ระเบียบองค์การศึกษา ว่าด้วยการจัดศาสนศึกษา พ.ศ. ๒๔๙๔

ระเบียบองค์การศึกษา

ว่าด้วยการจัดศาสนศึกษา

พ.ศ. ๒๔๙๔[1]

——————

      โดยที่เห็นสมควรจะปรับปรุงการศาสนศึกษาให้เจริญด้วยปริมาณและคุณภาพและเหมาะสมกับกาลเทศะ เพื่อเป็นผลดีและเรียบร้อยในการจัดการศึกษาในส่วนพระศาสนายิ่งขึ้น

      จึงให้ยกเลิกระเบียบองค์การศึกษา ว่าด้วยการจัดศาสนศึกษา พุทธศักราช ๒๔๙๑ และระเบียบแก้ไขเพิ่มเติมอื่น ๆ ที่เนื่องด้วยการจัดศาสนศึกษา และให้ใช้ระเบียบใหม่นี้ แทนตั้งแต่วันประกาศในแถลงการณ์คณะสงฆ์เป็นต้นไป

ลักษณะ ๑
ความทั่วไป

      ๑. ระเบียบนี้  ให้เรียกว่า “ระเบียบองค์การศึกษา ว่าด้วยการจัดศาสนศึกษา พุทธศักราช ๒๕๙๔”

      ๒. ในระเบียบนี้

            (ก) คำว่า “การศาสนศึกษา” หมายถึง การศึกษาปริยัติธรรม และการศึกษาอื่น ๆ อันควรแก่สมณะ

            (ข) คำว่า “การศึกษาปริยัติธรรม” หมายถึง การศึกษาธรรมและบาลี

            (ค) คำว่า “สำนักศาสนสึกษา” หมายถึงสำนักเรียนปริยัติธรรม

            (ง) “สำนักศึกษาธรรม” หมายถึงสำนักที่สอนปริยัติธรรมตามหลักสูตรประโยคนักธรรมศึกษา ขององค์การศึกษา

            (จ) “สำนักศึกษาบาลี” หมายถึง สำนักสอนปริยัติธรรมตามหลักสูตรประโยคบาลี ขององค์การศึกษา

ลักษณะ ๒
การจัดตั้งและยุบเลิกสำนักศาสนศึกษา

      ๓. วัดใดจัดตั้งหรือยุบเลิกสำนักศึกษาธรรมหรทอสำนักศึกษาบาลี ให้รายงานต่อคณะกรรมการสงฆ์อำเภอ และคณะกรรมการสงฆ์จังหวัดโดยลำดับ เพื่อขึ้นทะเบียนหรือแก้ทะเบียนแล้วแต่กรณี

      ๔. ให้คณะกรรมการสงฆ์อำเภอและคณะกรรมการสงฆ์จังหวัด มีหน้าที่พิจารณาจัดการให้วัดทั้งหลายในสังกัดจัดตั้งสำนักศาสนศึกษาธรรม และสำนักศึกษาบาลีขึ้นตามควรแก่พฤติการณ์ และให้ศึกษาอำเภอและศึกษาจังหวัดมีหน้าที่ควบคุม  ตรวจตราชี้แจงและแนะนำช่วยเหลือให้การศาสนศึกษาในสำนักนั้น ๆ ดำเนินไปโดยระเบียบเรียบร้อย

      ๕. เพื่อประโยชน์แก่การสถิติเกี่ยวกับการศาสนศึกษาประจำปี  ให้สำนักศาสนศึกษาทุกสำนักทำรายงานการศาสนศึกษาประจำปี   เสนอคณะกรรมการสงฆ์อำเภอและคณะกรรมการสงฆ์จังหวัดตามลำดับ  และให้คณะกรรมการสงฆ์จำหวัดรวบรวมรายงานนั้นส่งถึงกรมการศาสนาภายในวันที่ ๓๐ เมษายนของปีถัดไปทุกปี เพื่อนำเสนอองค์การศึกษา

ลักษณะ ๓
หลักสูตรการศาสนศึกษาและการสอบไล่ประจำปี

      ๖. การศาสนศึกษาและการสอบไล่ประจำปี  ให้เป็นไปตามหลักสูตรและวิธีการที่องค์การศึกษากำหนดขึ้น

