ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ
ว่าด้วยโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา
พ.ศ. ๒๕๓๕*
——————
โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น
ฉะนั้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๕ แห่งพระราชบัญญัติปับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๓๔ กระทรวงศึกษาธิการจึงวางระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา พ.ศ. ๒๕๓๕”
ข้อ ๒ ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ให้ยกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา พ.ศ. ๒๕๑๔”
บรรดาระเบียบ ข้อบังคับ และคำสั่งอื่นใดในส่วนที่กำหนดไว้แล้วในระเบียบนี้หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้ ให้ใช้ระเบียบนี้แทน
ข้อ ๔ ในระเบียบนี้
“โรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา” หมายถึง โรงเรียนที่วัดจัดตั้งขึ้นในวัดหรอที่ธรณีสงฆ์หรือที่ดินของมูลนิธิทางพระพุทธศาสนา เพื่อให้การศึกษาแก่ภิกษุสามเณร ตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ สำหรับโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา
“ผู้รับใบอนุญาต” หมายถึง วัดที่ขอจัดตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา
“วัด” หมายถึง วัดในพระพุทธศาสนา
“ผู้จัดการ” หมายถึง เจ้าอาวาสวัดที่รับใบอนุญาตจัดตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา หรือพระภิกษุที่เจ้าอาวาสมอบหมายเป็นลายลักษณ์อักษร
“ครูใหญ่” หมายถึง พระภิกษุทำหน้าที่หัวหน้าสถานศึกษาที่มีจำนวนนักเรียนไม่ถึง ๒๐๐ รูป
“อาจารย์ใหญ่” หมายถึง พระภิกษุทำหน้าที่สถานศึกษาที่มีจำนวนนักเรียนตั้งแต่ ๒๐๐ รูป แต่ไม่ถึง ๕๐๐ รูป
“ผู้อำนวยการ” พระภิกษุทำหน้าที่หัวหน้าสถานศึกษาที่มีจำนวนนักเรียนตั้งแต่ ๕๐๐ รูปขึ้นไป
“ครู, อาจารย์” หมายถึง ผู้ทำหน้าที่สอนประจำอยู่ในโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา
“นักเรียน” หมายถึง พระภิกษุหรือสามเณรที่กำลังศึกษาเล่าเรียนอยู่ในโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา
“เจ้าหน้าที่” หมายถึง บุคคลซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา
“กลุ่มโรงเรียน” หมายถึง กลุ่มโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา
ข้อ ๕ โรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา จะจัดตั้งได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากกระทรวงศึกษาธิการ และด้วยความเห็นชอบของประธานสภาการศึกษาของคณะสงฆ์โดยให้ปฏิบัติดังนี้
๕.๑ วัดที่ตั้งอยู่ในส่วนกลางและมีการศึกษาพระปริยัติธรรม เสนอรายงานขอจัดตั้งตามแบบที่กรมการศาสนากำหนดไปยังกรมการศาสนา สำหรับวัดที่ตั้งอยู่ในส่วนภูมิภาค ต้องได้รับความเห็นชอบจากเจ้าคณะจังหวัดด้วย และเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาเสนอกรมการศาสนา
๕.๒ ให้กรมการศาสนาพิจารณาเสนอขอความเห็นชอบจากประธานสภาการศึกษาของคณะสงฆ์ เมื่อได้รับความเห็นชอบแล้วจึงเสนอกระทรวงศึกษาธิการพิจารณาอนุญาตต่อไป
๕.๓ เมื่อได้รับอนุญาตจากกระทรวงศึกษาธิการ ให้กรมการศาสนาเป็นผู้ออกใบอนุญาต
การเปิดการสอนระดับการศึกษาเพิ่มขึ้นต้องได้รับอนุญาตจากกระทรวงศึกษาธิการ
ข้อ ๖ โรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ก่อนที่จะขออนุญาตจัดตั้งได้
๖.๑ มีจำนวนห้องเรียนพอกับจำนวนนักเรียน
