คำสั่งมหาเถรสมาคม เรื่อง กำหนดเขตอภัยทานในพื้นที่วัด พ.ศ. ๒๕๒๗

คำสั่งมหาเถรสมาคม

เรื่อง กำหนดเขตอภัยทานในพื้นที่วัด

พ.ศ. ๒๕๒๗[1]

——————

        อาศัยอาจตามความในมาตรา ๑๘  แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ มหาเถรสมาคมจึงออกคำสั่งไว้ ดังต่อไปนี้

        ข้อ ๑. คำสั่งมหาเถรสมาคมนี้ เรียกว่า “คำสั่งมหาเถรสมาคม เรื่อง กำหนดเขตอภัยทานในพื้นที่วัด พ.ศ. ๒๕๒๗”

        ข้อ ๒. คำสั่งมหาเถรสมาคมนี้  ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในแถลงการณ์คณะสงฆ์ เป็นต้นไป

        ข้อ ๓. การกำหนดเขตอภัยทานขึ้นไว้โดยความมุ่งหมายเพื่อให้เป็นที่อาศัยอยู่ของสัตว์บกสัตว์น้ำ ตลอดถึงปักษีทวิชาติที่ไม่เป็นพิษเป็นภัย ได้อาศัยด้วยความร่มเย็นเป็นสุข ปราศจากการถูกเบียดเบียนหรือรบการด้วยประการใด ๆ

        ข้อ ๔ การกำหนดเขตอภัยทาน ให้กำหนดในเขตสังฆาวาสและพุทธาวาส หรือในเขตอยู่จำพรรษาที่ทางวัดประกาศกำหนดไว้ว่าเป็นเขตรับอรุณในเวลาเข้าพรรษา

        ข้อ ๕ ให้เป็นหน้าที่ของวัดหรือเจ้าอาวาสจะจัดทำป้ายบอกเขตอภัยทาน ซึ่งมีขนาดกว้างไม่ต่ำกว่า ๓๐ เซ็นติเมตร และมีขนาดความยาวไม่ต่ำกว่า ๗๐ เซ็นติเมตร และที่แผ่นป้ายนั้น ให้มีหนังสือถาวรบอกให้ชัดเจนว่า “เขตอภัยทาน”

        ข้อ ๖ ในวัดที่ไม่มีแม่น้ำลำคลองผ่านตลิ่งของวัด ให้ติดแผ่นป้ายไว้สุดเขตพื้นที่ตามที่กล่าวไว้ในข้อ ๔ ทางทิศตะวันออก ทิศตะวันตกหรือทิศเหนือ ทิศใต้ สุดแต่ทางวัดจะพิจารณาเห็นว่าทางทิศใดบ้างเป็นทางสัญจรไปมาของประชาชน ให้ติดป้ายไว้เพียง ๒ ป้ายก็พอ แต่ทางวัดเห็นว่า ควรจะติดป้ายไว้ทั้ง ๔ ทิศ ก็ย่อมกระทำได้

        ข้อ ๗ ในวัดที่มีแม่น้ำลำคลองผ่านตลิ่งของวัด ทางหน้าวัดหรือทางข้างวัด ให้ติดแผ่นป้ายไว้ที่เขตหน้าวัด และหรือเขตข้างวัดแล้วแต่กรณีไม่ต่ำกว่า ๒ แผ่นป้าย และให้ติดแผ่นป้ายในเขตบนบกอีกส่วนหนึ่งต่างหาก จะเป็นจำนวนแผ่นป้ายเดียวหรือสองแผ่นป้าย สุดแต่ทางวัดจะพิจารณาเห็นสมควร

        ข้อ ๘ ให้ติดแผ่นป้ายไว้ที่เสา ที่ต้นไม้หรือที่อื่นใดอันมั่นคง ไม่สูงเกิน ใม่ต่ำเกิน มีความสูงต่ำพอที่ประชาชนจะเห็นได้โดยสะดวก

        ข้อ ๙ เขตอภัยทานบนฝั่งแม่น้ำลำคลอง เป็นเครื่องหมายบอกบ่งให้รู้ว่า ภายในแม่นำลำคลองตลอดเขตอภัยทานนั้น นับจากตลิ่งหรือฝั่ง ออกไปไม่เกิน ๓ วา (อุทกุกเขป) จะเป็นที่อยู่อย่างปลอดภัยของฝูงปลามัจฉาชาตินานาพันธุ์ จะไม่ถูกเบียดเบียนรบกวนด้วยประการใด ๆ จากประชาชน นอกจากนั้น ยังอาจได้อาศัยอาหารหากินจากผู้มีเมตตากรุณาคือภิกษุสามเณรและประชาชนผู้ใจบุญทั้งหลายตามสมควร

        ข้อ ๑๐ ให้เป็นหน้าที่ของวัดนั้น จะแนะนำชักชวนขอร้องประชาชนในหมู่บ้านนั้น ตำบลนั้นหรืแม้ในที่อื่น ให้เห็นความสำคัญของเขตอภัยทาน แล้วให้ความสนับสนุนโดยไม่รบกวนเบียดเบียนสัตว์บก สัตว์น้ำหรือหมู่นกที่อาศัยอยู่ในเขตอภัยทาน

        ข้อ ๑๑ วัดใดมีเขตอภัยทานอยู่บนฝั่งแม่น้ำลำคลอง และมีฝูงปลาอาศัยอยู่ในวัดนั้นรายงานไปยังเจ้าคณะตำบลเจ้าสังกัด โดยแจ้งชื่อวัด ตำบล อำเภอ จังหวัด และถ้าสามารถแจ้งประเภทปลาแต่ละชนิดใด้ให้รายงายด้วย

        เมื่อเจ้าคณะตำบลได้รายงานเจ้าอาวาสแล้ว ให้จัดทำบัญชีรายชื่อที่ได้รับรายงานนั้น ส่งเจ้าคณะอำเภอเจ้าสังกัด ให้เจ้าคณะอำเภอส่งบัญชีรายชื่อวัดนั้นไปยังเจ้าคณะจังหวัดเจ้าสังกัด เจ้าคณะจังหวัดส่งบัญชีนั้นไปยังเจ้าคณะภาคเจ้าสังกัด และให้รวมไว้ที่เจ้าคณะภาค เพื่อประโยชน์แก่การสถิติ

        อนึ่ง การส่งบัญชีวัดไปยังเจ้าคณะสังกัด มิให้เกินเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๘ แต่ถ้าวัดใด ๆ ในปีต่อ ๆ มา  มีฝูงปลาอาศัยอยู่ในเขตอภัยทานบนฝั่งในวัดนั้น รายงานตามลำดับจนถึงเจ้าคณะภาคเจ้าสังกัด มิให้เกินเดือนมีนาคมของปีถัดไป จากปี พ.ศ. ๒๕๒๘

        ข้อ ๑๒ ให้เจ้าคณะภาคเจ้าสังกัดรับผิดชอบในการปฏิบัติงานตามคำสั่งมหาเถรสมาคมนี้ ในการที่จะชี้แจงแนะนำและสั่งการแก่เจ้าคณะอาวาสในสังกัด  หากมีปัญหาในตัวบทหรือในทางปฏิบัติตามคำสั่งมหาเถรสมาคมนี้ ให้นำเสนอมหาเถรสมาคมเพื่อพิจารณา

        สั่ง ณ วันที่ ๑๗  ตุลาคม  พ.ศ  ๒๕๒๗

(สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ)

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก


[1] ลงในแถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๗๒   ตอนที่ ๑๑  :  ๒๕  พฤศจิกายน   ๒๕๒๗

Views: 54