บทที่ ๓ เลขานุการ

บทที่ ๓

เลขานุการ

————–

        เลขานุการทางคณะสงฆ์  เป็นตำแหน่งซึ่งบัญญัติไว้ในกฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ ๒๓ และบัญญัติหน้าที่ไว้ว่า “ทำหน้าที่การเลขานุการ” เจ้าคณะชั้นตำบล อำเภอ  จังหวัด ภาค หน เป็นตำแหน่งที่มีปริมาณงานมากและขอบเขตกว้างขวาง งานซึ่งเกี่ยว กับการเลขานุการย่อมมีมาก  ต้องจัดผู้ทำหน้าที่ไว้โดยตรง  ท่านบัญญัติให้เลขานุการมีเฉพาะหน้าที่  มิได้ให้มีอำนาจดังเช่นตำแหน่งอื่น  แม้เจ้าคณะจะมอบหมายอำนาจ  ก็หามีอำนาจตามที่มอบหมายไม่  จึงแตกต่างจากตำแหน่งรองเจ้าคณะ  รองเจ้าอาวาส  และผู้ช่วยเจ้าอาวาส  ซึ่งตำแหน่งรองเจ้าคณะเป็นต้นนี้  ตามปกติเป็นตำแหน่งไม่มีอำนาจหน้าที่  แต่เมื่อเจ้าคณะหรือเจ้าอาวาสมอบหมายแล้ว  ย่อมมีอำนาจหน้าที่อย่างสมบูรณ์  เพราะเป็นตำแหน่งพระสังฆาธิการ  บัญญัติไว้เพื่อใช้อำนาจหน้าที่ช่วยผู้บังคับ บัญชาโดยตรง  ส่วนตำแหน่งเลขานุการนั้น  มิได้บัญญัติให้เป็นพระสังฆาธิการ  บัญญัติให้มีเฉพาะหน้าที่และมีขึ้นโดยมิต้องมอบหมาย ถ้าดูเพียงผิวเผิน จะเข้าใจว่า เลขานุการเป็นตำแหน่งที่ไม่มีความสำคัญ เพราะไม่เป็นพระสังฆาธิการ จะเอาตำแหน่งเป็นฐานพิจารณาความชอบดังเช่นตำแหน่งรองเจ้าคณะ รองเจ้าอาวาสและผู้ช่วยเจ้าอาวาสก็มิได้  แต่ถ้าได้พิจารณาโดยโยนิโสมนสิการแล้ว  จะเห็นว่า  เลขานุการเป็นตำแหน่งที่มีความ สำคัญต่องานคณะสงฆ์เป็นอย่างยิ่ง ถึงมิใช่ตำแหน่งที่เป็นฐานพิจารณาความชอบโดย ตรง  แต่ก็เป็นตำแหน่งที่เป็นฐานแห่งการสร้างความดีความชอบ เป็นตำแหน่งที่ผู้ใหญ่ดูอย่างมีดุลยพินิจ  ตำแหน่งผู้ปกครองสงฆ์ทุกตำแหน่ง  เป็นตำแหน่งที่มีการเลขานุการด้วยกันทั้งนั้น  ตำแหน่งใดมีเลขานุการ  การเลขานุการในตำแหน่งนั้นก็เป็นหน้าที่ของเลขานุการ  ตำแหน่งใดไม่มีเลขานุการ ผู้ดำรงตำแหน่งนั้นต้องทำหน้าที่การเลขานุการเอง 

        เบื้องต้น  ขอให้ศึกษาความหมายของคำว่า  เลขานุการ  และของคำอื่นซึ่งมีรูปคล้ายคลึงกันแต่มีความหมายแตกต่างกัน เป็นคำที่ใช้อยู่ในทางการคณะสงฆ์และทางราชการซึ่งควรได้ทราบความหมาย คือ   เลขานุการ  และ  เลขาธิการ 

        เลขานุการ  ศัพท์เดิมเป็น  เลขา+อนุ+การ  แปลว่า  ผู้ทำน้อยกว่าเขียน  ผู้ ทำตามรอยเขียน หรือ ผู้ทำงานตามคำสั่ง   พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน ให้ความ หมายว่า ผู้ทำหน้าที่เกี่ยวกับหนังสือตามผู้ใหญ่สั่ง  ท่านผู้รู้กล่าวว่า  เลขานุการใน ภาษาลาติน  ตรงกับคำว่า  ความลับ  และอธิบายว่า  เลขานุการเป็นผู้รู้ความลับในสำนักงาน เลขานุการเป็นผู้เก็บความลับของผู้บังคับบัญชา    ดังนั้น  จึงพอกล่าวได้ว่า เลขานุการเป็นอุปกรณ์ของผู้ปกครองสงฆ์ชั้นเจ้าคณะหรือผู้บริหารงานราชการหรือผู้บริหารงานธุรกิจ เลขานุการนั้นมิใช่เพียงแต่รอทำงานตามสั่งเท่านั้น  เลขานุการจะยกร่างแผนงานเสนอผู้บังคับบัญชาพิจารณาก็ย่อมกระทำได้ เลขานุการเป็นผู้เก็บความลับในวงงาน แม้เป็นตำแหน่งช่วยเหลือผู้บังคับบัญชา ก็ถือได้ว่าเป็นตำแหน่งที่สำคัญ

        เลขาธิการ ศัพท์เดิมเป็น เลขา+อธิ+การ  แปลว่า  ผู้ทำยิ่งกว่าเขียน  หมายถึง  ผู้สั่งงาน  ผู้บังคับบัญชาหน่วยงาน   พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน  ให้ความหมายว่า  ผู้เป็นหัวหน้าทำงานหนังสือโดยสิทธิ์ขาด    โดยความ  เลขาธิการเป็นผู้มีอำนาจเต็มในหน่วยงานนั้น ๆ 

        ส่วนเลขานุการในคณะสงฆ์ ตามกฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ ๒๓  กำหนดตำแหน่งเลขานุการไว้ ๘  ตำแหน่ง  คือ    เลขานุการเจ้าคณะใหญ่  เลขานุการเจ้าคณะภาค เลขานุการรองเจ้าคณะภาค  เลขานุการเจ้าคณะจังหวัด  เลขานุการรองเจ้าคณะจังหวัด เลขานุการเจ้าคณะอำเภอ เลขานุการรองเจ้าคณะอำเภอ เลขานุการเจ้าคณะตำบล และยังมีเลขานุการซึ่งแต่งตั้งตามจารีต เช่น  เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช  เลขานุการแม่-กองธรรมสนามหลวง  ซึ่งเลขานุการทางคณะสงฆ์ทุกตำแหน่ง มิได้เป็นพระสังฆาธิการ  แต่เป็นอุปกรณ์การปฏิบัติงานของพระสังฆาธิการหรือผู้บังคับบัญชาซึ่งมีความสำคัญยิ่ง 

Views: 130