ประกาศมหาเถรสมาคม
เรื่อง การจัดตั้งทุนสงเคราะห์นักเรียนชั้นประถมศึกษา[1]
—————-
นับแต่สมัยโบรานมา วัดวาอารามเป็นแหล่งเล่าเรียนศึกษาวิชา หนังสือศิลปศาสตร์อย่างอื่นของกุลบุตรในแถวถิ่นนั้น ๆ และถิ่นอื่น ดังนั้นวัดวาอารามโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือพระภิกษุสงฆ์ จึงควรแก่การยกย่องเชิดชูว่าเป็นผู้เสริมสร้างพุทธิศึกษา จริยศึกษา หัตถศึกษาตลอดลงไปถึงพลศึกษาบางประการแก่กุลบุตร ตามควรแก่กำลังความสามารถของแต่ละท่าน ตลอดระยะเวลาอันยาวนาน ครั้นถึงยุคพัฒนาการศึกษาเล่าเรียนให้เหมาะสมแก่กาลสมัย การเล่าเรียนศึกษาของกุลบุตรจึงค่อย ๆ เคลื่อนย้ายจากวัดออกไปสู่วงการภายนอก กล่าวคือเคลื่อนจากการอยู่ในความรับผิดชอบของพระภิกษุสงฆ์ ไปอยู่ในความรับผิดชอบของครูบาอาจารย์ ซึ่งเป็นบุคคลของรัฐแผ่วงกว้างออกไปตามกาลเวลา ทั้งนี้นับว่าเป็นการสมควรและสมควรยิงนัก เพราะรัฐจะต้องเข้ามามีส่วนรับผิดชอบโดยตรง ในการให้การศึกษาแก่กุลบุตรกุลธิดา ตลอดถึงประชาชน เพื่อผลคือความเจริญรุ่งเรืองและความมั่นคงของประเทศชาติราชอาณาจักรเป็นส่วนรวม
แม้กระนั้นก็ดี วัดวาอารามโดยพระภิกษุสงฆ์ซึ่งมีเจ้าอาวาสแห่งวัดนั้น ๆ เป็นประธาน หาได้ปล่อยปละละเลยหรือตัดญาติขาดไมตรีไม่ ยังมีเมตตากรุณาในมโนธรรม ติดตามสงเคราะห์การเล่าเรียนศึกษาของกุลบุตรกุลธิดาในรูปแบบต่าง ๆ ด้วยกุศลจิต กล่าวคือ อนุญาตให้ใช้อาคารสถาสที่ในวัดเป็นโรงเรียนบ้าง ช่วยสร้างหรือมีการช่วยสร้างโรงเรียนบ้าง ช่วยหาอุปกรณ์การศึกษาต่าง ๆ สำหรับโรงเรียนบ้าง ช่วยสงเคาระห์นักเรียนเป็นส่วนเฉพาะบุคคลก็มี เป็นส่วนคณะบุคคลก็มี เป็นส่วนทั้งหมดก็มี ได้ทราบมาว่าท่านเจ้าอาวาสได้ขวนขวายจัดตั้งทุนเพื่อสงเคราะห์กุลบุตรกุลธิดาที่กำลังเล่าเรียนศึกษาก็มี กรณียกิจต่าง ๆ อันสืบเนื่องมาจากเมตตากรุณาดังกล่าวโดยย่อนี้ เป็นสักขีพยานให้เห็นว่าวัดวาอารามมิได้ทอดทิ้งในส่วนที่เกี่ยวด้วยการเล่าเรียนศึกษากุลบุตรกุลธิดาในท้องถิ่นนั้นๆ จึงควรแก่การอนุโมทนาสาธุการเป็นอย่างยิ่ง
