ข้อสัญญัติ ในการตั้งทุนสงเคราะห์แก่นักเรียนชั้นประถมศึกษา

ข้อสัญญัติ

ในการตั้งทุนสงเคราะห์แก่นักเรียนชั้นประถมศึกษา[1]

————-

      อาศัยข้อความตามประกาศมหาเถรสมาคม เรื่องการตั้งทุนสงเคราะห์นักเรียนชั้นประถมศึกษา ที่ได้ประกาศไว้ ณ วันที่ ๑ เดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๗ ตอนที่แจ้งไว้ว่าการดำเนินงานเรื่องการตั้งทุนนั้น ให้เป็นไปตามข้อสัญญัติท้ายประกาศ จึงให้ข้อสัญญัติในเรื่องการตั้งทุนไว้ดังต่อไปนี้

      ข้อ ๑ การตั้งทุนสงเคราะห์นักเรียนชั้นประถมศึกษา ให้เป็นไปตามกุศลเจตนาของวัดทั้งหลายที่มีกำลังและสามารถจะจัดจะทำได้ มิให้มีการบังคับด้วยประการใด ๆ

         ข้อ ๒ ห้ามมิให้นำเงินการกุศล หรือเงินผลประโยชน์ หรือเงินอื่นใดของวัดมาจัดตั้งทุนเพื่อการนี้

      ข้อ ๓ ห้ามมิให้วัดกู้ยืมเงินมาจัดตั้งเป็นทุน ไม่ว่าจะเป็นการตั้งทุนชั่วคราวหรือการตั้งทุนถาวร

      ข้อ ๔ การจัดตั้งทุนภาคสามัญสำหรับสงเคราะห์นักเรียนชั้นประถมศึกษา แบ่งออกเป็น ๕ ประเภท แต่ละประเภทมีจำนวนเงินตั้งทุนสูงต่ำกว่ากันตามลำดับ คือ

      ประเภท  ก เงินทุนไม่ต่ำกว่า จำนวน           ๑๕,๐๐๐  บาท

      ประเภท     ข          ”          ”                ๑๒,๐๐๐  บาท

      ประเภท     ค          ”          ”                  ๙,๐๐๐  บาท

      ประเภท     ง          ”          ”                   ๖,๐๐๐  บาท

      ประเภท     จ          ”           ”                   ๓,๐๐๐  บาท

      จำนวนเงินทุนแต่ละประเภท ให้เลื่อนจากประเภทต่ำขึ้นเป็นทุนประเภทสูงได้ตามจำนวนเงินที่กำหนดไว้แต่ละประเภท

      ข้อ ๕  วัดใดมีกุศสจิตจะตั้งทุนประเภทใดประเภทหนึ่ง   ในจำนวน  ๕  ประเภท  ห้ามมิให้ทำการเรี่ยไรจากบุคคลภายนอก  เว้นแต่การบอกบุญแก่ทายก  ทายิกาแห่งวัดนั้น  หรือแก่บุคลที่ตนรู้จักมักคุ้นและมีศรัทธา

      ข้อ ๖ การรับเงินบริจาคเพื่อต้นทุนทุกประเภท  ต้องมีหลักฐานการรับหากมีการบริจาคเฉพาะราย  หรือเฉพาะบุคคล  ต้องมีใบอนุโมทนามอบให้แก่ผู้บริจาคด้วย

      ข้อ  ๗  เงินทุนที่ผู้บริจาค  ทางวัดจะเก็บรักษาไว้ใด้ไม่เกิน ๕๐๐.-บาท  หากเกิน ๕๐๐.-  บาท  มิให้วัดเก็บรักษาไว้

      ข้อ  ๘   เงินทุนทุกประเภท  เมื่อเกินจำนวนที่กำหนดไว้ในข้อ ๗ แล้วให้ทางวัดนำฝากธนาคารออมสิน  หรือธนาคารพาณิชย์  ในนามของทุนสงเคราะห์นักเรียนชั้นประถมศึกษาวัด…………………………….และให้ฝากเป็นประเภทรายปี  ในเมื่อมีเงินทุนครบจำนวนแต่ละประเภทแล้วเพื่อนำผลประโยชน์มาสงเคราะห์นักเรียนตามวัดถุประสงค์ต่อไป

      ข้อ  ๙   ในการนำเงินทุนฝากธนาคาร  หากต้องการนำฝากเป็นคราว ๆ  จะฝากในรูปแบบใดก็ตามซึ่งมิใช่ประเภทรายปี  เมื่อมีจำนวนเงินครบตามประเภททุนที่กำหนดไว้แล้ว  ให้ถอนเงินที่ฝากไว้แต่ละคราวมารวมตั้งต้นฝากใหม่  เป็นวันเดียวกัน  ประเภทรายปี  เพื่อนำผลประโยชน์มาใช้เป็นกลุ่มก้อนได้พร้อมกัน

