คำสั่งมหาเถรสมาคม
เรื่อง ควบคุมการเรี่ยไร พ.ศ. ๒๕๑๑ [1]
————–
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๘ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ มหาเถรสมาคมจึงออกคำสั่งไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ คำสั่งมหาเถรสมาคมนี้ เรียกว่า “คำสั่งมหาเถรสมาคม เรื่อง ควบคุมการเรี่ยไร่ พ.ศ. ๒๕๑๑”
ข้อ ๒ คำสั่งมหาเถรสมาคมนี้ ให้ใช้บังคับมีกำหนด ๑ ปี นับแต่วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๑๑ เป็นต้นไป เว้นแต่จะมีคำสั่งมหาเถรสมาคมเป็นอย่างอื่น
ข้อ ๓ ให้ยกเลิกคำสั่งหรือประกาศคณะสงฆ์ อันเกี่ยวกับการเรี่ยไร ซึ่งกำหนดไว้แล้วในคำสั่งมหาเถรสมาคมนี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับคำสั่งมหาเถรสมาคมนี้
ข้อ ๔ ห้ามมิให้วัดหรือพระภิกษุสามเณรทำการเรี่ยไร หรือมอบหมายหรือยินยอมให้ผู้อื่นทำการเรี่ยไร เพื่อประโยชน์แก่วัดหรือพระศาสนา หรือเพื่อประโยชน์อย่างอื่นใดแก่ตนหรือผู้อื่น เว้นแต่ในกรณีที่กำหนดไว้ในคำสั่งมหาเถรสมาคมนี้
ข้อ ๕ ในกรณีที่มีการบำเพ็ญกุศลในวัด ซึ่งเป็นงานประจำปีหรืองานพิเศษ ถ้าจะมีการเรี่ยไร การโฆษณาเรี่ยไร และการรับเงินหรือทรัพย์สินจากการเรี่ยไร ให้กระทำได้เฉพาะภายในบริเวณ ห้ามมิให้กระทำนอกบริเวณวัด
ข้อ ๖ ถ้ามีกรณีจำเป็นจะต้องทำการเรี่ยไรนอกบริเวณวัด เพื่อก่อสร้างหรือปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุใด ถาวรวัตถุนั้นต้องได้มีการก่อสร้างหรือปฏิสังขรณ์ไว้แล้วไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของการงานก่อสร้างหรือปฏิสังขรณ์ทั้งหมด และให้เจ้าอาวาสปฏิบัติ ดังต่อไปนี้
(๑) ให้รายงานขออนุมัติทำการเรี่ยไร เสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับจนถึงเจ้าคณะภาค เมื่อเจ้าคณะภาคพิจารณาเห็นชอบแล้ว ให้เสนอไปยังคณะอนุกรรมการควบคุมการเรี่ยไรของคณะสงฆ์ เพื่อพิจารณา
ในรายงานขออนุมัติทำการเรี่ยไรตามความในวรรคต้น ให้แสดงรายการก่อสร้างหรือปฏิสังขรณ์ จำนวนเงินหรือทรัพย์สินที่จะทำการเรี่ยไร กำหนดเวลาทำการเรี่ยไร และข้อความข้อที่จะโฆษณาเรี่ยไร
(๒) การเรี่ยไรเพื่อการนี้ ให้ทำได้เฉพาะภายในเขตจังหวัดที่วัดนั้นตั้งอยู่
(๓) เมื่อได้รับอนุมัติจากคณะอนุกรรมการควบคุมการเรี่ยไรของ๕ณะสงฆ์แล้ว จึงให้จัดการขออนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการเรี่ยไรต่อไป
(๔) ในกรณีได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการเรี่ยไรแล้ว ห้ามพระภิกษุสามเณรออกทำการเรี่ยไรด้วยตนเอง และต้องปฏิบัติให้ชอบด้วยวิธีการตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการเรี่ยไรทุกประการ
