ระเบียบการร้องทุกข์

ระเบียบการร้องทุกข์

ออกตามความในมาตรา ๔๓ และมาตรา ๕๕ แห่งสังฆาณัติ

ระเบียบพระคณาธิการ พุทธศักราช ๒๔๘๘[1]

———————–

        อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๔๓ และมาตรา ๕๕ แห่งสังฆาณัติระเบียบพระคณาธิการ พุทธศักราช ๒๔๘๖ สังฆนายกในตำแหน่งประธาน ก.ส.พ. ตราระเบียบขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

        ข้อ ๑ ระเบียบนี้ให้เรียกว่า “ระเบียบการร้องทุกข์ พุทธศักราช ๒๔๘๗”

        ข้อ ๒ ให้ใช้ระเบียบนี้ตั้งแต่วันประกาศในแถลงการณ์คณะสงฆ์เป็นต้นไป

        ข้อ ๓ ตั้งแต่วันใช้ระเบียบนี้ ให้ยกเลิกบรรดากฎ อาณัติคณะสงฆ์ ข้อบังคับ และระเบียบอื่น ในส่วนที่ได้ตราไว้แล้วในระเบียบนี้ หรือซึ่งแย้งกับระเบียบนี้

        ข้อ ๔ พระคณาธิการรูปใดถูกพระคณาธิการผู้บังคับบัญชาลงโทษ ฐานละเมิดจริยาพระคณาธิการ ถ้าเห็นว่าคำสั่งลงโทษนั้นไม่เป็นธรรม ก็มีสิทธิ์ร้องทุกข์ได้ และให้ร้องต่อพระคณาธิการผู้บังคับบัญชาเหนือผู้สั่งลงโทษขึ้นไปชั้นหนึ่งตามสังกัดองค์การ

        ข้อ ๕ ในการร้องทุกข์นั้น ต้องทำเป็นคำร้องมีสำเนาอันถูกต้อง ๑ ฉบับ ชี้แจงแสดงเหตุผลหรือข้อผิดถูก แล้วลงลายมือชื่อของผู้ร้องทุกข์ในคำร้องนั้น พร้อมด้วยระบุสถานที่และวัน เดือน ปีที่ร้องทุกข์ ยื่นต่อผู้มีหน้าที่รับคำร้องทุกข์ดังกล่าวแล้วภายในกำหนด ๑๕ วัน นับแต่วันทราบคำสั่งลงโทษ

        ข้อ ๖ ให้ผู้ได้รับคำร้องทุกข์ส่งสำเนาคำร้องทุกข์นั้นไปยังผู้สั่งลงโทษภายในกำหนด ๗ วัน นับแต่วันได้รับคำร้องทุกข์ เพื่อให้ชี้แจงในการสั่งลงโทษ เมื่อผู้สั่งลงโทษทำคำชี้แจงแล้ว ให้ส่งคำชี้แจงนั้นไปยังผู้รับคำร้องทุกข์  พร้อมด้วยสำเนาเอกสารอื่นซึ่งรับรองว่าถูกต้อง อันเกี่ยวกับการสั่งลงโทษ ถ้าจะพึงมี ภายในกำหนด ๑๕ วัน นับแต่วันได้รับสำเนาคำร้องทุกข์

        ข้อ ๗ เมื่อผู้รับคำร้องทุกข์ได้รับคำชี้แจงแล้วให้พิจารณาวินิจฉัยต่อไป แต่ถ้าเห็นว่าเป็นเรื่องที่ควรไต่สวนก่อน ก็ให้ตั้งกรรมการไม่น้อยกว่า ๓ รูป และไม่เกิน ๕ รูป เป็นผู้ไต่สวน

        ข้อ ๘ ในการไต่สวนนั้น ผู้ไต่สวนจะเชิญบุคคลใดๆ มาเป็นพยานก็ได้ แต่ไม่ต้องสาบานตัว

        ข้อ ๙ ในการพิจารณาวินิจฉัย ถ้าไม่มีการต้องไต่สวน ให้ผู้รับคำร้องทุกข์พิจารณาวินิจฉัยให้เสร็จสิ้นภายในกำหนด ๓๐ วัน แต่ถ้าต้องมีการไต่สวน ให้พิจารณาให้เสร็จสิ้นภายในกำหนด ๕๐ วัน ทั้งนี้ ให้นับแต่วันที่ได้รับคำชี้แจงของผู้สั่งลงโทษเป็นต้นไป

        ข้อ ๑๐ การปฏิบัติตามความในข้อ ๕-๖ และ ๙ หากผู้มีหน้าที่ต้องปฏิบัติไม่อาจดำเนินการให้ทันกำหนดเวลาได้ด้วยเหตุใดแล้ว ต้องชี้แจงเหตุนั้นไว้เป็นหลักฐานในเอกสารเกี่ยวกับการนี้

        ข้อ ๑๑ ให้ผู้รับคำร้องทุกข์ส่งคำวินิจฉัยแก่ผู้สั่งลงโทษ เพื่อจะได้แจ้งแก่ผู้ร้องทุกข์ต่อไป

        การแจ้งคำวินิจฉัยให้ผู้รัองทุกข์ทราบ ผู้สั่งลงโทษจะต้องแจ้งภายใน ๗ วัน นับแต่วันได้รับคำวินิจฉัยแล้ว

        ข้อ ๑๒ ถ้าผู้รับคำร้องทุกข์วินิจฉัยลงโทษยืนตามคำสั่งของผู้สั่งลงโทษ หรือเบากว่า ผู้ถูกลงโทษจะอุทธรณ์ต่อไปไม่ได้ แต่ถ้าวินิจฉัยสั่งให้เพิ่มโทษ ผู้ร้องทุกข์มีสิทธิ์ร้องอุทธรณ์ต่อพระคณาธิการผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ชั้นนี้เป็นที่สุด

        ข้อ ๑๓ ถ้าคำร้องทุกข์ใด สังฆมนตรีเจ้าสังกัดได้พิจารณาวินิจฉัยแล้ว ผู้ร้องทุกหามีสิทธิ์ร้องอุทธรณ์ได้ไม่

        ข้อ ๑๔ การร้องทุกข์เป็นสิทธิ์เฉพาะตัว จะร้องแทนกันไม่ได้

ตราไว้ ณ วันที่ ๕ เดือนตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๘๗

พระเทพเวที

แทนสังฆนายก

ในตำแหน่งประธาน ก.ส.พ.


[1]ลงในแถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๓๒ ภาค ๖  วันที่ ๒๕  ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๗