สังฆาณัติระเบียบพระอุปัชฌายะ พ.ศ. ๒๔๘๗

สังฆาณัติระเบียบพระอุปัชฌายะ

พุทธศักราช ๒๔๘๗[1]

สมเด็จพระสังฆราช

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช

สกลมหาสังฆปริณายก

บัญญัติไว้ ณ วันที่ ๒๐ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๘๗

——————-

         โดยที่สังฆสภาลงมติว่า สมควรวางระเบียบพระอุปัชฌายะตามความในมาตรา ๓๗ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔

         จึงมีพระบัญชาให้บัญญัติสังฆาณัติไว้ โดยคำแนะนำของสังฆสภา ดังต่อไปนี้

ข้อความเบื้องต้น

         มาตรา ๑ สังฆาณัตินี้ให้เรียกว่า “สังฆาณัติระเบียบพระอุปัชฌายะ พุทธศักราช ๒๔๘๗”

         มาตรา ๒ ให้ใช้สังฆาณัตินี้ตั้งแต่งวันประกาศในแถลงการณ์คณะสงฆ์เป็นต้นไป

         มาตรา ๓ ตั้งแต่วันใช้สังฆาณัตินี้ ให้ยกเลิกบรรดากฎ อาณัติคณะสงฆ์ ข้อบังคับและระเบียบอื่น ในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในสังฆาณัตินี้ หรือซึ่งแย้งกับบทบัญญัติแห่งสังฆาณัตินี้

         มาตรา ๔ ในสังฆาณัตินี้ คำว่า “พระอุปัชฌายะ” หมายความว่า พระภิกษุผู้ได้รับแต่งตั้งให้มีตำแหน่งหน้าที่เป็นประธานให้บรรพาอุปสมบท ตามบทบัญญัติแห่งสังฆาณัตินี้

         มาตรา ๕ พระอุปัชฌายะมี ๒ ประเภท

         (๑) พระอุปัชฌายะสามัญ ได้แก่พระคณาธิการผู้ได้รับตราตั้งพระอุปัชฌายะจากสังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง

         (๒) พระอุปัชฌายะวิสามัญ ได้แก่พระคณาธิการผู้ได้รับตราตั้งพระอุปัชฌายะจากสมเด็จพระสังฆราช

         มาตรา ๖ พระภิกษุผู้ได้รับตราตั้งพระอุปัชฌายะ ประเภท สามัญหรือวิสามัญอยู่ก่อนใช้สังฆาณัตินี้ ให้คงเป็นพระอุปัชฌายะประเภทนั้นๆ ตามบทบัญญัติแห่งสังฆาณัตินี้

         มาตรา ๗ ผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌายะ เมื่อได้รับตราตั้งแล้ว จึงปฏิบัติหน้าที่ได้

         มาตรา ๘ โดยปรกติ ในเขตบริหารคณะสงฆ์ตำบลหนึ่งให้มีพระอุปัชฌายะเพียงหนึ่งรูป  เว้นแต่มีกรณีพิเศษ

การแต่งตั้งพระอุปัชฌายะ

         มาตรา ๙ การแต่งตั้งพระคณาธิการผู้ดำรงตำแหน่งต่ำกว่าเจ้าคณะจังหวัดเป็นพระอุปัชฌายะ ให้เป็นหน้าที่ของพระคณาธิการผู้บังคับบัญชาเหนือ พิจารณาเลือกพระคณาธิการในบังคับบัญชาของตน  ผู้ประกอบด้วยคุณสมบัติตามมาตรา ๑๒ แห่งสังฆาณัตินี้ แล้วรายงานรับรองเสนอขึ้นไปโดยลำดับจนถึงเจ้าคณะตรวจการ ให้เจ้าคณะตรวจการพิจารณาสอบสวน เมื่อเห็นเป็นการสมควรแล้ว ให้ดำเนินการฝึกซ้อมอบรมหรือสอบความรู้ แล้วให้รายงานรับรองเสนอสังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง เพื่อแต่งตั้งต่อไป

         มาตรา ๑๐ การแต่งตั้งพระคณาธิการผู้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดขึ้นไป หรือผู้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส หรือผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงเป็นพระอุปัชฌายะ ให้เป็นหน้าที่ของคณะสังฆมนตรีเป็นผู้พิจารณาเลือก  และรับรองคุณสมบัติตามมาตรา ๑๒ แห่งสังฆาณัตินี้ แล้วถวายคำแนะนำแด่สมเด็จพระสังฆราชเพื่อทรงแต่งตั้ง