(๕) เมื่อครบกำหนดเวลาที่ได้รับอนุญาตให้ทำการเรี่ยไรแล้ว ให้รายงานยอดรับ-รายจ่ายเงินและทรัพย์สินในการเรี่ยไร เสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับจนถึงคณะอนุกรรมการควบคุมการเรี่ยไรของคณะสงฆ์ เมื่อได้ใช้จ่ายเงินหรือทรัพย์สินไปในการก่อสร้างหรือปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุนั้นเสร็จแล้ว ก็ให้รายงานตามลำดับข้างต้น
ข้อ ๗ ให้มีอนุกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า “คณะอนุกรรมการควบคุมการเรี่ยไรของคณะสงฆ์” ซึ่งมหาเถรสมาคมจะแต่งตั้งขึ้น มีจำนวนไม่ต่ำกว่า ๕ และไม่เกิน ๙
ให้คณะอนุกรรมการควบคุมการเรี่ยไรของคณะสงฆ์ มีอำนาจหน้าที่ควบคุมการเรี่ยไรตามคำสั่งมหาเถรสมาคมนี้ หรือตามที่มหาเถรสมาคมมอบหมาย
เมื่อคณะอนุกรรมการควบคุมการเรี่ยไรของคณะสงฆ์ ได้อนุมัติให้วัดได้ทำการเรี่ยไรแล้ว ให้แจ้งแก่เจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมการเรี่ยไรตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการเรี่ยไรทราบด้วย
ข้อ ๘ พระภิกษุสามเณรรูปใดฝ่าฝืนคำสั่งมหาเถรสมาคมนี้
(๑) ถ้ามิได้เป็นพระสังฆิการ
(ก) ให้เจ้าอาวาสเจ้าสังกัดได้ทราบความผิดนั้นแล้ว ให้จัดการให้ภิกษุสามเณรรูปนั้นออกไปเสียจากวัด และบันทึกเหตุที่ให้ออกไปนั้นในหนังสือสุทธิหรือ
(ข) เมื่อเจ้าคณะในเขตที่ความผิดเกิดขึ้นได้ทราบความผิดนั้นแล้ว ถ้าผู้ฝ่าฝืนมีสังกัดอยู่ในจังหวัดเดียวกันให้แจ้งแก่เจ้าอาวาสผ่านเจ้าคณะจังหวัดเจ้าสังกัด แต่ถ้ามีสังกัดอยู่ต่างจังหวัดให้แจ้งแก่เจ้าอาวาสผ่านเจ้าคณะภาคเจ้าสังกัด เพื่อดำเนินการตามความใน (ก)
(๒) ถ้าเป็นพระสังฆาธิการ ให้เจ้าคณะเจ้าสังกัดพิจารณาลงโทษ ฐานละเมิดจริยาพระสังฆาธิการตามควรแก่กรณี แต่ถ้าพระสังฆาธิการได้กระทำได้กระทำความผิดในเขตจังหวัดที่ตนมิได้สังกัดอยู่ ให้เจ้าคณะในเขตที่ความผิดนั้นเกิดขึ้น แจ้งแก่เจ้าคณะเจ้าสังกัดของผู้กระทำความผิด เพื่อดำเนินการดังกล่าวแล้ว โดยแยกการแจ้งดังนี้
(ก) ในจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรี ให้แจ้งแก่เจ้าคณะจังหวัด
(ข) ในจังหวัดอื่น ให้แจ้งแก่เจ้าคณะจังหวัดหรือเจ้าคณะภาค แล้วแต่จะเห็นสมควร
(๓) ถ้าปรากฏว่าความผิดตามกรณี (๑) หรือ (๒) เป็นความผิดอาญาด้วย ย่อมจะมีโทษตามกฎหมายอีกต่างหากจากโทษที่ได้รับจากเจ้าอาวาสหรือเจ้าคณะเจ้าสังกัด
ข้อ ๙ คำสั่งมหาเถรสมาคมนี้ มิให้ใช้บังคับแก่การเรี่ยไร ดังต่อไปนี้
(๑) การเรี่ยไรในทางราชการคณะสงฆ์ หรือ
(๒) การเรี่ยไรที่มหาเถรสมาคมอนุมัติเฉพาะเรื่อง
สั่ง ณ วันที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๑
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ
สมเด็จพระสังฆราช ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม
[1] ประกาศในแถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๕๖ ตอนที่ ๖ : ๒๕ มิถุนายน ๒๕๑๑