ระเบียบมหาเถรสมาคม
ว่าด้วยการจัดตั้งสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัด
พ.ศ. ๒๕๔๓ [1]
—————–
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๕ ตรี แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ มหาเถรสมาคมวางระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ระเบียบมหาเถรสมาคมนี้ เรียกว่า “ระเบียบมหาเถรสมาคม ว่าด้วยการจัดตั้งสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัด พ.ศ. ๒๕๔๓”
ข้อ ๒ ระเบียบมหาเถรสมาคมนี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในแถลงการณ์คณะสงฆ์ เป็นต้นไป
ข้อ ๓ ในระเบียบนี้
“การปฏิบัติธรรม” หมายความว่า การปฏิบัติสมณกัมมัฎฐานหรือวิปัสสนากัมมัฎฐาน ตามหลักมหาสติปัฎฐานสูตร
“สำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัด” หมายความว่ สำนักปฏิบัติธรรมที่มีอยู่แล้วไดรับการยกขึ้นเป็นสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัด หรือจัดตั้งขึ้นใหม่ โดยคณะกรรมการจัดตั้งสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัด
“เจ้าสำนัก” หมายความว่า เจ้าอาวาสซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดแห่งนั้น ๆ
“พระวิปัสสนาจารย์” หมายความว่า พระภิกษุผู้สอนการปฏิบัติสมถกัมมัฎฐานหรือวิปัสสนากัมมัฎฐาน ตามหลักสติปัฎฐานสูตร
ข้อ ๔ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า คณะกรรมการจัดตั้งสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัด ประกอบด้วยเจ้าคณะจังหวัด เป็นประธานคณะกรรมการ รองเจ้าคณะจังหวัด เป็นรองประธานคณะกรรมการ เจ้าคณะอำเภอ รองเจ้าคณะอำเภอของจังหวัดนั้น เป็นกรรมการ โดยมีเจ้าคณะใหญ่เป็นประธานที่ปรึกษา เจ้าคณะภาค รองเจ้าคณะภาค เป็นที่ปรึกษา
ข้อ ๕ การจัดตั้งสำนักปฏิบัติธรรมปปประจำจังหวัด ให้เจ้าคณะจังหวัด ประธานคณะกรรมการ จัดประชุมคณะกรรมการจัดตั้งสำนักปฎิบัติธรรมประจำจังหวัด คัดเลือกวัดที่เหมาะสม ให้เจ้าอาวาสที่จัดตั้งสำนักปฏิบัติธรรมยื่นหนังสือขอจัดตั้งตามแบบของกรมการศาสนา เสนอคณะกรรมการจัดตั้งสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดพิจารณาแล้ว ประธานคณะกรรมการรายงานเสนอเจ้าคณะภาค และเจ้าคณะใหญ่พิจารณาเสนอมหาเถรสมาคมพิจารณาอนุมัติ เพื่อมีพระบัญชาการตั้งสำนักปฏิบัติธรรม ให้กรมการศาสนา[2] ขึ้นทะเบียบเป็นสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัด
ประกาศ ณ วันที่ ๑๘ เดือน พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๓
สมเด็จพระญาณสังวร
(สมเด็จพระญาณสังวร)
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม
[1] ประกาศในแถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๘๘ ตอนที่ ๑๐ : ๒๕ ตุลาคม ๒๕๔๓
[2] ปัจจุบัน เปลี่ยนเป็น สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาต