ส่วนที่ ๒ หนังสือราชการลับกับหนังสือราชการด่วน

ส่วนที่ ๒

หนังสือราชการลับกับหนังสือราชการด่วน

—————-

        หนังสือราชการนั้น  กล่าวโดยลักษณะพิเศษเป็น ๓ คือ  หนังสือราชการลับ ๑  หนังสือราชการด่วน  ๑  ราชการด่วนพิเศษ ๑ 

หนังสือราชการลับ

        หนังสือราชการลับ  คือ หนังสือราชการที่ต้องสงวนเป็นความลับ  โดยกำหนดในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๑๗ กำหนดความลับเป็น ๔ ชั้น  คือ

        ๑.  ลับที่สุด   ได้แก่ความลับที่มีความสำคัญที่สุดเกี่ยวกับข่าวสาร  วัตถุ  หรือบุคคล ซึ่งถ้าหากความลับดังกล่าวทั้งหมดหรือเพียงบางส่วนรั่วไหลไปถึงบุคคลผู้ไม่มีหน้าที่ได้ทราบ อาจทำให้เสียหายหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคง ความปลอดภัยหรือความสงบเรียบร้อยของประเทศชาติ  หรือพันธมิตรอย่างร้ายแรงที่สุด  เช่น  นโยบายหรือแผนการที่สำคัญของชาติ  ซึ่งถ้าเปิดเผยก่อนเวลาอันสมควร  จะก่อให้เกิดผลเสีย หายอย่างร้ายแรงที่สุดแก่ประเทศชาติ

        ๒.  ลับมาก   ได้แก่ความลับที่มีความสำคัญมาก  เกี่ยวกับข่าวสาร  วัตถุ  หรือบุคคล ซึ่งถ้าหากความลับดังกล่าวทั้งหมดหรือเพียงบางส่วนรั่วไหลไปถึงบุคคลที่ไม่มีหน้าที่ได้ทราบ อาจทำให้เกิดความเสียหายหรือภยันตรายต่อความมั่นคงความปลอดภัยของประเทศชาติ หรือพันธมิตรหรือความสงบเรียบร้อยภายในราชอาณาจักรอย่างร้ายแรง เช่น  แผนงานปราบปรามผู้ก่อการร้าย  รายงานการแต่งตั้งถอดถอน      หรือโยกย้ายข้าราชการในตำแหน่งที่สำคัญมาก

        ๓.  ลับ     ได้แก่ความลับที่มีความสำคัญเกี่ยวกับข่าวสาร    วัตถุ   หรือบุคคล ซึ่งถ้าหากความลับดังกล่าวทั้งหมดหรือเพียงบางส่วนรั่วไหลไปถึงผู้ที่ไม่มีหน้าที่ได้ทราบอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อทางราชการ  หรือเกียรติภูมิประเทศ หรือพันธมิตร  เช่น  การดำเนินการเกี่ยวกับการตรากฎหมายที่สำคัญบางเรื่อง  ประกาศคำสั่งที่สำคัญที่อยู่ในระหว่างดำเนินการ

        ๔. ปกปิด  ได้แก่ความลับที่ซึ่งไม่พึงเปิดเผยให้ผู้ไม่มีหน้าที่ได้ทราบ โดยสงวนไว้ให้ทราบเฉพาะบุคคลที่มีหน้าที่ต้องทราบ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติราชการเท่านั้น  เช่น  เอกสารของทางราชการบางเรื่องที่มุ่งใช้ในทางราชการเท่านั้น  เช่น  คำบรรยาย  คำรายงาน  หรือ  ความเห็น

        หนังสือราชการลับนั้น  ทางราชการกำหนดวิธีปฏิบัติไว้ละเอียดเกี่ยวกับการลงทะเบียนเอกสารลับ, เครื่องหมายแสดงชั้นความลับ, การบรรจุซอง, การผนึกซอง, การส่งภายในประเทศ, การรับ         

        ส่วนหนังสือทางการคณะสงฆ์ มิได้กำหนดชั้นแห่งความลับไว้  แต่โดยการปฏิบัตินั้น  คงอนุโลมตามชั้นแห่งความลับทั้ง  ๔  ของทางราชการนั่นเอง  เพราะปรากฏตามความในข้อ  ๕๑ แห่งกฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ ๒๔ ว่า พระสังฆาธิการต้องรักษาข้อความอันเกี่ยวกับการคณะสงฆ์ที่ยังไม่ควรเปิดเผย 

 

หนังสือราชการด่วน

        หนังสือราชการนั้น  นอกจากงานที่ปฏิบัติตามปกติแล้ว ยังมีงานที่จะต้องปฏิบัติเร็วกว่าปกติ  พอแยกตามลักษณะชั้นแห่งความเร็วเป็น  ๔  คือ   ด่วนที่สุด ด่วนมาก  ด่วน  และด่วนภายใน

        ๑.  ด่วนที่สุด  ให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติโดยฉบับพลันทันทีที่ได้รับหนังสือ

        ๒.  ด่วนมาก   ให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติโดยเร็ว

        ๓.  ด่วน  ให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติเร็วกว่าปกติเท่าที่จะทำได้

        ๔.  ด่วนภายใน  ให้ผู้ส่งหนังสือส่งให้ถึงผู้รับภายในเวลาที่กำหนดไว้ที่หน้าซอง

        หนังสือด่วนที่สุด ด่วนมาก และด่วน ให้ลงชั้นความเร็วว่า ด่วนที่สุด ด่วนมาก  ด่วน ไว้ด้านบนซ้ายมือ ใช้ตัวอักษรตัวโตหมึกสีแดงทั้งในหนังสือและหน้าซอง  ควรจัดทำตรายางไว้ประทับ

        หนังสือด่วนภายใน  ให้ลงว่า  ด่วนภายใน.. แล้วเพิ่มวัน เดือน ปี และเวลาที่ต้องการจะให้ถึงผู้รับ  ไว้ที่กลางเฉพาะที่หน้าซอง

ราชการด่วนพิเศษ

        เรื่องราชการใดที่จะดำเนินการหรือสั่งการด้วยหนังสือได้ไม่ทัน ให้ส่งข้อความทางเครื่องมือสื่อสารพิเศษ  เช่น  โทรเลข  วิทยุโทรเลข  โทรพิมพ์  วิทยุสื่อสาร  วิทยุกระจายเสียง  หรือ  วิทยุโทรทัศน์  เป็นต้น  มีหลักเกณฑ์ปฏิบัติดังนี้

        (๑)  ให้ผู้รับปฏิบัติเช่นเดียวกับได้รับหนังสือ

        (๒)  ถ้าจำเป็นต้องยืนยันเป็นหนังสือ  ให้ทำหนังสือยืนยันตามทันที

        (๓)  เฉพาะที่ส่งทางโทรศัพท์  วิทยุสื่อสาร  วิทยุกระจายเสียง  หรือวิทยุโทรทัศน์  เป็นต้น  ให้ผู้ส่งและผู้รับบันทึกข้อความไว้เป็นหลักฐาน

        ส่วนการคณะสงฆ์นั้น  แม้มิได้กำหนดหนังสือด่วนและด่วนพิเศษไว้โดยตรง  แต่ในทางปฏิบัติต้องอนุโลมตามหนังสือราชการด่วนและราชการด่วนพิเศษโดยแท้

Views: 124