สังฆาณัติระเบียบบริหารการคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาค พ.ศ. ๒๔๘๕

สังฆาณัติระเบียบบริหารการคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาค

พุทธศักราช  ๒๔๘๕ [1]

สมเด็จพระสังฆราช

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ  สมเด็จพระสังฆราช

สกลมหาสังฆปริณายก

บัญญัติไว้ ณ วันที่ ๑๔ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๘๕

——————————–

         โดยที่สังฆสภาลงมติว่า สมควรกำหนดระเบียบบริหารการคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาค  ตามความในมาตรา  ๓๔  แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์  พุทธศักราช  ๒๔๘๔

         จึงมีบัญชาให้บัญญัติสังฆาณัติขึ้นไว้  โดยคำแนะนำของสังฆสภา  ดังต่อไปนี้

ข้อความเบื้องต้น

         มาตรา  ๑  สังฆาณัตินี้ให้เรียกว่า  “สังฆาณัติระเบียบบริหารการคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาค  พุทธศักราช  ๒๔๘๕”

         มาตรา  ๒  ให้ใช้สังฆาณัตินี้ตั้งแต่วันประกาศในแถลงการณ์คณะสงฆ์เป็นต้นไป

         มาตรา ๓  ตั้งแต่วันใช้สังฆาณัตินี้  ให้ยกเลิกบรรดากฎ  อาณัติคณะสงฆ์  ข้อบังคับและระเบียบอื่น  ในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในสังฆาณัตินี้  หรือซึ่งแย้งกับบทบัญญัติแห่งสังฆาณัตินี้

         มาตรา  ๔  ให้สังฆมนตรีว่าการองค์การปกครองมีอำนาจออกกฎองค์การ  เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามสังฆาณัตินี้

         กฎองค์การนั้น  เมื่อประกาศในแถลงการณ์คณะสงฆ์แล้วให้ใช้บังคับได้

         มาตรา  ๕  ให้สังฆนายกรักษาการตามสังฆาณัตินี้

         มาตรา  ๖  ให้จัดระเบียบบริหารการคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาค  ดังนี้

              (๑) จังหวัด

              (๒) อำเภอ

              (๓) ตำบล

         มาตรา  ๗  เขตจังหวัดและเขตอำเภอ  ให้อนุโลมตามเขตจังหวัดและเขตอำเภอแห่งราชอาณาจักร  เเต่เมื่อจะกำหนดให้เป็นอย่างอื่น  ย่อมทำได้โดยบทกติกาสงฆ์

         ส่วนเขตตำบล  ให้กำหนดโดยกฎองค์การ

ลักษณะ ๑
จังหวัด

         มาตรา ๘ จังหวัดหนึ่งให้มีกรรมการคณะสงฆ์คณะหนึ่ง มีเจ้าคณะจังหวัดเป็นประธาน  ประกอบด้วยกรรมการผู้บริหารการคณะสงฆ์ประจำจังหวัด  ในหน้าที่ขององค์การนั้นๆ

         ให้มีเลขานุการคณะกรรมการสงฆ์จังหวัดหนึ่งรูป  ถ้าจำเป็นจะให้มีเลขานุการผู้ช่วยอีกรูปหนึ่ง  หรือหลายรูปก็ได้

         มาตรา ๙ คณะกรรมการสงฆ์จังหวัดมีหน้าที่บริหารการคณะสงฆ์ในจังหวัดนั้น ดังนี้

              (๑)  บริหารการคณะสงฆ์ตามสังฆาณัติ กติกาสงฆ์ กฎองค์การ กฎหมาย  ข้อบังคับ และระเบียบ

              (๒) บริหารการคณะสงฆ์ตามคำสั่งขององค์การต่างๆ

              (๓) บริหารการคณะสงฆ์ตามคำสั่งหรือคำแนะนำชี้แจงของเจ้าคณะตรวจการภาคในเมื่อไม่ขัดกับพระธรรมวินัย สังฆาณัติ กติกาสงฆ์ กฎองค์การ กฎหมาย ข้อบังคับ และระเบียบ

