ส่วนที่ ๕
จริยาพระสังฆาธิการ
————-
จริยาพระสังฆาธิการ หมายถึงข้อที่พระสังฆาธิการต้องปฏิบัติตาม บัญญัติไว้เพื่อเป็นหลักควบคุมพระสังฆาธิการ โดยมีบทบัญญัติดังนี้
๑. จริยา
“ข้อ ๔๔ พระสังฆาธิการต้องเคารพเอื้อเฟื้อต่อกฎหมาย พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ กฎกระทรวง กฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง มติ ประกาศ พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช สังวรและปฏิบัติตามพระธรรมวินัยโดยเคร่งครัด
ข้อ ๔๕ พระสังฆาธิการต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาซึ่งสั่งโดยชอบด้วยอำนาจหน้าที่ ถ้าไม่เห็นพ้องด้วยคำสั่งนั้น ให้เสนอความเห็นทัดทานเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่ได้รับทราบคำสั่ง และเมื่อได้ทัดทานดังกล่าวมานั้นแล้ว แต่ผู้สั่งมิได้ถอนหรือแก้คำสั่งนั้น ถ้าคำสั่งนั้นไม่ผิดพระวินัยต้องปฏิบัติตาม แล้วรายงานจนถึงผู้สั่ง
ในกรณีที่มีการทัดทานคำสั่งดังกล่าวในวรรคแรก ให้ผู้สั่งรายงานเรื่องทั้งหมดไปยังผู้บังคับบัญชาเหนือตนเพื่อพิจารณาสั่งการ
ในการปฏิบัติหน้าที่ ห้ามทำข้ามผู้บังคับบัญชาเหนือตน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตพิเศษเป็นครั้งคราว
ข้อ ๔๖ พระสังฆาธิการต้องตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวัง มิให้เกิดความเสียหายแก่การคณะสงฆ์และการพระศาสนา และห้ามมิให้ละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควร
ข้อ ๔๗ พระสังฆาธิการต้องปฏิบัติหน้าที่โดยชอบ และห้ามมิให้ใช้อำนาจหน้าที่ในทางที่ไม่สมควร
ข้อ ๔๘ พระสังฆาธิการต้องสุภาพเรียบร้อยต่อผู้บังคับบัญชาเหนือตนและผู้อยู่ในปกครอง
ข้อ ๔๙ พระสังฆาธิการต้องรักษาส่งเสริมสามัคคีในหมู่คณะ และช่วยเหลือซึ่งกันและกันในทางที่ชอบ
ข้อ ๕๐ พระสังฆาธิการต้องอำนวยความสะดวกในหน้าที่การคณะสงฆ์และการพระศาสนา
ข้อ ๕๑ พระสังฆาธิการต้องรักษาข้อความอันเกี่ยวกับการคณะสงฆ์ที่ยังไม่ควรเปิดเผย”
ทั้ง ๘ ข้อนี้ เป็นตัวจริยาอันพระสังฆาธิการต้องปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด เพราะละเมิดแล้ว ย่อมได้รับโทษฐานละเมิดจริยา
๒. การรักษาจริยา
นอกจากจะบัญญัติให้พระสังฆาธิการต้องรับปฏิบัติตามกล่าว คือต้องรักษาจริยาสำหรับตัวเองแล้ว ยังบัญญัติให้ผู้บังคับบัญชาตามลำดับคอยควบคุมและพิจารณาลงโทษในเมื่อผู้ใต้บังคับบัญชาละเมิดจริยา ดังบทบัญญัติข้อ ๕๒ และ ๕๓
“ข้อ ๕๒ ให้ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น มีหน้าที่ควบคุม ดูแล แนะนำ ชี้แจง หรือสั่งให้ผู้อยู่ในบังคับบัญชาปฏิบัติตามจริยาโดยเคร่งครัด
ถ้าผู้บังคับบัญชารู้อยู่ว่า ผู้อยู่ในบังคับบัญชาละเมิดจริยา ต้องพิจารณาว่า ความละเมิดของผู้อยู่ในบังคับบัญชานั้น อยู่ในอำนาจที่ตนจะสั่งลงโทษได้หรือไม่ ถ้าอยู่ในอำนาจที่ตนจะสั่งลงโทษได้ ก็ให้สั่งลงโทษ แล้วรายงานไปยังผู้บังคับบัญชาเหนือตน ถ้าเห็นว่าความละเมิดนั้น ควรจะลงโทษหนักกว่าที่ตนมีอำนาจที่จะสั่งลงโทษได้ ก็ให้รายงานผู้บังคับบัญชาเหนือตนขึ้นไป เพื่อพิจารณาสั่งลงโทษตามควร
ผู้บังคับบัญชารูปใด ไม่จัดการลงโทษผู้อยู่ในบังคับบัญชาที่ละเมิดจริยาหรือจัด การลงโทษโดยไม่สุจริต ให้ถือว่าผู้บังคับบัญชารูปนั้นละเมิดจริยา
ข้อ ๕๓ พระสังฆาธิการรูปใด ถูกผู้บังคับบัญชาสั่งลงโทษฐานละเมิดจริยาต้องปฏิบัติตามทันที ถ้าเห็นว่าคำสั่งลงโทษไม่เป็นธรรม ก็มีสิทธิร้องทุกข์ได้ตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในระเบียบมหาเถรสมาคมว่าด้วยการร้องทุกข์ แต่ถ้าปรากฏว่าเป็นการร้องทุกข์เท็จ ให้ถือว่าเป็นการละเมิดจริยาอย่างร้ายแรง”
๓. โทษฐานละเมิดจริยา
โทษที่พระสังฆาธิการจะพึงได้รับ เพราะละเมิดจริยา มีหนักเบากว่ากันตามความละเมิด ตามความในข้อ ๕๔ ดังนี้
“ข้อ ๕๔ พระสังฆาธิการรูปใดประพฤติละเมิดจริยา ต้องได้รับโทษฐานละเมิดจริยาอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
(๑) ถอดถอนจากตำแหน่งหน้าที่
(๒) ปลดจากตำแหน่งหน้าที่
(๓) ตำหนิโทษ
(๔) ภาคทัณฑ์”
๔. การถอดถอนจากตำแหน่งหน้าที่
การถอดถอนจากตำแหน่งหน้าที่ ต้องยึดหลักเกณฑ์และวิธีการตามความในข้อ ๕๕ ดังนี้
“ข้อ ๕๕ การถอดถอนจากตำแหน่งหน้าที่นั้น จะทำได้ต่อเมื่อพระสังฆาธิการละเมิดจริยาอย่างร้ายแรง แม้ข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้
(๑) ทุจริตต่อหน้าที่
(๒) ละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุผลอันสมควรเกินกว่า ๓๐ วัน
(๓) ขัดคำสั่งอันชอบด้วยการคณะสงฆ์ และการขัดคำสั่งนั้นเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่การคณะสงฆ์
(๔) ประมาทเลินเล่อในหน้าที่เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่การคณะสงฆ์
(๕) ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง
ในกรณีเช่นนี้ ให้ผู้บังคับบัญชาใกล้ชิดรายงานตามลำดับจนถึงผู้มีอำนาจแต่งตั้ง เมื่อได้สอบสวนและได้ความจริงตามรายงานนั้นแล้ว ให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งสั่งถอดถอนจากตำแหน่งหน้าที่ได้”