คำสั่งมหาเถรสมาคม
เรื่อง ควบคุมการเรื่ยไร
พ.ศ.๒๕๓๙ [1]
——–
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๕ ตรี แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ มหาเถรสมาคมจึงออกคำสั่งไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ คำสั่งมหาเถระสมาคมนี้ เรียกว่า “คำสั่งมหาเถรสมาคม เรื่อง ควบคุมการเรี่ยไร พ.ศ.๒๕๓๙”
ข้อ ๒ คำสั่งมหาเถรสมาคมนี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในแถลงการณ์คณะสงฆ์ เป็นต้นไป
ข้อ ๓ ตั้งแต่วันใช้คำสั่งมหาเถรสมาคมนี้ ให้ยกเลิกคำสั่งมหาเถรสมาคม เรื่องควบคุมการเรี่ยไร พ.ศ.๒๕๒๗
ข้อ ๔ ในคำสั่งนี้ การเรี่ยไร หมายถึง การขอรวมตลอดถึงการซื้อขายแลกเปลี่ยน ชดใช้ หรือบริการ ซึ่งมีการแสดงโดยตรงหรือโดยอ้อม ว่ามิใช่เป็นการซื้อขายแลกเปลี่ยน ชดใช้ หรือบริการ ตามธรรมดา และให้มีความหมายถึง การออกเรี่ยไร การแจกของฎีกา การบอกบุญบนรถโดยสาร การกั้นรถโดยสาร การใช้ยานพาหนะบรรทุกลูกนิมิต พระพุทธรูป ประพรมน้ำพระพุทธมนต์ การตั้งองค์กฐินผ้าป่าตามสถานที่ต่าง ๆ การบอกบุญโดยใช้บาตรจำลอง กระบอกไม้ไผ่ กระป๋องผ้าป่า การโฆษณาบอกบุญทางสถานีวิทยุกระจายเสียง ทางสถานีโทรทัศน์ หรือทางสื่อมวลชนอื่น ๆ เพื่อรวบรวมทรัพย์สินที่ได้มาทั้งหมดหรือบางส่วนไปใช้ในกิจการอย่างใดอย่างหนึ่ง
ข้อ ๕ ห้ามมิให้วัดหรือพระภิกษุสามเณรทำการเรี่ยไร หรือมอบหมายหรือยินยอมให้ผู้อื่นทำการเรี่ยไร ทั้งโดยทางตรงและโดยทางอ้อม เพื่อประโยชน์แก่วัดหรือพระศาสนา หรือเพื่อประโยชน์อย่างอื่นใด แก่ตนหรือผู้อื่น เว้นแต่ในกรณีที่กำหนดไว้ในคำสั่งมหาเถรสมาคมนี้
ข้อ ๖ ในกรณีที่มีการบำเพ็ญกุศลในวัด ซึ่งเป็นงานประจำปี หรืองานพิเศษ ถ้าจะมีการเรี่ยไร การโฆษณาเรี่ยไร และการรับเงิน หรือทรัพย์สินจากการเรี่ยไร ให้กระทำได้เฉพาะภายในบริเวณวัด ห้ามมิให้กระทำนอกบริเวณวัด
ข้อ ๗ ให้มีคณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไร ๒ คณะ
(๑) คณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไรส่วนกลาง ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งตามมติมหาเถรสมาคม มีจำนวนไม่ต่ำกว่า ๕ ไม่เกิน ๙ มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้
(๑.๑) อนุมัติและควบคุมการเรี่ยไรทั่วประเทศ
(๑.๒) อนุมัติและควบคุมการเรี่ยไร ทางสถานีวิทยุ ทางโทรทัศน์ และทางสื่อมวลชนอื่น ๆ
(๑.๓) เพิกถอนการเรี่ยไรทุกประเภทที่ผิดวัตถุประสงค์ หรือไม่เหมาะสม
(๑.๔) ปฏิบัติหน้าที่อื่นเกี่ยวกับการเรี่ยไรตามที่มหาเถรสมคมมอบหมาย
(๒) คณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไรส่วนจังหวัด ซึ่งเจ้าคณะจังหวัดเจ้าสังกัดแต่งตั้ง มีจำนวนไม่ต่ำกว่า ๕ ไม่เกิน ๙ โดยมีเจ้าคณะจังหวัดเป็นประธาน มีอำนาจหน้าที่ดังนี้
(๒.๑) อนุมัติและควบคุมการเรี่ยไรภายในจังหวัด
(๒.๒) อนุมัติและควบคุมการเรี่ยไรของจังหวัดอื่นที่มาขอเรี่ยไรในจังหวัดที่รับผิดชอบ
(๒.๓) เพิกถอนการเรี่ยไรภายในจังหวัดที่ผิดวัตถุประสงค์ หรือไม่เหมาะสม
(๒.๔) ปฏิบัติหน้าที่อื่นเกี่ยวกับการเรี่ยไรที่คณะกรรมการเรี่ยไรส่วนกลาง หรือมหาเภรสมาคมมอบหมาย
ข้อ ๘ ถ้ามีกรณีจำเป็นจะต้องทำการเรี่ยไรนอกบริเวณวัด เพื่อก่อสร้างหรือปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุใด ถาวรวัตถุนั้นต้องได้มีการก่อสร้าง หรือปฏิสังขรณ์ไว้แล้วไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของงานก่อสร้าง หรือปฏิสังขรณ์ทั้งหมด และให้เจ้าอาวาสปฏิบัติดังต่อไปนี้
(๑) ให้รายงานขออนุมัติการเรี่ยไร
(๑.๑) ในกรณีการเรี่ยไรภายในจังหวัด เสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับจนถึงเจ้าคณะอำเภอเจ้าสังกัด เมื่อเจ้าคณะอำเภอเจ้าสังกัดเห็นชอบแล้ว ให้เสนอไปยังคณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไรส่วนจังหวัดพิจารณา โดยผ่านสำนักงานเจ้าคณะจังหวัด