      ข้อ  ๑๐  ห้ามมิให้ใช้จ่ายทุนทุกประเภท  ไม่ว่าด้วยกรณีใด ๆ  ให้ใช้จ่ายได้เฉพาะผลประโยชน์ที่เกิดจากทุนตามวัตถุประสงค์เท่านั้น  เว้นแต่วัดใดที่เริ่มจัดตั้งทุนภายในกำหนดแล้ว  แต่ไม่สามารถหาทุนเพิ่มเติมให้ครบจำนวนได้ตามประเภทที่เริ่มตั้งไว้  ภายในปี พ.ศ.๒๕๒๘  ให้จ่ายทุนนั้นสงเคราะห์นักเรียนชั้นประถมศึกษาทั้งหมด  จะเป็นจำนวนคนละเท่าใดสุดแต่คณะกรรมการบริหารทุน ฯ  ของวัดนั้นจะพิจารณาตามที่เห็นสมควรโดยแจ้งให้ทายก  ทายิกาแห่งวัดนั้นทราบก่อน 

      ข้อ  ๑๑   การนำจ่ายเงินผลประโยชน์แต่ละประเภทเพื่อสงเคราะห์นักเรียนให้มอบแก่นักเรียนในโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในวัดนั้น  เว้นแต่ในวัดนั้นไม่มีโรงเรียนตั้งอยู่  ให้มอบให้แก่นักเรียนในโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในที่ใกล้วัด  หากโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในที่ใกล้วัดไม่มี ให้มอบแก่นักเรียนในโรงเรียนอื่น  ตามที่วัดอื่นหรือตามที่โรงเรียนอื่นขอทุนสงเคราะห์มา  ทั้งนี้ สุดแต่คณะกรรมการบริหารทุน ฯ  จะพิจารณาเห็นสมควรว่าจะจ่ายให้แก่นักเรียนในโรงเรียนใด

      ข้อ   ๑๒   การมอบเงินผลประโยชน์ให้แก่นักเรียน  กำหนดปีละครั้งให้มอบแก่นักเรียนคนละไม่ต่ำกว่า  ๓๐๐ บาท  และไม่เกิน ๕๐๐ บาท และนักเรียนที่จะได้รับมอบจะต้องเป็นนักเรียนที่มีคุณสมบัติ  คือ เรียนดีมีความประพฤติดีเป็นอย่างน้อย  และขาดทุนทรัพย์  โดยขอให้ทางโรงเรียนพิจารณาคัดเลือกนักเรียนที่อยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับสงเคราะห์  เสนอมายังคณะกรรมการบริหารทุน  ฯ  เพื่อพิจารณา

      นักเรียนที่ได้รับทุนปีหนึ่งแล้ว  มีสิทธิที่จะได้รับทุนในปีต่อไปได้อีก  หากยังไม่ขาดคุณสมบัติดังกล่าวในวรรดต้น

      ข้อ  ๑๓   ให้มีกรรมการคณะหนึ่ง  เรียกชื่อว่า  คณะกรรมการทุนสงเคราะห์นักเรียนชั้นประถมศึกษา  วัด…………………..เรียกชื่อย่อว่า  คณธกรรมการบริหารทุน ฯ  วัด………………………มีหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามข้อสัญญัตินี้

      ข้อ   ๑๔   คณะกรรมการดังกล่าวในข้อ  ๑๓  มีจำนวนไม่ต่ำกว่า  ๕  ท่านและไม่เกิน  ๗  ท่าน  มีเจ้าอาวาสแห่งวัดนั้นเป็นประธานโดยตำแหน่ง  ส่วนกรรมการนอกนั้นให้เจ้าอาวาสพิจารณาคัดเลือกพระภิกษุในวัดนั้น  และทายกทายิกาแห่งวัดนั้นนเข้าร่วมเป็นกรรมการ  กรรมการที่ได้รับการพิจารณาคัดเลือกเข้าร่วม  มีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละ ๒  ปี  เมื่อพ้นวาระแล้วอาจได้รับพิจารณาคัดเลือกเข้าร่วมเป็นกรรมการอีกได้                                    

      อนึ่ง ให้มีกรรมการผู้หนึ่งในจำนวนกรรมการทั้งหมดเป็นเลขานุการ ของคณะกรรมการตามข้อเสนอของประธานกรรมการและเลขานุการเป็นผู้นั้นมีหน้าที่นัดประชุมกรรมการ  ทำรายงานการประชุม  และติดต่อประสานงานกับบุคคลภายนอกตามคำสั่งของประธานหรือของคณะกรรมการ

      ข้อ  ๑๕   การประชุมคณะกรรมการทุกคราว  ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่ต่ำกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการ  จึงเป็นองค์ประชุมได้

      ข้อ  ๑๖   มติของที่ประชุมคณธกรรมการ  ให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นประมาณ  ถ้ามีเสียงจำนวนเท่ากัน  ให้ประธานในที่ประขุมเป็นผู้ชี้ขาด  หรื่อจะให้ระงับเรื่องนั้นไว้ก่อนก็ได้.

                   ให้ไว้  ณ  วันที่  ๑  ตุลาคม  พ.ศ. ๒๕๒๗

(สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ)

สมเด็จพระสังฆราช  สกลมหาสังฆปริณายก

ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม


[1] ลงในแถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๗๓  ตอนที่ ๑ : ๒๕  มกราคม  ๒๕๒๘