ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา พ.ศ. ๒๕๑๔

ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ

ว่าด้วยโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา

พ.ศ. ๒๕๑๔[1]

——————-

        ด้วยกระทรวงศึกษาธิการ พิจารณาเห็นสมควรวางระเบียบว่าด้วยโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา เพื่อเป็นหลักปฏิบัติสืบไป จึงวางระเบียบไว้ดังต่อไปนี้

        ข้อ ๑ ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา พ.ศ. ๒๕๑๔”

        ข้อ ๒ ตั้งแต่วันที่ใช้ระเบียบนี้ ให้ยกเลิกบรรดาระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งอื่นใดของกระทรวงศึกษาธิการ ในส่วนที่ระเบียบนี้กำหนดไว้แล้ว หรือที่ขัดแย้งกับระเบียบนี้

        ข้อ ๓ “โรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา” หมายถึง โรงเรียนที่จัดตั้งขึ้นในที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ หรือที่ดินของมูลนิธิทางพระพุทธศาสนา เพื่อให้การศึกษาแก่พระภิกษุและสามเณร ตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการสำหรับโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา

        ข้อ ๔ โรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา จะจัดตั้งได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากระทรวงศึกษาธิการ และเห็นด้วยความเห็นชอบของคณะสงฆ์

        ในการขออนุญาตจัดตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ให้เจ้าสำนักเรียนวัด ที่มีการศึกษาพระปริยัติธรรม หรือสถาบันการศึกษาของคณะสงฆ์ เสนอรายงานการจัดตั้งตามแบบที่กรมการศาสนากำหนดไว้ ไปยังกรมการศาสนา เพื่อนำเสนอขอความเห็นชอบจากประธานสภาการศึกษาของคณะสงฆ์ และนำเสนอขอรับอนุญาตจากกระทรวงศึกษาธิการ

        ข้อ ๕ ให้เจ้าสำนักเรียนหรือพระภิกษุที่สถาบันการศึกษาของคณะสงฆ์มอบหมายเป็นผู้จัดการโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา

        ข้อ ๖ โรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ก่อนที่จะขออนุญาตจัดตั้งให้

             ๖.๑ ห้องเรียน ต้องมีเท่าจำนวนห้องเรียนที่เปิดทำการสอน

             ๖.๒ จำนวนนักเรียน ต้องมีพระภิกษุสามเณร ที่พร้อมจะเข้าเรียนได้ไม่ต่ำกว่า ๒๐ รูป

             ๖.๓ จำนวนครู ต้องมีอย่างน้อยให้พอกับจำนวนห้องเรียน

        ข้อ ๗ ครูใหญ่ ต้องเป็นพระภิกษุมีวุฒิทางพระปริยัติธรรมไม่ต่ำกว่าชั้นเปรียญธรรม ๔ ประโยค มีพรรษาพ้น ๕ ไปแล้ว และต้องประจำอยู่ที่โรงเรียนตลอดเวลาที่โรงเรียนเปิดทำการสอน เว้นแต่มีเหตุจำเป็นอันสมควร

        ข้อ ๘ ครู จะเป็นพระภิกษุสามเณรหรือคฤหัสถ์ก็ได้ สำหรับคฤหัสถ์ต้องเป็นเพศชาย อายุไม่ต่ำกว่า ๒๐ ปีบริบูรณ์ และได้รับใบแต่งตั้งเป็นผู้สอนจากกรมการศาสนา

             ๘.๑ ครูสอนวิชาพระปริยัติธรรม หมวดภาษาบาลี สำหรับชั้นประถมศึกษาตอนปลาย จะต้องมีวุฒิเปรียญธรรม ๓ ประโยคขึ้นไป สำหรับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย จะต้องมีวุฒิเปรียญธรรม ๔ ประโยคขึ้นไป

             ๘.๒ ครูสอนวิชาพระปริยัติธรรม หมวดธรรมวินัย และศาสนปฏิบัติ สำหรับชั้นประถมศึกษาตอนปลายและมัธยมศึกษาตอนต้น จะต้องมีวุฒิไม่ต่ำกว่านักธรรมชั้นโท สำหรับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย จะต้องมีวุฒิไม่ต่ำกว่านักธรรมชั้นเอก

