สังฆาณัติระเบียบพระคณาธิการ พ.ศ. ๒๔๘๖

สังฆาณัติระเบียบพระคณาธิการ

พุทธศักราช ๒๔๘๖ [1]

สมเด็จพระสังฆราช

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช

สกลมหาสังฆปริณายก

บัญญัติไว้ ณ วันที่ ๒๒ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๘๖

——————

         โดยที่สังฆสภาลงมติว่า สมควรวางระเบียบพระคณาธิการตามความในมาตรา ๓๗ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔

         จึงมีพระบัญชาให้บัญญัติสังฆาณัติไว้ โดยคำแนะนำของสังฆสภา ดังต่อไปนี้

         มาตรา ๑ สังฆาณัตินี้ให้เรียกว่า “สังฆาณัติระเบียบพระคณาธิการ พุทธศักราช ๒๔๘๖”

         มาตรา ๒ ให้ใช้สังฆาณัตินี้ ตั้งแต่วันประกาศในแ ถลงการณ์คณะสงฆ์เป็นต้นไป

         มาตรา ๓ ตั้งแต่วันใช้สังฆาณัตินี้ ให้ยกเลิกบรรดากฎ อาณัติคณะสงฆ์  ข้อบังคับและระเบียบอื่น ในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในสังฆาณัตินี้ หรือซึ่งแย้งกับบทบัญญัติแห่งสังฆาณัตินี้

         มาตรา ๔ ในสังฆาณัตินี้

              (๑) พระคณาธิการ หมายความว่า พระภิกษุผู้มีหน้าที่บริหารการคณะสงฆ์

              (๒) กรรมการสงฆ์ หมายถึงพระภิกษุผู้บริหารการคณะสงฆ์ประจำจังหวัดหรืออำเภอในหน้าที่ขององค์การนั้น ๆ

         มาตรา ๕ พระคณาธิการมี ๒ ประเภท

         (๑) พระคณาธิการส่วนกลาง มีตำแหน่งดังนี้

              (ก) สังฆมนตรี

              (ข) เลขานุการสังฆมนตรี

         (๒) พระคณาธิการส่วนภูมิภาค มีตำแหน่งดังนี้

              (ก) เจ้าคณะตรวจการ

              (ข) กรรมการสงฆ์จังหวัด

              (ฃ) เลขานุการคณะกรรมการสงฆ์จังหวัด

              (ค) กรรมการสงฆ์อำเภอ

              (ฅ) เลขานุการคณะกรรมการสงฆ์อำเภอ

              (ฆ) เจ้าคณะตำบล

              (ง) เจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส และผู้ช่วยเจ้าอาวาส

         ส่วนตำเเหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่น จะได้มีระเบียบกำหนดเทียบกับตำแหน่งที่กล่าวแล้ว

ลักษณะ ๑
คุณสมบัติทั่วไปของพระคณาธิการ

         มาตรา ๖ ภายใต้บังคับแห่งมาตรา ๗ และมาตรา ๘ แห่งสังฆาณัตินี้ พระภิกษุผู้จะดำรงตำเเหน่งพระคณาธิการชั้นใดๆ ก็ตาม ต้องมีคุณสมบัติดังนี้

         (๑) ต้องมีพรรษาสมควรแก่ตำแหน่ง

         (๒) มีความรู้สมควรแก่ตำแหน่ง

         (๓) มีความประพฤติเรียบร้อยตามพระวินัย

         (๔) เป็นผู้ฉลาดสามารถในการบริหารการคณะสงฆ์ ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔

         (๕) ไม่เป็นผู้มีร่างกายทุพพลภาพไร้ความสามารถ หรือมีจิจฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือเป็นโรคตามที่ระบุไว้ในมาตรา ๓๑ (๒) แห่งสังฆาณัตินี้

         (๖) ไม่เคยต้องคำวินิจฉัยลงโทษในอธิกรณ์ที่พึงรังเกียจมาก่อน

         (๗) ไม่เคยถูกให้ออกจากตำเเหน่งใดเพราะความผิดมาก่อน

ลักษณะ  ๒
พระคณาธิการส่วนกลาง

๑.  สังฆมนตรี

        มาตรา ๗ การแต่งตั้งสังฆมนตรีก็ดี การพ้นจากตำแหน่งสังฆมนตรีก็ดี ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔

