ่ง ๆ ให้มีเจ้าคณะตรวจการภาคหนึ่งรูป ถ้าจำเป็นจะให้มีเจ้าคณะตรวจการผู้ช่วยหนึ่งรูปหรือหลายรูปก็ได้
มาตรา ๖ เจ้าคณะตรวจการภาค มีอำนาจหน้าที่ตามที่ได้ระบุไว้ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔
มาตรา ๗ เจ้าคณะตรวจการภาค ให้ขึ้นตรงต่อสังฆนายก
มาตรา ๘ ให้สังฆนายกรักษาการตามสังฆาณัตินี้
ผู้รับสนองพระบัญชา
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์
สังฆนายก
[1] จากแถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๓๐ ภาคพิเศษ ฉบับที่ ๕ : ๑๖ พ.ย. ๒๔๘๕