         ส่วนพระคณาธิการอื่นจากที่ระบุไว้ในวรรคต้นแห่งมาตรานี้ หากเจ้าคณะผู้บังคับบัญชาพิจารณาเห็นสมควรจะให้เป็นพระอุปัชฌายะโดยยกย่องเป็นพิเศษ  เมื่อได้รับความรับรองตามความในมาตรา ๙ แห่งสังฆาณัตินี้แล้ว ให้เจ้าคณะเสนอขึ้นไปตามลำดับจนถึงคณะสังฆมนตรี เมื่อคณะสังฆมนตรีพิจารณาเห็นเป็นการสมควร จะถวายคำแนะนำเพื่อทรงแต่งตั้งก็ได้

         มาตรา ๑๑ ตราตั้งพระอุปัชฌายะ เมื่อผู้แต่งตั้งลงลายมือชื่อประทับตราแล้ว สมบูรณ์ตามสังฆาณัตินี้

คุณสมบัติของพระอุปัชฌายะ

         มาตรา ๑๒ พระคณาธิการผู้จะรับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌายะต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ ดังนี้

         (๑) มีตำแหน่งในทางปกครองชั้นรองเจ้าอาวาส   หรือผู้ช่วยเจ้าอาวาสขึ้นไป

         (๒) มีพรรษาพ้น ๑๐

         (๓) ไม่เป็นผู้มีร่างกายทุพพลภาพไร้ความสามารถ หรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรืออาพาธเป็นโรคติดต่อ เช่นโรคเรื้อน หรือวัณโรคในระยะอันตราย

         (๔) มีประวัติความประพฤติดี

         (๕) เป็นที่นับถือของประชาชน ทั้งบรรพชิต ทั้งคฤหัสถ์

         (๖) เป็นเปรียญหรือนักธรรมชั้นเอก เว้นแต่ในบางท้องถิ่นซึ่งเจ้าคณะพิจารณาเห็นสมควรผ่อนผัน

         (๗) สามารถฝึกสอนนิสิตให้เป็นพระภิกษุสามเณรที่ดีตามพระธรรมวินัย

         (๘) มีความรู้ความสามารถทำอุปสมบทกรรมให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัยและระเบียบของคณะสงฆ์

หน้าที่พระอุปัชฌายะ

        มาตรา ๑๓ พระอุปัชฌายะมีหน้าที่ให้บรรพชาอุปสมบทกุลบุตรได้เฉพาะตน จะตั้งหรือขอให้พระภิกษุอื่นซึ่งมิได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌายะทำหน้าที่แทนตนไม่ได้

         มาตรา ๑๔ พระอุปัชฌายะต้องสอบถามกุลบุตรให้ได้คุณลักษณะก่อน จึงจัดให้บรรพชาอุปสมบทได้ คุณลักษณะของกุลบุตรนั้นดังนี้

         (๑) เป็นคนมีหลักฐาน มีอาชีพชอบธรรม ไม่ใช้คนจรจัด ไม่มีหลักฐาน

         (๒) เป็นสุภาพชน มีความประพฤติดี ไม่เป็นนักเลงเตร็ดเตร่ ไม่มีความเสียหายในทางอื่น เช่นติดฝิ่นติดเหล้า เป็นต้น

         (๓) มีความรู้อ่านและเขียนหนังสือไทยได้ โดยมีประกาศนียบัตรหรือหนังสือรับรองซึ่งทางราชการออกให้เป็นคู่มือ

         (๔ เป็นผู้ปราศจากบรรพชาโทษ และมีร่างกายสมบูรณ์ อาจบำเพ็ญสมณะกิจได้ ไม่เป็นคนชราไร้ความสามารถหรือทุพพลภาพหรือพิกลพิการ

