ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ
ว่าด้วยโรงเรียนการกุศลของวัดในพระพุทธศาสนา
พ.ศ. ๒๕๓๒*
——————
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. ๒๕๒๕ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการออกระเบียบไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยโรงเรียนการกุศลของวัดในพระพุทธศาสนา พ.ศ. ๒๕๓๒”
ข้อ ๒ ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ให้ยกเลิกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องโรงเรียนราษฎร์ของวัด พ.ศ.๒๔๘๘
บรรดาระเบียบ ข้อบังคับ และคำสั่งอื่นใดส่วนที่กำหนดไว้แล้วในระเบียบนี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้ ให้ใช้ระเบียบนี้แทน
ข้อ ๔ ในระเบียบนี้
“โรงเรียนการกุศลของวัดในพระพุทธศาสนา” หมายถึง โรงเรียนเอกชนตามมาตรา ๑๕ (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. ๒๕๒๕ ที่วัดเป็นผู้รับใบอนุญาต
“ผู้รับใบอนุญาต” หมายถึง ผู้ขอจัดตั้งโรงเรียนการกุศลของวัดในพระพุทธศาสนา
“วัด” หมายถึง วัดในพระพุทธศาสนาที่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕
“โรงเรียน” หมายถึง โรงเรียนการกุศลของวัดในพระพุทธศาสนา
“ผู้จัดการ” หมายถึง ผู้ทำหน้าที่ผู้จัดการ หรือผู้อำนวยการโรงเรียนการกุศลของวัดในพระพุทธศาสนา
“ครูใหญ่” หมายถึง ผู้ทำหน้าที่ครูใหญ่หรืออาจารย์ใหญ่โรงเรียนการกุศลของวัดในพระพุทธศาสนา
“ครู” หมายถึง ผู้ทำหน้าที่ครู หรืออาจารย์ที่ทำการสอนประจำอยู่ในโรงเรียนการกุศลของวัดในพระพุทธศาสนา
“นักเรียน” หมายถึง ผู้ที่กำลังศึกษาเล่าเรียนอยู่ในโรงเรียนการกุศลของวัดในพระพุทธศาสนา
“กลุ่มโรงเรียนการกุศลของวัดในพระพุทธศาสนา” หมายถึง กลุ่มที่โรงเรียนการกุศลของวัดในพระพุทธศาสนาจัดตั้งขึ้นตามระเบียบนี้
ข้อ ๕ การจัดตั้งโรงเรียนให้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. ๒๕๒๕ และระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยความเห็นของของมหาเถรสมาคม
ข้อ ๖ ให้ดำเนินกิจการโรงเรียน โดยมีคณะกรรมการอำนวยการโรงเรียนทำหน้าที่ตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. ๒๕๒๕ แล้วให้ทำหน้าที่เพิ่มอีก ดังต่อไปนี้
(๑) กำหนดนโยบายและแผนเพื่อพัฒนาโรงเรียน
(๒) ควบคุมการบริหารงานให้เป็นไปตามนโยบาย
(๓) ควบคุมการเงินและงบประมาณของโรงเรียน
(๔) พิจารณาเสนอบุคคลเพื่อบรรจุแต่งตั้งถอดถอนผู้จัดการ ครูใหญ่ และครูในโรงเรียน
ข้อ ๗ ให้มีกลุ่มโรงเรียนการกุศลของวัดในพระพุทธศาสนาขึ้นภายในระยะเวลา ๑ ปี นับตั้งแต่ประกาศใช้ระเบียบนี้
ข้อ ๘ กลุ่มโรงเรียนการกุศลของวัดในพระพุทธศาสนา ทำหน้าที่ช่วยประสานงานระหว่างโรงเรียนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยพัฒนาโรงเรียนทุกโรงให้มีความเจริญก้าวหน้าทัดเทียมกัน
ข้อ ๙ ผู้จัดการ และครูใหญ่ จะเป็นพระภิกษุหรือคฤหัสถ์ก็ได้
ข้อ ๑๐ ครู จะเป็นพระภิกษุ สามเณรหรือคฤหัสถ์ก็ได้ สำหรับพระภิกษุ สามเณร ที่เป็นครูสอนจะทำการสอนได้แต่เฉพาะวิชาที่ไม่ขัดต่อพระวินัย
ข้อ ๑๑ นักเรียน (ชาย – หญิง) พระภิกษุ สามเณร เข้าเรียนในโรงเรียนประเภทนี้ได้
พระภิกษุ สามเณร ที่จะเข้าเรียนในโรงเรียนประเภทนี้ต้องได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าอาวาสวัดของตนเสียก่อน
ข้อ ๑๒ โรงเรียนต้องจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดและต้องพัฒนาการเรียนการสอน โดยเน้นแนวปฏิบัติที่ชัดเจนในเรื่องการจัดองค์ประกอบด้านการเรียนการสอนในโรงเรียน ให้เกื้อหนุนต่อจุดประสงค์ที่หลักสูตรต้องการ และจัดกิจการนักเรียนให้สอดคล้องกับสถาบันที่เป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่พระพุทธศาสนา
สำหรับนักเรียนที่เป็นพระภิกษุและสามเณร การเรียนการสอนตามหลักสูตรบางวิชาอาจจะไม่เหมาะสม ให้เลือกเรียนวิชาและจัดกิจกรรมที่ไม่ขัดต่อสมณสารูปแทน
ข้อ ๑๓ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชนให้การอุดหนุนโรงเรียนการกุศลของวัดในพระพุทธศาสนาเป็นกรณีพิเศษตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการกำหนด
ข้อ ๑๔ เงินค่าธรรมเนียมการเรียนและเงินรายได้อื่น ๆ ที่โรงเรียนได้รับ ให้ใช้จ่ายในกิจการโรงเรียนเท่านั้น
ข้อ ๑๕ โรงเรียนเอกชนที่มีเจ้าอาวาสเป็นผู้รับใบอนุญาต หรือมูลนิธิของวัดซึ่งเจ้าอาวาสเป็นผู้ลงนามแทนมูลนิธิเป็นผู้รับใบอนุญาตที่ดำเนินการอยู่ก่อนวันที่ระเบียบนี้ประกาศใช้ หากประสงค์จะของรับการอุดหนุนเป็นกรณีพิเศษในฐานะโรงเรียนการกุศลของวัด ให้ดำเนินการโอนกิจการเป็นโรงเรียนการกุศลของวัดในพระพุทธศาสนาภายในกำหนดเวลา ๒ ปี นับแต่ระเบียบนี้ประกาศใช้ มิฉะนั้นจะหมดสิทธิการขอรับการอุดหนุนเป็นกรณีพิเศษ
ข้อ ๑๖ ให้เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาเอกชนรักษาการตามระเบียบนี้ และให้มีอำนาจกำหนดวิธีปฏิบัติเพื่อปฏิบัติให้เป็นตามระเบียบนี้
ประกาศ ณ วันที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๒
พลเอก มานะ รัตนโกเศศ
(มานะ รัตนโกเศศ)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
* จากแถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๗๘ ตอนที่ ๕ วันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๓๓
Views: 137