             ๘.๓ ครูสอนวิชาสามัญศึกษา สำหรับชั้นประถมศึกษาตอนปลาย จะต้องมีวุฒิอย่างต่ำสอบไล่ได้ชั้นประโยคมัธยมศึกษาตอนต้น หรือเป็นผู้มีวิทยฐานะซึ่งกระทรวงศึกษาธิการรับรองว่าเทียบได้ไม่ต่ำกว่านั้น ทั้งในสองกรณีจะต้องมีประสบการณ์ในการสอนมาไม่น้อยกว่า ๒ ปี หรือได้รับประกาศนียบัตรครู สำหรับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น จะต้องได้รับประกาศนียบัตรครู ป.กศ. หรือเทียบเท่าขึ้นไป และสำหรับมัธยมศึกษาตอนปลาย จะต้องได้รับประกาศนียบัตร ป.กศ.สูง หรือเทียบเท่าขึ้นไป

        ข้อ ๙ พระภิกษุสามเณร ที่จะเข้าเรียนในโรงเรียนประเภทนี้ ต้องได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าอาวาสวัดของตนเสียก่อน

        ข้อ ๑๐ โรงเรียนต้องสอนตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ สำหรับโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา และการปิดเปิดภาคเรียน ให้เป็นไปตามกำหนดวันปิดเปิดภาคเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ

        ข้อ ๑๑ ผู้จัดการโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ต้องทำรายงานการศึกษาที่ผ่านมาตามแบบของกรมการศาสนา ส่งไปยังกรมการศาสนาภายในวันที่ ๓๐ เมษายน เพื่อนำเสนอสภาการศึกษาของคณะสงฆ์ต่อไป

        ข้อ ๑๒ ให้โรงเรียนจัดตั้งเงินทุนของโรงเรียนขึ้น หรือจะจัดตั้งมูลนิธิเป็นองค์การจัดการบำรุง และส่งเสริมการศึกษาก็ได้ และให้ทำบัญชีไว้เป็นหลักฐาน

        ข้อ ๑๓ พระภิกษุและสามเณรที่ทำงานให้แก่โรงเรียน ย่อมไม่มีเงินเดือน แต่โรงเรียนอาจถวายนิตยภัตและค่าใช้จ่ายแก่พระภิกษุและสามเณรเหล่านั้น ได้เท่าที่จำเป็นและสมควร

        ข้อ ๑๔ ให้ผู้แทนที่กระทรวงศึกษาธิการแต่งตั้งจากกรมการศาสนา กรมสามัญศึกษา กรมวิสามัญศึกษา หรือสำนักงานปลัดกระทรวง เข้าไปตรวจสอบการดำเนินงานของโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ตลอดจนหลักฐาน เอกสารต่าง ๆ ทุกประเภทได้ในเวลาเปิดทำการสอน ถ้าปรากฎความบกพร่องถึงขนาด ให้กรมการศาสนาด้วยความเห็นชอบของประธานสภาการศึกษาของคณะสงฆ์ มีอำนาจสั่งปิดโรงเรียนได้

        ข้อ ๑๕ ให้กรมการศาสนาส่งเสริมและสงเคราะห์ด้วยทุน และอุปกรณ์แก่การศึกษาส่วนนี้ตามสมควร และให้หน่วยศึกษานิเทศก์ กรมการสามัญศึกษา กรมวิสามัญศึกษา ให้ความช่วยเหลือทางด้านวิชาการ เมื่อได้รับคำร้องขอ

        ข้อ ๑๖ ภายในกำหนด ๒ ปี นับตั้งแต่วันที่ใช้ระเบียบนี้ ผ่อนผันให้พระภิกษุและสามเณรที่ได้เคยศึกษาอยู่แล้ว ในโรงเรียนของสถาบันการศึกษาของคณะสงฆ์ เข้าเรียนในชั้นที่สูงกว่าชั้นต้นของตัวประโยคได้ เท่าที่ได้เคยผ่านการศึกษามาแล้ว

        ข้อ ๑๗ ให้อธิบดีกรมการศาสนา เป็นผู้รักษาการให้เป็นไปตามระเบียบนี้

        ข้อ ๑๘ ให้ใช้ระเบียบนี้ตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๑๔ เป็นต้นไป

       วันที่  ๒๐  กรกฎาคม  พ.ศ. ๒๕๑๔

นายสุกิจ  นิมมานเหมินท์

(นายสุกิจ  นิมมานเหมินท์)

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ


            [1] จากแถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่มที่ ๕๙  ฉบับพิเศษ วันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๑๔