         (๕ มีสมณะบริขารครบถ้วนและถูกต้องตามพระวินัย

         (๖) เป็นผู้สามารถกล่าวคำบรรพชาอุปสมบทได้ด้วยตนเอง และถูกต้องไม่วิบัติ

         มาตรา ๑๕ พระอุปัชฌายะต้องงดเว้นการให้บรรพชาอุปสมบทเก่คนต้องห้ามเหล่านี้

              (๑) คนทำความผิดหลบหนีอาญาแผ่นดิน

              (๒) คนทำความผิดหลบหนีราชการ

              (๓) คนมีคดีค้างในศาล

              (๔) คนเคยถูกตัดสินจำคุกโดยฐานเป็นผู้ร้ายสำคัญ

              (๕) คนถูกห้ามอุปสมบทเด็ดขาดทางพระศาสนา

              (๖) คนมีโรคติดต่อ

              (๗) คนมีอวัยวะพิการจนไม่สามารถปฏิบัติกิจพระศาสนาได้สะดวก

         มาตรา ๑๖ พระอุปัชฌายะเมื่อให้บรรพชาอุปสมบทแก่กุลบุตรแล้ว ต้องเอาเป็นธุระสั่งสอนสัทธิวิหาริกของตนให้ตั้งอยู่ในปฏิบัติชอบ และต้องขวนขวายให้ได้รับการศึกษาพระธรรมวินัย

         ถ้าสัทธิวิหาริกจะไปอยู่ศึกษาในวัดอื่น พระอุปัชฌายะต้องฝากและมอบธุระแก่เจ้าอาวาสวัดนั้น ให้เป็นผู้ปกครองดูแลสั่งสอนแทนตน ห้ามปล่อยไปเฉย ๆ

         มาตรา ๑๗ พระอุปัชฌายะจะให้บรรพชาอุปสมบทในวัดใด ต้องไปรับนิมนต์ของเจ้าอาวาสวัดนั้น ห้ามเข้าไปทำในวัดของผู้อื่นโดยมิได้รับนิมนต์ของเจ้าอาวาส

         ถ้าสัทธิวิหาริกจะอยู่วัดนั้นหรือวัดอื่น พระอุปัชฌายะต้องปฏิบัติตามความในมาตรา ๑๖ แห่งสังฆาณัตินี้โดยอนุโลม

         มาตรา ๑๘ พระอุปัชฌายะต้องส่งบัญชีสัทธิวิหาริกของตนทั้งที่เป็นภิกษุและสามเณร

เขตพระอุปัชฌายะ

         มาตรา ๑๙ พระอุปัชฌายะจะให้บรรพชาอุปสมบทแก่กุลบุตรได้ ภายในเขตที่ระบุไว้ในตราตั้ง  หรือเขตที่ตนปกครองอยู่ในปัจจุบัน  คือ  ถ้าเป็น

              (๑) เจ้าอาวาส ภายในวัดของตน

              (๒) เจ้าคณะตำบล ภายในเขตตำบลของตน

              (๓) เจ้าคณะอำเภอ ภายในเขตอำเภอของตน

              (๔) เจ้าคณะจังหวัด ภายในเขตจังหวัดของตน

              (๕) เจ้าคณะตรวจการ ภายในเขตภาคของตน

         พระอุปัชฌายะผู้มีตำแหน่งสูงกว่าเจ้าคณะตรวจการ ไม่มีกำหนดเขต

         มาตรา ๒๐ ถ้าไม่มีคำสั่งเป็นอย่างอื่น พระอุปัชฌายะผู้เป็นกิตติมศักดิ์ในตำแหน่งปกครอง ให้บรรพชาอุปสมบทได้ในเขตอนุรูปแก่ตำแหน่งปกครองเดิมของตน ตลอดเวลาที่ตนสำนักอยู่ในวัดหรือในเขตที่ตนเคยปกครองนั้น เว้นแต่เป็นเจ้าคณะตรวจการกิตติมศักดิ์ แม้มิได้อยู่ในเขตที่ตนเคยปกครอง ก็ให้บรรพชาอุปสมบทในเขตนั้นได้

         มาตรา ๒๑ พระอุปัชฌายะผู้ลาออกหรือถูกให้ออกจากตำแหน่งในทางปกครองแล้วไม่ได้เป็นกิตติมศักดิ์ ถ้ารับตำแหน่งต่ำลงมา เช่นออกจากตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอ แต่ยังคงเป็นเจ้าอาวาส ให้เป็นอุปัชฌายะได้เฉพาะในวัดของตน แต่ถ้าเข้ารับตำแหน่งเดิมหรือเลื่อนตำแหน่งขึ้น ให้เป็นอุปัชฌายะได้ตามเขตเดิมหรือเขตที่ได้รับเลื่อนขึ้นนั้น