ในกรณีที่มีความประสงค์จะทำการเรี่ยไรข้ามจังหวัด เมื่อได้รับอนุมัติให้ทำการเรี่ยไรภายในจังหวัดแล้ว ให้ทำเรื่องขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไรของจังหวัดที่จะข้ามไปเรี่ยไร โดยผ่านสำนักงานเจ้าคระจังหวัดเจ้าสังกัด
(๑.๒) ในกรณีการเรี่ยไรทั่วประเทศ เสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับจนถึงเจ้าคณะภาคเจ้าสังกัด เมื่อเจ้าคระภาคเจ้าสังกัดพิจารณาเห็นชอบแล้ว ให้เสนอไปยังคณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไรส่วนกลาง เพื่อพิจารณาโดยผ่านสำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม
ในรายงานขออนุมัติทำการเรี่ยไรตามความใน (๑.๑) และ (๑.๒) ให้แสดงรายการก่อสร้างหรือปฏิสังขรณ์ จำนวนเงินหรือทรัพย์สินที่จะทำการเรี่ยไร กำหนดเวลาทำการเรี่ยไรและข้อความที่จะโฆษณาเรี่ยไร
(๒) เมื่อได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไรตามข้อ ๗ (๑) หรือ ข้อ ๗ (๒) แล้ว จึงให้จัดการขออนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการเรี่ยไรต่อไป
(๓) ในกรณีได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการเรี่ยไรแล้ว ห้ามพระภิกษุสามเณรออกทำการเรี่ยไรด้วยตนเอง และต้องปฏิบัติให้ชอบด้วยวิธีการตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการเรี่ยไรทุกประการ
(๔) เมื่อครบกำหนดเวลาที่ได้รับอนุญาตให้ทำการเรี่ยไรแล้ว ให้รายงานยอดรายรับรายจ่าย เงินและทรัพย์สินในการเรี่ยไรเสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับ จนถึงคณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไรตามข้อ ๗ (๑) หรือ ข้อ ๗ (๒) ที่อนุญาต ผ่านสำนักงานเจ้าคณะจังหวัดเจ้าสังกัด หรือสำนักงานเลขาธิการมหาเถรสมาคมแล้วแต่กรณี เมื่อได้ใช้จ่ายเงินหรือทรัพย์สินไปในการก่อสร้างหรือปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุนั้นเสร็จแล้ว ก็ให้รายงานตามลำดับดังกล่าวข้างต้น
ข้อ ๙ พระภิกษุสามเณรรูปใดฝ่าฝืนคำสั่ง่มหาเถรสมาคม
(๑) ถ้ามิได้เป็นพระสังฆาธิการ
(๑.๑) เมื่อเจ้าอาวาสเจ้าสังกัดได้ทราบความผิดนั้นแล้ว ให้จัดการให้พระภิกษุสามเณรรูปนั้นออกไปเสียจากวัด หากไม่ยอมออก เป็นการขัดคำสั่งของเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญา ให้ขออรักขาจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมือง และให้บันทึกเหตุที่ให้ออกนั้นในหนังสือสุทธิด้วย หรือ
(๑.๒) เมื่อเจ้าคณะในเขตที่ความผิดนั้นเกิดขึ้นได้ทราบความผิดนั้นแล้ว ถ้าผู้ฝ่าฝืนมีสังกัดอยู่ในจังหวัดเดียวกัน ให้แจ้งแก่เจ้าอาวาสผ่านเจ้าคณะจังหวัดเจ้าสังกัด แต่ถ้ามีสังกัดอยู่ต่างจังหวัด ให้แจ้งแก่เจ้าอาวาสผ่านเจ้าคณะภาคเจ้าสังกัด เพื่อดำเนินการตามความใน (๑.๑)
(๒) ถ้าเป็นพระสังฆาธิการ ให้เจ้าคณะเจ้าสังกัดพิจารณาลงโทษฐานละเมิดจริยาพระสังฆาธิการตามควรแก่กรณี แต่ถ้าพระส้งฆาธิการได้กระทำผิดในเขตจังหวัดที่ตนมิได้สังกัดอยู่ ให้เจ้าคณะในเขตที่ความผิดนั้นเกิดขึ้นแจ้งแก่เจ้าคระเจ้าสังกัดของผู้กระทำผิดเพื่อดำเนินการดังนี้
(๒.๑) ในกรุงเทพมหานคร ให้แจ้งแก่เจ้าคณะกรุงเทพมหานคร
(๒.๒) ในจังหวัดอื่น ให้แจ้งแก่เจ้าคณะจังหวัด หรือเจ้าคณะภาค แล้วแต่จะเห็นสมควร
(๒.๓) ถ้าปรากฏว่าความผิดตามกรณี (๑) หรือ (๒) เป็นความผิดอาญาด้วย ย่อมจะมีโทษตามกฎหมายอีกต่างหากจากโทษที่ได้รับจากเจ้าอาวาสหรือเจ้าคณะเจ้าสังกัด
ข้อ ๑๐ คำสั่งมหาเถรสมาคมนี้ มิให้ใช้บังคับแก่การเรี่ยไร ดังต่อไปนี้
(๑) การเรี่ยไรในทางการคณะสงฆ์ หรือ
(๒) การเรี่ยไรที่มหาเถรสมาคมอนุมัติเฉพาะเรื่อง
สั่ง ณ วันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๓๙
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม
[1] ประกาศในแถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๘๔ ตอนที่ ๘ : ๒๕ สิงหาคม ๒๕๓๙
Views: 502