              (๔) ควบคุมดูแลการคณะสงฆ์อันเป็นอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการสงฆ์อำเภอ  เจ้าคณะตำบล  เเละเจ้าอาวาสในจังหวัดนั้นพึ่งปฏิบัติ

         ในการนี้มีอำนาจตรวจตราชี้แจงแสดงความเห็น  สั่งและแนะนำคณะกรรมการสงฆ์ อำเภอ เจ้าคณะอำเภอ เจ้าอาวาส และภิกษุสามเณรในจังหวัดนั้นให้ปฏิบัติ  เมื่อการนั้นไม่ขัดกับพระธรรมวินัย สังฆาณัติ กติกาสงฆ์ กฎองค์การ กฎหมาย ข้อบังคับ และระเบียบ คำสั่ง และคำวินิจฉัยขององค์การต่างๆ

         มาตรา ๑๐ ในกรณีที่เจ้าคณะจังหวัดไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ และมิได้มอบหมายให้กรรมการสงฆ์จังหวัดรูปใดรูปหนึ่งทำการแทนให้กรรมการสงฆ์จังหวัดเลือกกันเองขึ้นปฏิบัติการแทน

ลักษณะ ๒
อำเภอ

         มาตรา  ๑๑  อำเภอหนึ่งให้มีกรรมการสงฆ์คณะหนึ่ง   มีเจ้าคณะอำเภอเป็นประธาน  ประกอบด้วยกรรมการผู้บริหารการคณะสงฆ์ประจำอำเภอ  ในหน้าที่ขององค์การนั้นๆ

         ให้มีเลขานุการคณะกรรมการสงฆ์อำเภอหนึ่งรูป  ถ้าจำเป็นจะให้มีเลขานุการผู้ช่วยอีกรูปหนึ่ง  หรือหลายรูปก็ได้

         มาตรา  ๑๒  คณะกรรมการสงฆ์อำเภอมีหน้าที่บริหารการคณะสงฆ์ในอำเภอนั้น  ดังนี้

              (๑)  บริหารการคณะสงฆ์ตามสังฆาณัติ  กติกาสงฆ์  กฎองค์การ  กฎหมาย  ข้อบังคับ  และระเบียบ 

              (๒) บริหารการคณะสงฆ์ตามคำสั่งหรือคำแนะนำชี้แจงของคณะกรรมการสงฆ์จังหวัดหรือเจ้าคณะตรวจการภาคในเมื่อไม่ขัดกับพระธรรมวินัย  สังฆาณัติ  กติกาสงฆ์  กฎองค์การ  กฎหมาย  ข้อบังคับ  และระเบียบ

              (๓) ควบคุมดูแลการคณะสงฆ์อันเป็นอำนาจและหน้าที่ของเจ้าคณะตำบลและเจ้าอาวาสในอำเภอนั้นพึ่งปฏิบัติ

         ในการนี้มีอำนาจตรวจตราชี้แจงแสดงความเห็น  สั่งและแนะนำเจ้าคณะตำบล  เจ้าอาวาส และภิกษุสามเณรในอำเภอนั้นให้ปฏิบัติ เมื่อการนั้นไม่ขัดกับพระธรรมวินัย  สังฆาณัติ  กติกาสงฆ์  กฎองค์การ  กฎหมาย  ข้อบังคับ  และระเบียบ  คำสั่ง  และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการสงฆ์จังหวัด

         มาตรา  ๑๓  ในกรณีที่เจ้าคณะอำเภอไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้  และมิได้มอบหมายให้กรรมการสงฆ์อำเภอรูปใดรูปหนึ่งทำการแทนให้เจ้าคณะจังหวัดสั่งให้กรรมการสงฆ์อำเภอรูปใดรูปหนึ่งปฏิบัติการแทน