๒. เลขานุการสังฆมนตรี

        มาตรา ๘ การแต่งตั้งเลขานุการสังฆมนตรี ให้สังฆมนตรีแต่ละรูปเลือกตั้งพระภิกษุตามแต่จะเห็นสมควร โดยได้รับอนุมัติจากคณะสังฆมนตรี มีกำหนดจำนวนดังนี้ สังฆนายกและสังฆมนตรีว่าการ มีเลขานุการตำแหน่งละสองรูป นอกจากนี้มีเลขานุการตำแหน่งละหนึ่งรูป

         มาตรา ๙ เลขานุการสังฆมนตรีออกจากตำแหน่ง เมื่อ

              (๑) ถึงมรณภาพ

              (๒) พ้นจากความเป็นพระภิกษุ

              (๓) ลาออก

              (๔) สังฆมนตรีเจ้าสังกัดให้ออกโดยอนุมัติของคณะสังฆมนตรี

              (๕) คณะสังฆมนตรีที่อนุมัติให้แต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ หรือสังฆมนตรีเจ้าสังกัดพ้นจากตำแหน่ง

ลักษณะ  ๓
พระคณาธิการส่วนภูมิภาค

๑. เจ้าคณะตรวจการ

         มาตรา ๑๐ พระภิกษุผู้จะดำรงตำแหน่งเจ้าคณะตรวจการต้องมีคุณสมบัติเฉพาะดังนี้

              (๑) มีพรรษาพ้น ๑๐ และ

              (๒) ดำรงตำแหน่งกรรมการสงฆ์จังหวัดมาแล้วไม่ต่ำกว่าสามปี หรือ

              (๓) เป็นสมาชิกสังฆสภา เป็นพระคณาจารย์เอก หรือเป็นเปรียญเอก

         มาตรา ๑๑ การแต่งตั้งเจ้าคณะตรวจการ ให้คณะสังฆมนตรีคัดเลือกพระภิกษุผู้ทรงคุณสมบัติตามมาตรา ๖ และมาตรา ๑๐ แห่งสังฆาณัตินี้ มีจำนวนตำแหน่งละสามรูป เสนอ ก.ส.พ. พิจารณาเลือก และให้ ก.ส.พ. รายงานไปยังสังฆนายก เพื่อนำกราบทูลสมเด็จพระสังฆราชทรงบัญชาแต่งตั้งต่อไป

         มาตรา ๑๒ ถ้าตำแหน่งเจ้าคณะตรวจการว่างลง และจะแต่งตั้งทันทีมิได้ ให้สังฆนายกสั่งเจ้าคณะตรวจการผู้ช่วยที่เห็นสมควร ให้รักษาการในหน้าที่เจ้าคณะตรวจการก่อน แล้วรีบดำเนินการตามมาตรา ๑๑

๒. กรรมการสงฆ์จังหวัด

         มาตรา ๑๓ พระภิกษุผู้จะดำรงตำแหน่งกรรมการสงฆ์จังหวัด ต้องมีคุณสมบัติเฉพาะดังนี้        

              (๑) มีพรรษาพ้น ๕ และ

              (๒) ดำรงตำแหน่งกรรมการสงฆ์อำเภอ หรือเลขานุการคณะกรรมการสงฆ์จังหวัดมาแล้วไม่ต่ำกว่าสามปี หรือ

              (๓) เป็นพระคณาจารย์โทขึ้นไป หรือเป็นเปรียญไม่ต่ำกว่า ๖ ประโยค

         ถ้าจะคัดเลือกพระภิกษุผู้ทรงคุณสมบัติดังกล่าวแล้วใน (๒) และ (๓) แห่งมาตรานี้ไม่ได้ ให้ ก.ส.พ. พิจารณาผ่อนผันเฉพาะกรณี

         มาตรา ๑๔ การแต่งตั้งกรรมการสงฆ์จังหวัดสังกัดภาคใด ให้เจ้าคณะตรวจการภาคนั้นพิจารณาคัดเลือกพระภิกษุผู้ทรงคุณสมบัติตามมาตรา ๖ และมาตรา ๑๓ แห่งสังฆาณัตินี้ มีจำนวนตำแหน่งละสามรูป เสนอ ก.ส.พ. พิจารณาเลือก แล้วให้ ก.ส.พ. รายงานไปยังสังฆมนตรีเจ้าสังกัด เพื่อแต่งตั้งต่อไป