ลักษณะ ๔
การเปิดปิดภาคเรียน

      ๗. การเปิดปิดภาคเรียนของสำนักศาสนศึกษา   โดยปรกติให้แบ่งเป็น ๓ ภาค เรียกว่า ภาควิสาขะ  ภาคพรรษา และภาคปวารณา  โดยมีกำหนดเวลาดังนี้

            (๑) สำนักศึกษาธรรม

                   ก. ภาควิสาขะ  เริ่มแต่ขึ้น ๑ ค่ำ  เดือน ๗  จนถึงขึ้น  ๗  ค่ำ  เดือน ๘

                   ข. ภาคพรรษ เริ่มแต่แรม ๙ ค่ำ เดือน ๘ จนถึงขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๑

                   ค. ภาคปวารณา เริ่มแต่ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑๒ จนถึงขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือนอ้าย

            (๒) สำนักศึกษาบาลี

                   ก. ภาควิสาขะ เริ่มแต่ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๖ จนถึงขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๘

                   ข. ภาคพรรษา เริ่มแต่แรม ๙ ค่ำ เดือน ๘ จนถึงขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๑                       ค. ภาคปวารณา เริ่มแต่ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑๒ จนถึงแรม ๑๓ ค่ำ เดือนยี่    ๘. การปิดการเรียนประจำของสำนักศาสนศึกษา  ให้ปิดวันโกนวันพระ ๒ วัน

      ๙. นอกจากกรณีปกติ  เมื่อเจ้าสำนักศาสนศึกษาเห็นเป็นการสมควร จะพิจารณากำหนดเวลาเปิดปิดให้เหมาะสมกับท้องที่นั้น ๆ หรือเหตุการณ์อันสมควรก็ได้ แต่ทั้งนี้ในปีหนึ่งสำนักศึกษาธรรมต้องมีเวลาเรียนไม่น้อยกว่า ๑๕๐ ชั่วโมง  สำนักศึกษาบาลีต้องมีเวลาเรียนไม่น้อยกว่า ๓๐๐ ชั่วโมง       

ลักษณะ ๕
ครูสอนปริยัติธรรม

      ๑๐. ครูสอนปริยัติธรรม   ต้องเป็นภิกษุหรือสามเณรเปรียญ  และต้องมีวิทยาฐานะกำหนดตามคุณภาพแห่งลักษณะวิชา  ดังต่อไปนี้

             (๑) ครูสอนธรรมชั้นตรี  อย่างต่ำต้องเป็นนักธรรมชั้นโท  หรือเป็นนักธรรมชั้นตรี  ซึ่งได้เคยเข้าสอบนักธรรมชั้นโทในสนามหลวงมาแล้วหรือเป็นเปรียญ

             (๒) ครูสอนธรรมชั้นโท   อย่างต่ำต้องเป็นนักธรรมชั้นเอก  หรือเป็นนักธรรมชั้นโทซึ่งได้เคยเข้าสอบนักธรรมชั้นเอกมาแล้วหรือเป็นเปรียญ

             (๓) ครูสอนธรรมชั้นเอก  ต้องเป็นนักธรรมชั้นเอก  หรือเป็นเปรียญ

             (๔) ครูสอนบาลี ต้องเป็นเปรียญ

             (๕) ในท้องถิ่นที่กันดาร ถ้าเป็นการสมควรและจำเป็น  จะให้ครูมีวิทยาฐานะไม่ต่ำกว่าชั้นที่สอนเป็นครูก็ได้

      ๑๑. ในการแต่งตั้งและถอดถอนครูประจำสำนักศึกษาธรรมและบาลี ให้ศึกษาอำเภอและศึกษาจังหวัดพิจารณาเสนอเจ้าคณะจังหวัดเพื่อแต่งตั้งและถอดถอน

ลักษณะ ๖
เงินอุดหนุนการศาสนศึกษา

      ๑๒. สำนักศาสนศึกษาที่ควรได้รับบำรุงจากเงินอุดหนุนการศาสนศึกษาตามระเบียบนี้ ได้แก่สำนักศึกษาธรรมที่มีจำนวนนักศึกษาอันแท้จริงไม่ต่ำกว่า ๒๐ รูป สำนักศึกษาบาลีที่มีจำนวนนักศึกษาอันแท้จริงไม่ต่ำกว่า ๑๐ รูป เว้นแต่