ลักษณะ ๓
ตำบล

         มาตรา  ๑๔  ตำบลหนึ่งให้มีเจ้าคณะตำบลรูปหนึ่ง  มีหน้าที่บริหารงานคณะสงฆ์ในตำบลนั้น  ดังนี้

              (๑) บริหารการคณะสงฆ์ตามสังฆาณัติ กติกาสงฆ์ กฎองค์การ กฎหมาย ข้อบังคับ และระเบียบ

              (๒) บริหารงานคณะสงฆ์ตามคำสั่งและคำแนะนำชี้แจงของคณะกรรมการสงฆ์อำเภอคณะกรรมการสงฆ์จังหวัดหรือเจ้าคณะตรวจการภาค  ในเมื่อไม่ขัดกับพระธรรมวินัย  สังฆาณัติ กติกาสงฆ์ กฎองค์การ กฎหมาย ข้อบังคับ และระเบียบ

              (๓) ควบคุมดูแลการคณะสงฆ์  อันเป็นอำนาจและหน้าที่ของเจ้าอาวาสในตำบลนั้นพึ่งปฏิบัติ

         ในการนี้มีอำนาจตรวจตราชี้แจงแสดงความเห็น  สั่งและแนะนำเจ้าอาวาสและภิกษุสามเณรในตำบลนั้นให้ปฏิบัติ  เมื่อการนั้นไม่ขัดกับพระธรรมวินัย  สังฆาณัติ  กติกาสงฆ์  กฎองค์การ  กฎหมาย  ข้อบังคับ  ระเบียบ  คำสั่ง  และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการสงฆ์อำเภอ

         มาตรา  ๑๕  ในกรณีที่เจ้าคณะตำบลไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้  ให้เจ้าคณะอำเภอรักษาการแทน  หรือจะมอบหมายให้กรรมการสงฆ์อำเภอหรือเจ้าอาวาสรูปใดรูปหนึ่งในเขตตำบลนั้นเป็นผู้รักษาการก็ได้  จนกว่าจะมีการแต่งตั้งใหม่

บทเบ็ดเตล็ด

         มาตรา ๑๖ กรรมการสงฆ์จังหวัดก็ดี กรรมการสงฆ์อำเภอก็ดี แบ่งการคณะสงฆ์ ดังนี้

              (๑) ส่วนกลาง มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับธุรการทั่วไปในเขตของตน เจ้าคณะจังหวัดหรือเจ้าคณะอำเภอเป็นผู้บังคับบัญชา

              (๒)  ส่วนเฉพาะ ซึ่งองค์การต่างๆจะได้ตั้งขึ้นในเขตนั้นๆ มีกรรมการสงฆ์ผู้บริหารในหน้าที่ขององค์การนั้นๆ เป็นผู้สั่งการโดยเฉพาะ

         มาตรา ๑๗ เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ เเละเจ้าคณะตำบล สังกัดองค์การปกครอง ต้องรับผิดชอบในการบริหารการคณะสงฆ์ในจังหวัด อำเภอ และตำบลที่ตนปกครอง

         ส่วนกรรมการสงฆ์ผู้ได้รับแต่งตั้งให้บริหารการคณะสงฆ์ในหน้าที่ขององค์การใดต้องรับผิดชอบในหน้าที่ของตนต่อองค์การนั้น

         กรรมการสงฆ์จังหวัด  หรือกรรมการสงฆ์อำเภอทุกรูป  ต้องรับผิดชอบร่วมกันในกิจการคณะสงฆ์ทั่วไปในจังหวัดหรือในอำเภอนั้น

ผู้รับสนองพระบัญชา

สมเด็จพระมหาวีรวงศ์

สังฆนายก


            [1]  ประกาศในแถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๓๐ ภาคพิเศษ ฉบับที่ ๔ : ๑๖ พ.ย. ๒๔๘๕