         มาตรา ๑๕ ถ้าตำแหน่งกรรมการสงฆ์จังหวัดว่างลง และจะแต่งตั้งทันทีมิได้ ให้เจ้าคณะตรวจการเจ้าสังกัดสั่งกรรมการสงฆ์จังหวัดรูปใดรูปหนึ่งที่เห็นสมควร ให้รักษาการในหน้าที่กรรมการสงฆ์จังหวัดตำแหน่งนั้นก่อน แล้วรีบดำเนินการตามมาตรา ๑๔ แห่งสังฆาณัตินี้

๓. เลขานุการคณะกรรมการสงฆ์จังหวัด

         มาตรา ๑๖ พระภิกษุผู้จะดำรงตำแหน่งเลขานุการคณะกรรมการสงฆ์จังหวัด ต้องเป็นเปรียญ หรือเป็นนักธรรมไม่ต่ำกว่าชั้นโท และมีคุณสมบัติตามมาตรา ๖ แห่งสังฆาณัตินี้

         ในการแต่งตั้ง ให้คณะกรรมการสงฆ์จังหวัดนั้นๆ พิจารณาคัดเลือกแล้วรายงานไปยังเจ้าคณะตรวจการเจ้าสังกัด  เพื่อแต่งตั้งต่อไป

๔. กรรมการสงฆ์อำเภอ

         มาตรา ๑๗ พระภิกษุผู้จะดำรงตำแหน่งกรรมการสงฆ์อำเภอ ต้องมีคุณสมบัติเฉพาะดังนี้

              (๑) มีพรรษาพ้น ๕ และ

              (๒) เป็นพระคณาจารย์ หรือเป็นเปรียญไม่ต่ำกว่า ๔ ประโยค หรือ

              (๓) เป็นเปรียญ ๓ ประโยค หรือเป็นักธรรมไม่ต่ำกว่าชั้นโท และดำรงตำแหน่งเจ้าคณะตำบลหรือเป็นเลขานุการคณะกรรมการสงฆ์อำเภอมาเเล้วไม่ต่ำกว่าสองปี

         ถ้าจะคัดเลือกพระภิกษุผู้ทรงคุณสมบัติดังกล่าวแล้วใน (๒) และ (๓) แห่งมาตรานี้ไม่ได้ ให้ ก.ส.พ. พิจารณาผ่อนผันเฉพาะกรณี

         มาตรา ๑๘ การแต่งตั้งกรรมการสงฆ์อำเภอในจังหวัดใด ให้คณะกรรมการสงฆ์จังหวัดนั้นพิจารณาคัดเลือกพระภิกษุผู้ทรงคุณสมบัติตามมาตรา ๖ และมาตรา ๑๗ แห่งสังฆาณัตินี้ มีจำนวนตำแหน่งละสามรูป เสนอ ก.ส.พ. พิจารณาเลือก แล้วให้ ก.ส.พ. รายงานไปยังเจ้าคณะตรวจการเจ้าสังกัด เพื่อแต่งตั้งต่อไป

          มาตรา ๑๙ ถ้าตำแหน่งกรรมการสงฆ์อำเภอว่างลง และจะแต่งตั้งทันทีมิได้ ให้คณะกรรมการสงฆ์จังหวัดสั่งกรรมการสงฆ์อำเภอรูปใดรูปหนึ่งที่เห็นสมควร ให้รักษาการในหน้าที่กรรมการสงฆ์อำเภอตำแหน่งนั้นก่อน แล้วรีบดำเนินการตามมาตรา ๑๘ แห่งสังฆาณัตินี้

๕. เลขานุการคณะกรรมการสงฆ์อำเภอ

         มาตรา ๒๐ พระภิกษุผู้จะดำรงตำแหน่งเลขานุการคณะกรรมการสงฆ์อำเภอ ต้องเป็นเปรียญ หรือเป็นนักธรรมไม่ต่ำกว่าชั้นโท และมีคุณสมบัติตามมาตรา ๖ แห่งสังฆาณัตินี้