             (๑) สำนักศาสนศึกษาอันตั้งอยู่ตามท้องที่ชายพระราชอาณาจักร ติดต่อกับต่างประเทศ

            (๒) สำนักศาสนศึกษาอันตั้งอยู่ตามท้องที่กันดาร  การวินิจฉัยลักษณะแห่งท้องที่นี้ให้ปฏิบัติตามมติของที่ประชุมคณะกรรมการสงฆ์จังหวัด

      ๑๓. เงินอุดหนุนการศาสนศึกษาที่สำนักศาสนศึกษาแห่งหนึ่ง ๆ จะพึงได้รับนั้น  โดยปรกติให้มีจำนวนไม่เกินอัตราต่อไปนี้

             (ก) สำนักศึกษาธรรม

                   (๑) มีนักศึกษาธรรมชั้นตรีอย่างเดียวตั้งแต่ ๒๐ รูปขึ้นไป  ได้รับบำรุงไม่เกิน ๑๐๐ บาท

                   (๒) มีนักศึกษาธรรมชั้นตรีและโท  ตั้งแต่ ๒๐ รูปขึ้นไป  ได้รับบำรุงไม่เกิน ๒๐๐ บาท

                   (๓) มีนักศึกษาธรรมชั้นตรี  โท และเอก  ตั้งแต่ ๒๐ รูปขึ้นไป  ได้รับบำรุงไม่เกิน ๓๐๐ บาท

             (ข) สำนักศึกษาธรรมและบาลี  ที่มีจำนวนนักศึกษาธรรมตั้งแต่ ๒๐ รูปขึ้นไป และมีจำนวนนักศึกษาบาลีตั้งแต่ ๑๐ รูปขึ้นไป ได้รับบำรุงไม่เกิน ๖๐๐ บาท

      ๑๔. สำนักศาสนศึกษาแห่งใด มีการศึกาประกอบด้วยปริมาณและคุณภาพเป็นพิเศษ องค์การศึกษาจะกำหนดจำนวนเงินอุดหนุนสำนักศาสนศึกษานั้นเป็นพิเศษเกินกว่าอัตราปรกติตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๓ ก็ได้

      ๑๕.  เงินอุดหนุนการศาสนศึกษาให้จ่ายเป็นนิตยภัตบำรุงครูสอนปริยัติธรรมหรือจ่ายในกิจการใด ๆ อันเกี่ยวกับการศาสนศึกษาก็ได้

      ๑๖. นิตยภัตครูสอนปริยัติธรรม ให้จ่ายบำรุงเฉพาะเดือนที่ทำการสอน โดยคำนึงถึงปริมาณและคุณภาพของงาน ไม่เกินอัตราต่อไปนี้

             (๑) ครูสอนธรรมไม่เกินเดือนละ ๔๐ บาท

             (๒) ครูสอนบาลีไม่เกินเดือนละ ๖๐  บาท

      ๑๗. เพื่อประโยชน์แก่การพิจารณากำหนดเงินอุดหนุนการศาสนศึกษาประจำปีให้ศึกษาจังหวัด   จัดการสำรวจทำบัญชีสำนักศาสนศึกษาที่ควรได้รับบำรุงจากเงินอุดหนุนการศาสนศึกษาตามระเบียบนี้ เสนอคณะกรรมการสงฆ์จังหวัด ส่งถึงกรมการศาสนาภายในวันที่ ๓๑ กรกฏาคม ของปัจจุบัน หากพ้นกำหนดนี้แล้ว ให้งดพิจารณา

ลักษณะ ๗
เบ็ดเตล็ด

      ๑๘. ให้กรมการศาสนรักษาการให้เป็นไปตามระเบียบนี้  และเพื่อความเรียบร้อย   ให้มีอำนาจกำหนดแบบบัญชีหรือวิธีปฏิบัติใด ๆ  อันจะช่วยให้เป็นความสะดวกแก่การปฏิบัติการตามระเบียบนี้    โดยอนุมัติแห่งองค์การศึกษา

      ระเบียบนี้ตราไว้  ณ วันที่ ๑ มกราคม  พุทธศักราช  ๒๔๙๔

สมเด็จพระวันรัต

สังฆมนตรีว่าการองค์การศึกษา


[1]  จากแถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๓๙ เดือนมกราคม ๒๔๙๔