         มาตรา ๒๒ พระอุปัชฌายะจะให้บรรพชาอุปสมบทนอกเขตของตนได้ต่อเมื่อเจ้าของเขตขอร้องหรืออนุญาต หรือได้รับอนุมัติด้วยหนังสือจากเจ้าคณะตรวจการภาคนั้นๆในกรณีพิเศษเป็นครั้งคราว

การระงับหน้าที่พระอุปัชฌายะ

        มาตรา ๒๓ หน้าที่พระอุปัชฌายะย่อมระงับเองเพราะเหตุเหล่านี้ ข้อใดข้อหนึ่ง

              (๑) พ้นจากตำแหน่งหน้าที่ในทางปกครอง และมิได้เป็นกิตติมศักดิ์ในตำแหน่งนั้นๆ

              (๒) มีจักษุมืดทั้งสองข้าง หรือมีโสตติ่งไม่สามารถฟังอุปสมบทกรรมอันเป็นไปอยู่ได้ถนัด หรือมีเสียงแหบแห้ง หรือทุพพลภาพเพราะชรา หรืออาพาธไม่สามารถทำอุปสมบทกรรมให้สมบูรณ์ได้

              (๓) เป็นผู้ต้องหาในความผิด หรือเป็นจำเลยในอธิกรณ์ที่มีโทษถึงให้สึก และกำลังอยู่ในระหว่างสอบสวน  หรือไต่สวนพิจารณาวินิจฉัยยังไม่ถึงที่สุด

การพ้นจากตำแหน่งหน้าที่พระอุปัชฌายะ

        มาตรา ๒๔ พระอุปัชฌายะย่อมพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ เมื่อ

              (๑) ถึงมรณภาพ

              (๒) พ้นจากความเป็นพระภิกษุ

              (๓) ลาออกจากตำแหน่งพระอุปัชฌายะ

              (๔) ขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๑๒ แห่งสังฆาณัตินี้

              (๕) ให้พ้นจากตำแหน่งพระอุปัชฌายะ

         การพ้นตามความในวรรคต้น (๔) และ (๕) แห่งมาตรานี้ ย่อมมีได้โดยเจ้าคณะผู้บังคับบัญชาพิจารณาสอบสวนเห็นสมควรแล้ว และรายงานไปโดยลำดับจนถึงผู้มีอำนาจแต่งตั้งพิจารณาสั่ง

โทษละเมิดสังฆาณัติระเบียบพระอุปัชฌายะ

         มาตรา ๒๕ พระอุปัชฌายะรูปใด ทำการในตำแหน่งหน้าที่พระอุปัชฌายะ ละเมิดบทบัญญัติแห่งสังฆาณัตินี้ ย่อมมีโทษดังต่อไปนี้

              (๑) ให้ออกจากตำแหน่งพระอุปัชฌายะ

              (๒) ห้ามการให้บรรพชาอุปสมบทชั่วคราว ไม่เกิน ๒ ปี

              (๓) เรียกตัวมาอบรมชั่วคราว ไม่เกิน ๑ ปี

              (๔) ให้ย้ายจากถิ่นที่ตนทำเรื่องยุ่งยาก

              (๕) ลงทัณฑกรรมที่ไม่ผิดกฎหมาย

              (๖) ให้ทำทัณฑ์บนไว้

              (๗) ตำหนิโทษเป็นลายลักษณ์อักษร

         มาตรา ๒๖ ในกรณีที่พระอุปัชฌายะละเมิดข้อห้ามอย่างร้ายแรง หรือไม่เข็ดหลาบในความผิดที่เคยถูกลงโทษสถานอื่นๆมาแล้ว หากเห็นสมควรจะลงโทษตามความในมาตรา ๒๕ (๑) และ (๒) แห่งสังฆาณัตินี้ ก็ให้เจ้าคณะผู้บังคับบัญชารายงานไปโดยลำดับจนถึงผู้มีอำนาจแต่งตั้ง เมื่อได้สอบสวนเเละเห็นเป็นการสมควรแล้ว ให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งเป็นผู้สั่งลงโทษ แต่ในระหว่างที่ยังไม่มีคำสั่ง เจ้าคณะผู้บังคับบัญชาอาจสั่งระงับหน้าที่พระอุปัชฌายะก่อนได้