         ในการแต่งตั้ง ให้คณะกรรมการสงฆ์อำเภอนั้นๆ พิจารณาคัดเลือกแล้วรายงานไปยังเจ้าคณะจังหวัด เพื่อแต่งตั้งต่อไป

๖. เจ้าคณะตำบล

         มาตรา ๒๑ พระภิกษุผุ้จะดำรงตำแหน่งเจ้าคณะตำบล ต้องมีคุณสมบัติเฉพาะดังนี้

              (๑) มีพรรษาพ้น ๕ และ

              (๒) กำลังดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสในเขตตำบลนั้น และปรากฏว่าเป็นผู้ปฏิบัติบริบูรณ์ ในหน้าที่เจ้าอาวาส ตามมาตรา ๔๓ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔ หรือ

              (๓) เป็นพระคณาจารย์หรือเป็นเปรียญ หรือเป็นนักธรรมชั้นเอก

         มาตรา ๒๒ การแต่งตั้งเจ้าคณะตำบลในอำเภอใด ให้คณะกรรมการสงฆ์อำเภอนั้นพิจารณาคัดเลือกพระภิกษุผู้ทรงคุณสมบัติตามมาตรา ๖ และมาตรา ๒๑ แห่งสังฆาณัตินี้ เสนอคณะกรรมการสงฆ์จังหวัดพิจารณาสอบสวนแต่งตั้ง

         มาตรา ๒๓ ถ้าตำแหน่งเจ้าคณะตำบลว่างลง ให้ปฏิบัติตามมาตรา ๑๕ แห่งสังฆาณัติระเบียบบริหารการคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาค พุทธศักราช ๒๔๘๕ และให้รีบดำเนินการตามมาตรา ๒๒ แห่งสังฆาณัตินี้

๗. เจ้าอาวาส

         มาตรา ๒๔ พระภิกษุผู้จะดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส หรือผู้ช่วยเจ้าอาวาส ต้องมีคุณสมบัติเฉพาะดังนี้

              (๑) มีพรรษาพ้น ๕

              (๒) มีความรู้ความสามารถที่จะปฏิบัติหน้าที่เจ้าอาวาสให้บริบูรณ์ได้

              (๓) เป็นผู้ทรงเกียรติคุณเป็นที่เคารพนับถือของบรรพชิตและคฤหัสถ์ในถิ่นนั้น

         มาตรา ๒๕ การแต่งตั้งเจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส  หรือผู้ช่วยเจ้าอาวาสนอกจากพระอารามหลวง ให้คณะกรรมการสงฆ์อำเภอพิจารณาคัดเลือกพระภิกษุผู้ทรงคุณสมบัติตามมาตรา ๖ และมาตรา ๒๔ แห่งสังฆาณัตินี้ เสนอคณะกรรมการสงฆ์จังหวัดพิจารณาแต่งตั้ง

         ในการพิจารณาคัดเลือกนั้น ถ้าเป็นการสมควร จะประชุมสงฆ์และทายกทายิกา ผู้บำรุงวัด หรือกำนันผู้ใหญ่บ้านในท้องถิ่น เพื่อปรึกษาร่วมด้วยก็ได้

         มาตรา ๒๖ ถ้าตำแหน่งเจ้าอาวาสว่างลง และจะแต่งตั้งทันทีมิได้ ให้เจ้าคณะตำบลสั่งรองเจ้าอาวาส หรือผู้ช่วยเจ้าอาวาส หรือพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งที่เห็นสมควร ให้รักษาการในหน้าที่เจ้าอาวาสก่อน แล้วรีบดำเนินการตามมาตรา ๒๕ แห่งสังฆาณัตินี้

         มาตรา ๒๗ คณะสังฆมนตรีเป็นผู้ถวายคำแนะนำเพื่อมีพระบัญชาแต่งตั้งเจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส หรือผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง

         ถ้าตำแหน่งเจ้าอาวาสพระอารามหลวงว่างลง ให้เจ้าคณะจังหวัดสั่งรองเจ้าอาวาส หรือผู้ช่วยเจ้าอาวาส หรือพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งที่เห็นสมควร ให้รักษาการในหน้าที่เจ้าอาวาสก่อน แล้วให้รายงานไปยังสังฆมนตรีว่าการองค์การปกครองเพื่อดำเนินการต่อไปตามวรรคต้นแห่งมาตรานี้