๖.๒ มีพระภิกษุหรือสามเณรที่พร้อมจะเข้าเรียน ไม่ต่ำกว่า ๒๐ รูป
๖.๓ ครูสอนวิชาสามัญ ระดับมัธยมตอนต้นต้องมีจำนวนเป็นอัตรา ๓:๒ ของจำนวนห้องเรียน สำหรับระดับมัธยมศึกษาตอนปลายต้องมีจำนวนเป็นอัตรา ๒:๑ ของจำนวนห้องเรียน
ข้อ ๗ คุณสมบัติของผู้จัดการ ครูใหญ่ อาจารย์ใหญ่ ผู้อำนวยการ ครู นักเรียนและเจ้าหน้าที่ของโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา มีดังนี้
๗.๑ ผู้จัดการมีพรรษาพ้น ๕ อายุไม่เกิน ๖๕ ปี
๗.๒ ครูใหญ่ อาจารย์ใหญ่ ผู้อำนวยการ เป็นเปรียญ หรือพุทธศาสตร์บัณฑิต หรือศาสนาศาสตร์บัณฑิต มีพรรษาพ้น ๕ อายุไม่เกิน ๖๕ ปี
๗.๓ ครู จะเป็นพระภิกษุ สามเณร หรือคฤหัสถ์ก็ได้ สำหรับคฤหัสถ์ต้องเป็นเพศชาย อายุไม่ต่ำกว่า ๒๐ ปีบริบูรณ์
ครูสอนพระปริยัติธรรม หมวดภาษาบาลี สำหรับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น จะต้องมีวุฒิเปรียญตรีขึ้นไปและชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจะต้องมีวุฒิเปรียญโทขึ้นไป
ครูสอนวิชาพระปริยัติธรรม หมวดธรรมวินัยและศาสนาปฏิบัติ ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลาย จะต้องมีวุฒิไม่ต่ำกว่านักธรรมชั้นเอก
ครูสอนวิชาสามัญศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นจะตองมีวุฒิไม่ต่ำกว่าอนุปริญญาหรือเทียบเท่าขึ้นไป และชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจะต้องมีวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่าขึ้นไป
๗.๔ นักเรียนต้องเป็นพระภิกษุหรือสามเณร สำหรับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ตองจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ หรือเทียบเท่า ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายต้องจบชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นหรือเทียบเท่าและต้องได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าอาวาสวัดที่พำนัก หรือพระภิกษุที่ได้รับมอบหมายจากเจ้าอาวาสวัดดังกล่าว
๗.๕ เจ้าหน้าที่ของโรงเรียน อนุโลมตามมาตรา ๓๐ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พุทธศักราช ๒๕๓๕
ข้อ ๘ ให้มีกลุ่มโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ภายในระยะเวลา ๑๘๐ วัน นับตั้งแต่วันประกาศใช้ระเบียบนี้
ข้อ ๙ ให้มีคณะกรรมการการศึกษาโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษาประกอบด้วยอธิบดีกรมการศาสนาเป็นประธาน ผู้แทนกรมสามัญศึกษา ผู้แทนกรมวิชาการ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน ผู้แทนกลุ่มโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษาจำนวนไม่เกิน ๔ ท่าน เป็นกรรมการ และผู้อำนวยการกองศาสนาศึกษา กรมการศาสนาเป็นกรรมการและเลขานุการ
กรรมการที่เป็นผู้แทนกลุ่มโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ตามวรรคหนึ่งให้เป็นกรรมการได้คราวละไม่เกิน ๒ ปี และเป็นกรรมการได้ไม่เกิน ๒ วาระติดต่อกัน
ข้อ ๑๐ คณะกรรมการการศึกษาโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
๑๐.๑ กำหนดหลักเกณฑ์การจัดสรรเงินอุดหนุน
๑๐.๒ กำหนดนโยบายและแผนกเพื่อพัฒนาโรงเรียน
๑๐.๓ พิจารณาวินิจฉัยคำร้องทุกข์ของผู้รับใบอนุญาต ผู้จัดการ ครูใหญ่ อาจารย์ใหญ่ ผู้อำนวยการ ครู และเจ้าหน้าที่
๑๐.๔ ควบคุมดูแลการจัดการศึกษาให้มีการศึกษาพระปริยัติธรรมเป็นหลักและป้องกันมิให้มีการเปลี่ยนแปลงพระธรรมวินัยให้ผิดไปจากพระบาลีในพระไตรปิฎก
๑๐.๕ ให้คำแนะนำส่งเสริมการจัดการศึกษา
