ส่วนที่ ๔
ประเภทวิชาเลขานุการ
————–
ได้แนะนำให้รู้เรื่องเลขานุการมาตามลำดับ ทั้งในส่วนประเภทแห่งเลขานุการ คุณสมบัติของเลขานุการ และหน้าที่ของเลขานุการ จนพอเห็นชัดว่า เลขานุการเป็นตำแหน่งที่สำคัญ ผู้ดำรงตำแหน่งนี้ ต้องเป็นผู้มีความรู้ ความฉลาด และความสามารถ พร้อมทั้งมีสุปฏิบัติ จึงจะทำหน้าที่ได้ดี ดังนั้น จึงกำหนดวิชาเลขานุการไว้ในส่วนนี้
วิชาเกี่ยวกับการปฏิบัติงานในตำแหน่งหน้าที่เลขานุการ หรือวิชาที่เลขานุการจำเป็นต้องศึกษา “วิชาเลขานุการ” และวิชาเลขานุการทางคณะสงฆ์นั้น พอประมวลได้ ๘ หมวด คือ
๑. วิชาอุปกรณ์การปฏิบัติ
๒. วิชาพระธรรมวินัย
๓. วิชากฎหมายหรือบทบัญญัติอื่น
๔. วิชางานสารบรรณ
๕. วิชาการประชุม
๖. วิชาการดำเนินกิจการคณะสงฆ์
๗. วิชาการบัญชี
๘. วิชาความรู้รอบตัว
วิชาอุปกรณ์การปฏิบัติ หมายถึง วิชาอันว่าด้วยเครื่องมือการปฏิบัติงาน เช่น
พิมพ์ดีด เครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องถ่ายเอกสาร นับเป็นวิชาที่เลขานุการต้องศึกษาฝึกอบรมให้เกิดความรู้และทักษะในการใช้ การเก็บรักษา เป็นต้นตามสมควร
วิชาพระธรรมวินัย หมายถึง วิชาพระธรรมวินัยอันเป็นตัวหลักเกณฑ์และวิธีการในการปฏิบัติหน้าที่ เลขานุการต้องศึกษาเล่าเรียนให้เข้าใจพอควรแก่สถานะ
วิชากฎหมายและบทบัญญัติอื่น หมายถึง พระราชบัญญัติคณะสงฆ์และบท บัญญัติอื่น เช่น กฎ ข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศ มติหรือสัญญัติ ที่กำหนดเพื่อการคณะสงฆ์และการพระศาสนา รวมถึงกฎหมายและบทบัญญัติอื่นของทางราชอาณาจักร ที่เกี่ยวกับคณะสงฆ์และพระศาสนา เลขานุการทางคณะสงฆ์จำเป็นต้องศึกษาโดยแท้
วิชางานสารบรรณ วิชาการประชุม วิชาการดำเนินกิจการคณะสงฆ์ และ วิชาการบัญชี จักกล่าวในบทต่อไป
วิชาความรู้รอบตัว หมายถึง วิชาทั่วไปอันเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานเลขานุการ
Hits: 166