๘. การพ้นตำแหน่งหน้าที่

         มาตรา ๒๘ พระคณาธิการย่อมพ้นจากตำแหน่งหน้าที่  เมื่อ

              (๑) ถึงมรณภาพ

              (๒) พ้นจากความเป็นพระภิกษุ

              (๓) ยกเป็นกิตติมศักดิ์

              (๔) ลาออก

              (๕) ให้เวนคืนตำแหน่งหน้าที่

              (๖) ให้ออก        

         มาตรา ๒๙ พระคณาธิการรูปใดดำรงตำแหน่งหน้าที่โดยเรียบร้อยตลอดมาจนถึงชราทุพพลภาพ หรือพิการ สมควรได้รับปลดเปลื้องภาระ เพื่อให้พักผ่อนหรือรักษาตัว ก็ให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งพิจารณายกเป็นกิตติมศักดิ์ได้

         มาตรา ๓๐ พระคณาธิการรูปใดประสงค์จะลาออกจากตำแหน่งหน้าที่ก็ย่อมทำได้ เมื่อผู้มีอำนาจแต่งตั้งได้สอบสวนพิจารณาอนุญาตแล้ว จึงเป็นอันพ้นจากตำแหน่งหน้าที่

         มาตรา ๓๑ การให้เวนคืนตำแหน่งหน้าที่ ให้ทำได้เพราะเหตุใดเหตุหนึ่ง ดังต่อไปนี้

              (๑) หย่อนความสามารถด้วยเหตุใด ๆ ในการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งของตน

              (๒) อาพาธด้วยโรคเรื้อน หรือวัณโรคในระยะอันตราย จนเป็นที่น่ารังเกียจ

         มาตรา ๓๒ การให้ออกจากตำแหน่งหน้าที่ ให้ทำได้โดยบทบัญญัติแห่งมาตรา ๔๖ และมาตรา ๔๗ แห่งสังฆาณัตินี้

         มาตรา ๓๓ เมื่อพระคณาธิการพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งดังกล่าวมาแล้ว ให้พระคณาธิการผู้บังคับบัญชารายงานให้ ก.ส.พ. ทราบ พร้อมกับรายงานโดยลำดับจนถึงผู้มีอำนาจแต่งตั้ง

ลักษณะ ๔
จริยาพระคณาธิการ

๑. จริยา

         มาตรา ๓๔ พระคณาธิการต้องเคารพเอื้อเฟื้อต่อพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ สังฆาณัติ กติกาสงฆ์ กฎองค์การ พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช กฎกระทรวง ข้อบังคับและระเบียบต่างๆของคณะสงฆ์ สังวรและปฏิบัติตามหลักพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัดเพื่อเป็นแบบอย่างอันดี และชัดจูงผู้น้อยในปกครองให้เคารพเอื้อเฟื้อสังวรและปฏิบัติด้วย

         มาตรา ๓๕ พระคณาธิการต้องเชื้อฟังและปฏิบัติตามคำสั่งของพระคณาธิการผู้บังคับบัญชา ซึ่งสั่งโดยชอบด้วยหน้าที่ ถ้าไม่เห็นพ้องด้วยคำสั่งนั้น จะเสนอความเห็นทัดทานเป็นลายลักษณ์อักษรก็ได้ แต่ต้องเสนอโดยด่วน และเมื่อได้ทัดทานดังกล่าวมานั้นแล้ว แต่ผู้สั่งมิได้สั่งถอนหรือแก้คำสั่งนั้น ถ้าคำสั่งนั้นไม่ผิดพระวินัย ต้องปฏิบัติตามและให้รายงานต่อไปเป็นลำดับ

         ในการปฏิบัติหน้าที่ ห้ามมิให้ทำการข้ามพระสังฆาธิการผู้บังคับบัญชาเหนือตน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตพิเศษชั่วครั้งชั่วคราว

         มาตราที่ ๓๖ พระสังฆาธิการต้องตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ ด้วยความระมัดระวังมิให้เสียหายแก่การคณะ