จากข้อมูลต่าง ๆ ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น จึงพิจารณาเห็นว่า หากวัดทั้งหลายในราชอาณาจักรจะขยายวงกุศลฉันทะในส่วนที่เกี่ยวด้วยการศึกษาให้กว้างขวางและมั่นคงยิ่งขึ้นไปอีกประการหนึ่ง กล่าวคือ การสงเคราะห์นักเรียนชั้นประถมศีกษาในรูปแบบการจัดตั้งทุนไว้เพื่อนำผลประโยชน์มาสงเคราะห์นักเรียน ก็จะเป็นมหากุศลอันยั่งยืนถาวรและเป็นการเหมาะสมยิ่งนัก ทั้งเป็นการแสดงออกให้เห็นว่า วัดวาอารามโดยพระภิกษุสงฆ์ซึ่งมีเจ้าอาวาสเป็นประธาน มิได้เมินเฉยเลยละหรือทอดทิ้งเรื่องเกี่ยวด้วยการเล่าเรียนศึกษาของกุลบุตรกุลธิดา เป็นอันได้ชื่อว่าช่วยกันรักาซึ่งจารีตดั่งเดิมของวัดวาอารามไว้ แม้จะมิใช่รักษาไว้โดยตรง ก็ยังได้ชื่อว่าช่วยกันรักษาไว้โดยอ้อม นับเป็นความดีอย่างยิ่งสำหรับในส่วนการตั้งทุนสงเคราะห์นักเรียนนั้น ตามโครงการเต็มรูปกำหนดไว้เป็น ๓ ภาค คือ
๑. ภาคสามัญ สำหรับสงเคราะห์นักเรียนชั้นประถมศึกษา
๒. ภาควิสามัญ สำหรับสงเคราะห์นักเรียนชั้นมัธยมศึกษา
๓. ภาควิสามัญพิเศษ สำหรับสงเคราะห์นักเรียนชั้นอุดมศึกษา
และในแต่ละภาคแบ่งออกเป็น ๕ ประเภท ตามจำนวนทุนที่กำหนดไว้แต่ละประเภท
แต่ตามประกาศมหาเถรสมาคมฉบับนี้ มุ่งเฉพาะการตั้งทุนภาคสามัญก่อน การตั้งทุนภาคสามัญนี้ การดำเนินงานอยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริหารทุนคณะหนึ่ง ซึ่งมีเจ้าอาวาสวัดนั้น ๆ เป็นประธานโดยตำแหน่ง มีหน้าที่ในการแสวงหาการรักษา และการใช้จ่ายในเรื่องเกี่ยวกับทุน ส่วนวิธีดำเนินงานต่าง ๆ ให้เป็นไปตามข้อสัญญัติที่มหาเถรสมาคมกำหนดขึ้นไว้ท้ายประกาศมหาเถรสามคมฉบับนี้
อนึ่ง เพื่อให้วัดทั้งหลายอุ่นใจในการดำเนินงานเกี่ยวกับการตั้งทุนมหาเถรสมาคมจะได้แต่งตั้งกรรมการกลางขึ้นคณะหนึ่ง ให้มีหน้าที่คอยให้คำชั้แจงแนะนำและแก้ไขข้อขัดข้องซึ่งอางพึงมีเกี่ยวกับการตั้งทุน และวิธีดำเนินงาน
เพราะฉะนั้น จึงขออาราธนาเชิญชวนวัดทั้งหลายปลูกกุศลฉันทะหรือเพิ่มพูนกุศลฉันทะในการจัดตั้งทุนสงเคราะห์นักเรียนชั้นประถมศึกษาตามกำลังศรัทธาปสาทะและความสามารถโดยทั่วกัน เป็นการยืนยันให้ประจักษ์อีกครั้งหนึ่งว่า ทางวัดวาอารามมอได้เพิกเฉยเลยละ หรือทอดทิ้งในเรื่องเกี่ยวกับการกับอุปถัมภ์ค้ำชูการเล่าเรียนศึกษาของกุลบุตรกุลธิดา เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและพระศาสนาร่วมกัน.
ประกาศ ณ วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๗
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม
[1] ประกาศในแถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๗๓ ตอนที่ ๑ : ๒๕ มกราคม ๒๕๒๘