ระเบียบมหาเถรสมาคม
ว่าด้วยการร้องทุกข์ [1]
พ.ศ. ๒๕๓๗
——————-
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๕ ตรี แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ และข้อ ๕๒ แห่งกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๑๖ (พ.ศ.๒๕๓๕) ว่าโดยการแต่งตั้งถอดถนพระสังฆาธิการ มหาเถรสมาคมวางระเบียบไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ระเบียบมหาเถรสมาคมนี้ เรียกว่า “ระเบียบมหาเถรสมาคม ว่าด้วยการร้องทุกข์ พ.ศ.๒๕๓๗”
ข้อ ๒ ระเบียบมหาเถรสมาคมนี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวัดประกาศในแถลงการณ์คณะสงฆ์ เป็นต้นไป
ข้อ ๓ ตั้งแต่วันใช้ระเบียบมหาเถรสมาคมนี้ ให้ยกเลิกระเบียบมหาเถรสมาคมว่าด้วยการร้องทุกข์
ข้อ ๔ พระสังฆาธิการรูปใด ถูกผู้บังคับบัญชาสั่งลงโทษฐานละเมิดจริยา ถ้าเห็นว่าคำสั่งลงโทษนั้นไม่เป็นธรรม ประสงค์จะร้องทุกข์ ก็ให้ร้องทุกข์ต่อผู้บังคับบัญชาเหนือผู้สั่งลงโทษขึ้นไปชั้นหนึ่ง
ข้อ ๕ ในการร้องทุกข์นั้น ต้องทำเป็นคำร้องมีสำเนาหนึ่งฉบับ ระบุสถานที่และวันเดือนปีที่ร้องทุกข์ ชี้แจงแสดงเหตุผลหรือข้อผิดถูก แล้วลงลายมือชื่อของผู้ร้องทุกข์นั้น พร้อมกับสำเนาคำสั่งลงโทษ ยื่นต่อผู้มีหน้าที่รับคำร้องทุกข์ตามความในข้อ ๔ โดยให้ส่งผ่านผู้สั่งลงโทษภายในกำหนด ๑๕ วัน นับจากวันทราบคำสั่งลงโทษ และให้ผู้สั่งลงโทษ ส่งคำร้องทุกข์ไปให้ผู้มีหน้าที่รับคำร้องทุกข์ภายใน ๗ วัน นับแต่วันได้รับคำร้องทุกข์
ข้อ ๖ เมื่อผู้มีหน้าที่รับคำร้องทุกข์ได้รับคำร้องทุกข์แล้ว ให้พิจารณาสั่งการตามควรแก่กรณี
ถ้าเห็นว่า สมควรได้รับคำชี้แจงของผู้สั่งลงโทษประกอบการพิจารณาด้วย ให้ส่งสำเนาคำร้องทุกข์นั้นไปยังผู้สั่งลงโทษภายในกำหนด ๗ วัน นับแต่วันได้รับคำร้องทุกข์ เพื่อให้ชี้แจงในการสั่งลงโทษ เมื่อผู้สั่งลงโทษทำคำชี้แจงแล้ว ให้ส่งคำชี้แจงนั้นไปยังผู้มีหน้าที่รับคำร้องทุกข์ พร้อมด้วยสำเนาเอกสารอื่น ๆ อันเกี่ยวกับการสั่งลงโทษ ซึ่งรับรองว่าถูกต้อง ถ้าจะพึงมีภายในกำหนด ๑๕ วัน นับแต่วันได้รับสำเนาคำร้องทุกข์
ข้อ ๗ เมื่อผู้มีหน้าที่รับคำร้องทุกข์ได้รับคำชี้แจงตามความในข้อ ๖ วรรค ๒ แล้ว ให้พิจารณาสั่งการต่อไป แต่ถ้าเห็นว่าเป็นเรื่องที่ตั้งกรรมการพิจารณาก็ให้ตั้งกรรมการไม่น้อยกว่า ๓ รูป และไม่เกิน ๕ รูป เพื่อพิจารณาเสนอความเห็น
ข้อ ๘ ในการพิจารณาของคณะกรรมการนั้น จะเชิญบุคคลใด ๆ มาให้ถ้อยคำเพื่อประกอบการพิจารณาก็ได้
ข้อ ๙ ให้การพิจารณาสั่งการของผู้รับคำร้องทุกข์ตามความในข้อ ๖ วรรคแรก ต้องพิจารณาสั่งการให้เสร็จสิ้นภายในกำหนด ๑๕ วัน นับแต่วันได้รับสำเนาร้องทุกข์
ถ้ามีการสั่งให้ส่งคำชี้แจงของผู้สั่งลงโทษ ตามความในข้อ ๖ วรรค ๒ ต้องพิจารณาสั่งการให้เสร็จภายในกำหนด ๓๐ วัน นับแต่วันได้รับคำร้องทุกข์
แต่ถ้ามีการตั้งกรรมการพิจารณาตามความในข้อ ๗ ต้องพิจารณาสั่งการให้เสร็จสิ้นภายในกำหนด ๖๐ วัน นับแต่วันได้รับสำเนาคำร้องทุกข์
ข้อ ๑๐ ให้ผู้รับคำร้องทุกข์แจ้งผลการพิจารณาชี้ขาดแก่ผู้สั่งลงโทษและให้ผู้สั่งลงโทษแจ้งแก่ผู้ร้องทุกข์ทราบภายในกำหนด ๑๕ วัน นับแต่วันที่ตนได้รับคำสั่งแจ้งผลการพิจารณาชี้ขาดนั้น
ข้อ ๑๑ ถ้าผู้รับคำร้องทุกข์พิจารณาสั่งการยืนตามคำสั่งของผู้สั่งลงโทษหรือเบากว่าผู้ร้องทุกข์ต่อไปอีกไม่ได้ แต่ถ้าผู้รับคำร้องทุกข์พิจารณาสั่งการให้เพิ่มโทษ ผู้ร้องทุกข์มีสิทธิร้องทุกข์ต่อผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไปอีกชั้นหนึ่งได้ การพิจารณาสั่งการของผู้บังคับบัญชาชั้นนี้เป็นที่สุด
การยื่นคำร้องทุกข์ และการพิจารณาสั่งการตามความในวรรคต้น ให้นำความในข้อ ๕-๖-๗-๘ และข้อ ๙ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ข้อ ๑๒ การร้องทุกข์ตามระเบียบมหาเถรสมาคม ให้ถือว่าเป็นสิทธิเฉพาะตัว จะร้องทุกข์แทนกันมิได้
ประกาศ ณ วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๓๗
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม
[1] จากแถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๘๒ ตอนที่ ๖ : ๒๕ มิถุนายน ๒๕๓๗
Views: 20