         มาตราที่ ๓๗ พระคณาธิการต้องปฏิบัติหน้าที่โดยชอบ และห้ามมิให้ใช้อำนาจหน้าที่ในทางที่ไม่สมควร

         มาตราที่ ๓๘ พระคณาธิการต้องเป็นผู้สุภาพเรียบร้อยต่อพระคณาธิการเหนือตนและผู้อยู่ในปกครอง

         มาตราที่ ๓๙ พระคณาธิการต้องรักษาและส่งเสริมสามัคคีในหมู่คณะ และช่วยเหลือกันและกัน

         มาตราที่ ๔๐ พระคณาธิการต้องอำนวยความสะดวกในหน้าที่การคณะ

         มาตราที่ ๔๑ พระคณาธิการต้องรักษาขัอความอันเกี่ยวกับการคณะที่ยังไม่ควรเปิดเผย

๒. การรักษาจริยา

        มาตรา ๔๒ ให้พระคณาธิการผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น ดูแลให้พระคณาธิการในบังคับบัญชาปฏิบัติตามจริยาพระคณาธิการโดยเคร่งครัด

         ถ้าพระคณาธิการผู้บังคับัญชารู้อยู่ว่า ผุ้อยู่ใต้บังคับบัญชาละเมิดจริยาพระคณาธิการต้องพิจารณาว่า ความละเมิดของพระคณาธิการรูปนั้นอยู่ในอำนาจที่ตนจะสั่งลงโทษได้หรือไม่ ถ้าอยู่ในอำนาจที่ตนจะสั่งลงโทษได้ ก็ให้สั่งลงโทษแล้วรายงานไปยังพระคณาธิการผู้บังคับบัญชาเหนือตน ถ้าเห็นว่าความละเมิดนั้นควรจะลงโทษหนักกว่าที่ตนจะมีอำนาจจะลงโทษได้ ก็ให้รายงานพระคณาธิการผู้บังคับบัญชาเหนือตนขึ้นไป เพื่อให้ลงโทษตามควร

         พระคณาธิการผู้บังคับบัญชารูปใด ไม่จัดการลงโทษผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาที่ละเมิดจริยาพระคณาธิการ หรือจัดการลงโทษโดยไม่สุจริต ให้ถือว่าพระคณาธิการผู้บังคับบัญชารูปนั้นละเมิดจริยาพระคณาธิการ

         มาตรา ๔๓ พระคณาธิการรูปใดถูกพระคณาธิการผู้บังคับบัญชาสั่งลงโทษฐานละเมิดจริยาพระคณาธิการ ต้องปฏิบัติตามทันที ถ้าเห็นว่าคำสั่งลงโทษไม่เป็นธรรม ก็มีสิทธิร้องทุกข์ได้ตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในระเบียบว่าด้วยการร้องทุกข์ แต่ถ้าปรากฏว่าเป็นการร้องทุกข์เท็จ ให้ถือว่าเป็นการละเมิดจริยาพระคณาธิการอย่างเเรง

         มาตรา ๔๔ การลงโทษพระคณาธิการ เพราะละเมิดจริยาพระคณาธิการทุกกรณีให้พระคณาธิการผู้บังคับบัญชาที่สั่งลงโทษให้รายงาน ก.ส.พ. ทราบ ให้ระบุความผิดและผลแห่งการสอบสวนให้ชัดแจ้ง

๓. โทษละเมิดจริยา

         มาตรา ๔๕ โทษละเมิดจริยา มีดังนี้

              (๑) ให้ออก

              (๒) ให้พักจากตำแหน่งหน้าที่

              (๓) ตำหนิโทษ

              (๔) ภาคทัณฑ์

         มาตรา ๔๖ การให้ออกนั้น จะทำได้ต่อเมื่อพระคณาธิการละเมิดจริยาพระคณาธิการอย่างแรงข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

              (๑) ทุจริตต่อหน้าที่

              (๒) ขัดคำสั่งอันชอบด้วยการคณะ และการขัดคำสั่งนั้น เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่การคณะอย่างแรง

             (๓)ประมาทเลินเล่อในหน้าที่ เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่การคณะอย่างร้ายแรง

