ส่วนที่ ๓
การปฏิบัติงานสารบรรณ
——————-
ตอนที่ ๑
การร่างหนังสือ
—————-
การร่างหนังสือ หมายถึงการเรียงคำพูดตามรูปเรื่อง เพื่อแสดงออกให้ผู้อื่นทราบความประสงค์ ก่อนแต่จะให้คำพูดนั้นปรากฏในต้นฉบับ การร่างหนังสือถือเป็นงานสำคัญ เพราะเป็นงานเริ่มต้นก่อนที่จะพิมพ์ กำหนดแนวปฏิบัติเป็น ๒ ขั้น คือ
๑. ขั้นเตรียมการ
๑.๑ ต้องศึกษาเรื่องนั้น ๆ ให้เข้าใจทั้งเหตุผลและความประสงค์โดยถูกต้อง
๑.๒ ต้องศึกษาให้ทราบโดยละเอียดว่า เรื่องนั้นเป็นหนังสือชนิดใด เช่น หนังสือภายนอก หนังสือภายใน หนังสือประทับตรา หนังสือสั่งการ หรือหนังสือประชาสัมพันธ์
๑.๓ ต้องตรวจระเบียบแบบแผนของหนังสือชนิดดังกล่าวนั้นด้วย
๒. ขั้นปฏิบัติการ
๒.๑ วางรูปแบบให้ถูกต้องตามชนิด จัดวรรคตอนและรูปเรื่องให้เหมาะสม และใช้ตัวสะกดการันต์ให้ถูกต้อง
๒.๒ เรียงข้อความเหตุผลก่อนแล้ว จึงเรียงท่อนความประสงค์ไว้ในท่อนหลัง ถ้าท่อนใดมีข้อความหลายข้อให้เรียงเป็นข้อ ๆ เรียงถ้อยคำชัดเจน ใช้คำพูดให้น้อย แต่ให้จุความมาก อย่าใช้คำพูดกำกวม เพราะอาจเป็นเหตุให้เข้าใจผิด
๒.๓ ถ้าจะอ้างพระธรรมวินัย หรือกฎหมาย หรือเรื่องอื่นใด ต้องอ้างให้ถูกต้องและระบุให้ชัดเจน อย่าอ้างลอย ๆ โดยไม่ระบุให้ชัดแจ้ง
๒.๔ อย่าใช้สำนวนภาษาพูดเป็นภาษาหนังสือ พยายามให้กะทัดรัด อย่าให้ฟุ่มเฟือย
๒.๕ ถ้าร่างหนังสือโต้ตอบ ให้อ้างถึงเรื่องเดิมและตั้งชื่อเรื่องอย่างเดิม ถ้าร่างหนังสือตามเตือน ให้มีอนุสนธิหนังสือฉบับเดิม อย่าตั้งชื่อเรื่องใหม่ จะกลายเป็น ๒ เรื่อง ทั้งหนังสือโต้ตอบและตามเตือนนี้ หากจำเป็นจะต้องตั้งชื่อเรื่องใหม่ ต้องให้มีเค้าโครงเรื่องเดิม กล่าวคือ เพียงแต่แปลงถ้อยคำเพื่อความเหมาะสม การใช้ถ้อยคำ ต้องให้สุภาพสมฐานะระหว่างเจ้าของหนังสือกับผู้รับ ความท่อนเหตุ คือท่อนอ้างถึง หรือท่อนอนุสนธิ ให้ย่อความของหนังสือฉบับเดิมให้สั้น ท่อนความประสงค์ ให้แสดงความประสงค์ไว้โดยชัดเจน
๒.๖ ถ้าร่างหนังสือสั่งการ (คำสั่ง, ระเบียบ, ข้อบังคับ) ต้องให้มีข้อความอันเป็นเหตุผล ต้องใช้ถ้อยคำให้รัดกุม อย่าให้ตีความได้หลายนัย อย่าให้ข้อความขัดกับกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับใด อย่าให้ขัดกับคำสั่งเดิม ถ้าขัดก็สั่งให้ยกเลิกคำสั่งฉบับเดิมเสียก่อน และต้องยึดหลักว่าคำสั่งนั้น ผู้รับคำสั่ง ผู้ปฏิบัติตาม ต้องสามารถปฏิบัติได้ ๒.๗ ถ้าร่างหนังสือประชาสัมพันธ์ (ประกาศ, แถลงการณ์, ข่าว) ต้องให้มีข้อความสมเหตุผล อย่าให้ข้อความขัดกันในฉบับนั้น หรือขัดกับฉบับก่อน เว้นแต่เป็นการแถลงแก้ฉบับก่อน ขอให้เลขานุการและพระสังฆาธิการพยายามฝึกหัดการร่างหนังสือให้เกิดความช่ำชอง ให้ถือว่าการร่างหนังสือเป็นงานสารบรรณที่สำคัญยิ่ง