         ส่วนในกรณีที่ละเมิดความผิดเบาลงมา หรือโดยฐานปราณีเพื่อให้เข็ดหลาบ หากเห็นสมควรจะลงโทษตามมาตรา ๒๕ นั้น ในสถานอื่นจากที่กล่าวแล้วในวรรคต้นแห่งมาตรานี้ ก็ให้เจ้าคณะผู้บังคับบัญชามีอำนาจพิจารณาลงโทษสถานเดียวหรือหลายสถานโดยสมควรแก่ความผิดได้ทันที และเมื่อลงโทษสถานใดแล้ว ให้รายงานไปโดยลำดับ ถ้าเป็นพระอุปัชฌายะสามัญ รายงายจนถึงเจ้าคณะตรวจการ ถ้าเป็นพระอุปัชฌายะวิสามัญ รายงานจนถึงคณะสังฆมนตรี

         การลงโทษพระอุปัชฌายะผู้ไม่เข็ดหลาบในความผิดที่เคยถูกลงโทษมาเเล้ว ให้ลงในสถานที่หนักกว่าเดิมเสมอ

         มาตรา ๒๗ พระอุปัชฌายะผู้พ้นจากตำแหน่งแล้ว หรือที่มีหน้าที่พระอุปัชฌายะต้องระงับลง หรือที่ถูกห้าม หากฝ่าฝืนให้บรรพชาอุปสมบทแก่กุลบุตร ให้เจ้าคณะผู้บังคับบัญชาลงโทษสถานเดียวหรือหลายสถานโดยสมควรแก่ความผิด ดังต่อไปนี้

              (๑) ให้สึก

              (๒) ให้บัพพาชนียกรรม

              (๓) ลงทัณฑกรรมที่ไม่ผิดกฎหมาย

              (๔) ให้ทำทัณฑ์บนไว้

         เฉพาะโทษให้สึก จะลงได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากผู้มีอำนาจแต่งตั้ง

         เมื่อลงโทษสถานใดแล้ว  ให้รายงานไปโดยลำดับ  โดยปฏิบัติตามความในวรรค  ๒  แห่งมาตรา  ๒๖  แห่งสังฆาณัตินี้

         มาตรา  ๒๘  พระภิกษุผู้ไม่ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌายะ  บังอาจให้บรรพชาอุปสมบทแก่กุลบุตร  ต้องมีความผิด  ให้เจ้าคณะผู้บังคับบัญชาลงโทษสถานใดสถานหนึ่ง  ดังต่อไปนี้

              (๑) ให้สึก

              (๒) ให้บัพพาชนียกรรม

              (๓) ลงทัณฑ์กรรมที่ไม่ผิดกฎหมาย

บทเบ็ดเตล็ด

         มาตรา ๒๙ บุคคลผู้ได้รับบรรพชาอุปสมบทตามความในมาตรา ๒๗ และ ๒๘ แห่งสังฆาณัตินี้ ให้ถือว่าบรรพชาอุปสมบทโดยมิชอบ  ไม่มีสิทธิได้รับประโยชน์อันพระภิกษุสามเณรจะพึ่งได้

         มาตรา ๓๐ ในการแต่งตั้งพระอุปัชฌายะก็ตาม สั่งลงโทษพระอุปัชฌายะก็ตาม ผู้แต่งตั้งและผู้สั่งลงโทษต้องแจ้งให้ ก.ส.พ. ทราบ เพื่อควบคุมทะเบียนประวัติ

         มาตรา ๓๑ วิธีปฏิบัติในการเสนอขอแต่งตั้งพระอุปัชฌายะก็ดี ในการฝึกซ้อมอบรม หรือสอบความรู้พระอุปัชฌายะก็ดี ในการส่งบัญชีสัทธิวิหาริกก็ดี ให้กำหนดด้วยกฎองค์การ

         มาตรา ๓๒ ให้สังฆมนตรีว่าการองค์การปกครองรักษาการตามสังฆาณัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎองค์การเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามสังฆาณัตินี้

         กฎองค์การนั้น เมื่อประกาศในแถลงการณ์คณะสงฆ์แล้วให้ใช้บังคับได้

ผู้รับสนองพระบัญชา

พระเทพเวที

สังฆมนตรีว่าการองค์การเผยแผ่

รักษาการแทนสังฆนายก


            [1] ประกาศในแถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๓๒ เดือนพฤศจิกายน กับ เดือนธันวาคม ๒๔๘๗ หน้า ๓๒๑

Views: 8