              (๔) ประพฤติชั่วอย่างแรง

         ในกรณีเช่นนี้ ให้พระคณาธิการผู้บังคับบัญชาของพระคณาธิการรูปนั้น รายงานโดยลำดับจนถึงผู้มีอำนาจแต่งตั้ง เมื่อได้สอบสวนเเละได้ความสมจริงตามรายงานนั้นแล้วให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งสั่งให้ออก

         มาตรา ๔๗ พระคณาธิการรูปใดต้องอธิกรณ์ และอยู่ในระหว่างพิจารณาวินิจฉัยหรือมีกรณีต้องหาว่าละเมิดจริยาพระคณาธิการอย่างแรง และอยู่ในระหว่างสอบสวน ถ้าพระคณาธิการผู้บังคับบัญชาใกล้ชิดเห็นว่า จะให้พระคณาธิการรูปนั้นคงอยู่ในตำแหน่งหน้าที่ในระหว่างพิจารณาหรือสอบสวน จะเป็นการเสียหายแก่การคณะสงฆ์ จะสั่งให้พักจากตำแหน่งก็ได้ เมื่อได้สั่งพักแล้ว ให้รายงานโดยลำดับจนถึงพระคณาธิการผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจแต่งตั้งให้ทราบ แต่ตำแหน่งซึ่งแต่งตั้งโดยพระบัญชา ให้รายงานจนถึงสังฆนายก

         การให้พักจากตำแหน่งหน้าที่นั้น ให้พักตลอดเวลาที่พิจารณาหรือสอบสวน เมื่อพิจารณาหรือสอบสวนเสร็จเเล้ว ถ้าปรากฏว่า พระคณาธิการที่ถูกสั่งให้พักนั้น ไม่มีความผิดและไม่มีมลทินความผิดเลย พระคณาธิการผู้สั่งให้พัก ต้องสั่งให้พระคณาธิการรูปนั้นกลับดำรงตำแหน่งเดิม แต่ถ้าปรากฏว่า ถึงแม้การพิจารณาหรือสอบสวนจะไม่ได้ความสัจว่า ได้กระทำผิดแต่มีมลทินหรือมัวหมอง ให้พระคณาธิการผู้มีอำนาจแต่งตั่งพิจารณาดู ถ้าเห็นว่าจะให้กลับเข้ารับหน้าที่อีก อาจเสียหายแก่การคณะ ก็สั่งให้ออกได้หรือถ้าเห็นว่าพระคณาธิการรูปนั้นยังจะเป็นประโยชน์แก่การคณะ จะให้กลับเข้ารับตำแหน่งหน้าที่อื่นที่ไม่สูงกว่าตำแหน่งเดิมก็ได้

          มาตรา ๔๘ การตำหนิโทษนั้น จะทำได้ต่อเมื่อพระคณาธิการรูปใดรูปหนึ่ง ละเมิดจริยาซึ่งไม่ร้ายแรงถึงกับให้ออก และมีเหตุที่พระคณาธิการผู้บังคับบัญชาเห็นควรปราณีในกรณีเช่นนี้ ให้พระคณาธิการผู้บังคับบัญชาแสดงความผิดของพระคณาธิการรูปนั้นให้ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษร และจะให้ทำทัณฑ์บนไว้ด้วยก็ได้ การตำหนิโทษเช่นนี้ให้มีกำหนดไม่เกินสามปีนับแต่วันสั่งลงโทษ แต่เมื่อพระคณาธิการผู้บังคับบัญชาเห็นว่าพระคณาธิการรูปนั้นกลับปฏิบัติดีในทางการคณะพอควรแล้ว จะสั่งลบล้างการตำหนิโทษก่อนครบกำหนดก็ได้

         ทั้งนี้ ให้รายงานไปยังพระคณาธิการผู้บังคับบัญชาเหนือตน

         มาตรา ๔๙ ในกรณีดังกล่าวแล้วในมาตรา ๔๘ แห่งสังฆาณัตินี้ ถ้าพระคณาธิการผู้บังคับบัญชาเห็นว่า ยังไม่ควรลงโทษถึงตำหนิโทษ ควรลงโทษเพียงภาคทัณฑ์ ก็ให้มีอำนาจลงโทษภาคทัณฑ์ได้ โดยแสดงความผิดของพระคณาธิการรูปนั้นให้ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษร และจะให้ทำทัณฑ์บนไว้ด้วยก็ได้ แต่การลงโทษภาคทัณฑ์นี้ถ้าสั่งลงโทษแก่พระคณาธิการรูปใดภายในหนึ่งปีนับแต่วันสั่ง พระคณาธิการรูปนั้นละเมิดจริยาอีกให้ลงโทษสถานอื่นถัดขึ้นไป

