ตอนที่ ๔ หนังสือสั่งการ

ตอนที่ ๔

หนังสือสั่งการ

————

        หนังสือที่จัดทำขึ้นเพื่อกำหนดแนวปฏิบัติงาน ชื่อว่า หนังสือสั่งการ  มี ๓ ชนิด คือ   คำสั่ง  ระเบียบ  และข้อบังคับ

คำสั่ง

        คำสั่ง คือ บรรดาข้อความที่ผู้บังคับบัญชาสั่งการให้ปฏิบัติโดยชอบด้วยกฎหมาย  มีรายละเอียดดังนี้

        ๑.  คำสั่ง  หมายถึง ให้ลงชื่อส่วนราชการหรือชื่อผู้มีอำนาจออกคำสั่ง

        ๒.  ที่ ให้ลงเลขบอกจำนวนตามปีปฏิทินแล้วลงทับและเลขบอก  พ.ศ. 

        ๓.  เรื่อง   ให้ลงชื่อเรื่องของคำสั่ง

        ๔.  ข้อความ  ให้อ้างเหตุผลที่ออกคำสั่งและอำนาจที่ให้ออกคำสั่ง (ถ้ามี)  แล้วลงข้อความที่สั่งและวันที่ใช้บังคับ

        ๕.  สั่ง ณ วันที่  ให้ลงเลขบอกวันที่ ชื่อเต็มของเดือนและเลขบอก พ.ศ.

        ๖.  ลงชื่อ  ให้ลงชื่อผู้ออกคำสั่งและพิมพ์ชื่อเต็มกำกับไว้ด้วย

        ๗.  ตำแหน่ง  ให้ลงตำแหน่งของผู้ออกคำสั่ง

ระเบียบ

        ระเบียบ  คือ  บรรดาข้อความที่ผู้มีอำนาจหน้าที่วางไว้เพื่อถือเป็นแนวปฏิบัติประจำ  จะอาศัยอำนาจของกฎหมายหรือไม่ก็ได้  มีรายละเอียดดังนี้

        ๑.  ระเบียบ  ให้ลงชื่อส่วนราชการที่ออกระเบียบ

        ๒.  ว่าด้วย  ให้ลงชื่อของระเบียบ

        ๓.  ฉบับที่  สำหรับลงเมื่อระเบียบเรื่องเดียวกันมี  ๒  ฉบับขึ้นไป

        ๔.  .. สำหรับลง  พ.ศ.  ที่ออกระเบียบ

        ๕.  ข้อความ  ให้ลงเหตุผลความมุ่งหมายของการออกระเบียบ  และอ้างถึงกฎหมายให้อำนาจ  (ถ้ามี)

        ๖.  ข้อ  ให้เรียงข้อความที่จะใช้เป็นระเบียบ โดยข้อ ๑ ชื่อระเบียบ ข้อ  ๒  วันใช้บังคับและข้อสุดท้าย ผู้รักษาการ ถ้าแบ่งเป็นหมวด ให้เอาข้อผู้รักษาการก่อนขึ้นหมวด  ๑

        ๗.  ประกาศ ณ วันที่ ลงเลขวันที่ ชื่อเต็มของเดือนและเลขบอก พ.ศ.

        ๘.  ลงชื่อ  ให้ลงชื่อผู้ออกระเบียบ  พร้อมด้วยชื่อเต็ม

        ๙.  ตำแหน่ง  ให้ลงตำแหน่งของผู้ออกระเบียบ

ข้อบังคับ

        ข้อบังคับ  คือ  บรรดาข้อความที่ผู้มีอำนาจหน้าที่กำหนดให้ใช้โดยอาศัยอำนาจของกฏหมายที่บัญญัติให้กระทำได้  มีรายละเอียด  ๙  คือ  ข้อบังคับ,  ว่าด้วย,  ฉบับที่,  พ.ศ.,  ข้อความ,  ข้อ,  ประกาศ  ณ  วันที่,  ลงชื่อ  และตำแหน่ง  มีนัยดังระเบียบโดยอนุโลม

        ในทางการคณะสงฆ์  หนังสือสั่งการทั้ง  ๓  ชนิดนี้  คงปรากฏมีชื่อชัดเจน  แต่มีใช้เฉพาะคำสั่งและระเบียบ  ส่วนข้อบังคับ  คงมีเฉพาะชื่ออยู่  หาได้มีบทบัญญัติใดกำหนดให้กระทำได้ไม่