๑๐.๖ ตรวจสอบการดำเนินงานของโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ตลอดจนหลักฐาน เอกสารต่างๆทุกประเภท ถ้าปรากฏมีความบกพร่องให้พิจารณาเสนอกรมการศาสนาเพื่อขอความเห็นชอบจากประธานการศึกษาของคณะสงฆ์ เมื่อได้รับความเห็นชอบแล้ว กรมการศาสนามีอำนาจสั่งปิดโรงเรียนได้
๑๐.๗ วินิจฉัย ชี้ขาด ปัญหาข้อขัดข้องในการปฏิบัติตามระเบียบนี้
๑๐.๘ แต่งตั้งคณะอนุกรรมการให้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่คณะกรรมการศึกษาโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา มอบหมาย
ข้อ ๑๑ โรงเรียนต้องจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการสำหรับโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
การเปิดปิดภาคเรียนให้เป็นไปตามกำหนดวันเปิดปิดภาคเรียนของการศึกษาของคณะสงฆ์
ข้อ ๑๒ การรวบรวมข้อมูลและสถิติทางการศึกษาประจำปีของโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ให้เสนอตามแบบที่กรมการศาสนากำหนดและจัดส่งไปยังกรมการศาสนาภายในเดือนมิถุนายม ทั้งนี้ ให้ส่วนกลาง ให้สถานศึกษาเป็นผู้จัดส่ง สำหรับส่วนภูมิภาคให้ศึกษาธิการจังหวัดเป็นผู้จัดส่ง
ข้อ ๑๓ การแต่งตั้งผู้จัดการ ครูใหญ่ อาจารย์ใหญ่ ผู้อำนวยการ ครู และเจ้าหน้าที่
ในส่วนกลาง ให้ผู้รับใบอนุญาตพิจารณาเสนอกรมการศาสนาแต่งตั้งเฉพาะผู้จัดการ ครูใหญ่ อาจารย์ใหญ่ ผู้อำนวยการและครู ส่วนเจ้าหน้าที่ให้ผู้จัดการแต่งตั้งโดยความเห็นชอบของกรมกรมการศาสนา
ในส่วนภูมิภาค ให้ผู้รับใบอนุญาตพิจารณาเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้ง และรายงานให้กรมการศาสนาทราบ
ข้อ ๑๔ การให้การอุดหนุนโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา กรมการศาสนาจะให้เงินอุดหนุนตามกำลังงบประมาณ และเป็นไปตามหลักเกณฑ์คณะกรรมการศึกษาโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษากำหนด
ข้อ ๑๕ โรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ที่มีเจ้าอาวาสหรือสถาบันการศึกษาของคณะสงฆ์ เป็นผู้รับใบอนุญาตที่ดำเนินการอยู่ก่อนระเบียบนี้ประกาศใช้ ให้ถือว่าเป็นของวัดที่โรงเรียนนั้นตั้งอยู่ตามระเบียบนี้ ส่วนผู้จัดการให้วัดพิจารณาดำเนินการแต่งตั้งถอดถอนผู้จัดการ โดยไม่ให้นำความในข้อ ๗ ของระเบียนนี้มาบังคับใช้
ข้อ ๑๖ ในกรณีที่ผู้ได้รับอนุญาตไม่ประสงค์จะดำเนินการโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษาต่อไป ในส่วนกลางให้เสนอกรมการศาสนาโดยตรง ในส่วนภูมิภาคให้เสนอผ่านผู้วาราชการจังหวัดถึงกรมการศาสนา เพื่อขอรับความเห็นชอบต่อประธานสภาการศึกษาของคณะสงฆ์ เมื่อได้รับความเห็นชอบแล้ว กรมการศาสนาอนุญาตให้หยุดดำเนินการได้
ข้อ ๑๗ ส่วนราชการใดที่มีพระภิกษุสามเณรเรียนอยู่ในโรงเรียนในสังกัดก่อนแล้วให้ใช้หลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ใช้กับโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและหรือระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและให้เป็นไปตามระเบียบ กฎ ข้อบังคับและวิธีการที่ส่วนราชการนั้นกำหนด
ข้อ ๑๘ ให้อธิบดีกรมการศาสนารักษาการให้เป็นตามระเบียบนี้
ประกาศ ณ วันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๓๕
(นายสมชัย วุฑฒิปรีชา)
รัฐมนตรีช่วยว่าการ ปฏิบัติการแทน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษา
* จากแถลงการคณะสงฆ์ เล่ม ๘๑ ตอนที่ ๗ วันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๓๖