        ทั้งนี้ ให้รายงานไปยังพระคณาธิการผู้บังคับบัญชาเหนือตน

        มาตรา ๕๐ ถ้ามีบทบัญญัติกำหนดโทษแห่งการละเมิดไว้ในสังฆาณัติใดโดยเฉพาะจะใช้ระเบียบการลงโทษตามสังฆาณัตินั้นหรือตามสังฆาณัตินี้ก็ได้ ตามควรแก่กรณี

ลักษณะ ๕
กรรมการสังฆาณัติระเบียบพระคณาธิการ

         มาตรา ๕๑ ให้มีกรรมการสังฆาณัติระเบียบพระคณาธิการคณะหนึ่งเรียกโดยย่อว่า “ก.ส.พ.” ประกอบด้วยสังฆนายกเป็นประธานและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในหลักบริหารการคณะสงฆ์เป็นจำนวนไม่น้อยกว่าห้ารูป ที่จะมีพระบัญชาแต่งตั้งตามมติคณะสังฆมนตรี แต่ถ้ามีการพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวกับองค์การใด ให้ผู้แทนองค์การนั้นเข้าร่วมประชุมด้วยและมีสิทธิอย่างกรรมการด้วยอีกรูปหนึ่ง

         กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิให้อยู่ในตำแหน่งได้คราวละสี่ปี เมื่อสิ้นกำหนดแล้ว จะมีพระบัญชาแต่งตั้งตามมติคณะสังฆมนตรีต่อไปอีกตามความในวรรคก่อนก็ได้ และก่อนถึงกำหนดจะมีพระบัญชาให้ออกตามมติสังฆมนตรีก็ได้

         มาตรา ๕๒ ให้ ก.ส.พ. เลือกกันเป็นเลขาธิการ ก.ส.พ. หนึ่งรูป และให้เลขาธิการ ก.ส.พ. เป็นผู้ประสานงานกับกองสังฆการี ซึ่งมีหน้าที่รักษาทะเบียนประวัติของคณะสงฆ์โดยควรแก่กรณี

         มาตรา ๕๓ ก.ส.พ. มีอำนาจตั้งอนุกรรมการเพื่อปฏิบัติการใดๆได้

         มาตรา ๕๔ การประชุมของ ก.ส.พ. หรืออนุกรรมการที่ ก.ส.พ. ตั้งขึ้น ต้องมีกรรมการหรืออนุกรรมการไม่น้อยกว่ากึ่งจำนวน จึงเป็นองค์ประชุมได้

ลักษณะ ๖
อำนาจรักษาการตามสังฆาณัติ

         มาตรา ๕๕ ให้สังฆนายก ประธาน ก.ส.พ. รักษาการตามสังฆาณัตินี้ และให้มีอำนาจกำหนดระเบียบเพื่อปฏิบัติการตามสังฆาณัตินี้

         ระเบียบนั้น เมื่อประกาศในแถลงการณ์คณะสงฆ์แล้วให้ใช้บังคับได้

ลักษณะ ๗
บทบัญญัติเฉพาะกาล

         มาตรา ๕๖ พระภิกษุผู้ดำรงตำแหน่งบริหารการคณะสงฆ์อยู่เดิมก่อนใช้สังฆาณัตินี้ ให้คณะสังฆมนตรีพิจารณาปรับปรุงและประกาศแต่งตั้งเป็นพระคณาธิการตามสังฆาณัตินี้ได้ เว้นแต่เจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส และผู้ช่วยเจ้าอาวาส ให้เป็นพระคณาธิการในตำแหน่งนั้นโดยมิต้องมีการแต่งตั้งใหม่

ผู้รับสนองพระบัญชา

สมเด็จพระมหาวีรวงศ์

สังฆนายก


            [1] ประกาศในแถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๓๑ ประจำเดือนกันยายน กับ เดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๖