ตอนที่ ๕
การกำหนดหัวข้อ
————–
เพื่อความสะดวกในการอ้างอิง การแบ่งข้อความ การค้นหาและแก้ไขข้อความ จึงมีการกำหนดหัวข้อ โดยมีหลักกำหนด ๓ คือ กำหนดเป็นคำพูด ๑ กำหนดเป็นตัวเลข ๑ กำหนดเป็นตัวอักษร ๑
๑. กำหนดเป็นคำพูด คือการกำหนดข้อความเป็นระดับหมวดหมู่ ซึ่งมีลักษณะจะแยกเป็นข้อได้อีก เช่น ภาคหรือปริจเฉท บทหรือลักษณะหรือหมวด ส่วน ตอน ตามควรแก่กรณี ส่วนตัวเลขกำหนดข้อหรือมาตราให้เรียงติดต่อกันไปจนจบ
๒. กำหนดเป็นตัวเลข คือการใช้ตัวเลขเรียงหัวข้อสำหรับจำแนกข้อความ กำหนดโดยลักษณะเป็น ๓ คือ
๒.๑ จำแนกขั้น ๑ ใช้ตัวเลขบอกข้อหรือมาตรา เริ่มตั้งแต่ ๑ เรียงกันไปจนจบเรื่อง
๒.๒ จำแนกขั้น ๒ ใช้จำแนกความในข้อหรือมาตรา โดยย่อยออกไปอีกเป็นข้อ ๆ ให้ใช้ตัวเลขเติมและจุดนำ แล้วเรียงข้อย่อย เช่น ๑.๑, ๑.๒, ๒.๑, ๒.๒, ๓.๑, ๓.๒ บางคราวท่านใช้เลขในวงเล็บก็มี เช่น (๑), (๒), (๓), (๔)
๒.๓ จำแนกขั้น ๓ ถ้าจำแนกขั้นที่ ๒ แล้ว จำเป็นต้องซอยย่อยอีก ให้ใช้เลขขั้นที่ ๒ และจุดนำแล้วเติมเลขย่อย เช่น ๑.๑.๑, ๑.๑.๒, ๑.๑.๓, ๒.๑.๑, ๒.๑.๒ หากยังมีข้อความย่อยอีก อาจจำแนกขั้นที่ ๔ – ๕ ได้ โดยอนุโลมตามแบบขั้นที่ ๓ นั้น ๓. กำหนดเป็นตัวอักษร การกำหนดหัวข้อด้วยตัวอักษร เช่น ก. ข. ค. หรือ (ก) (ข) (ค) ซึ่งมีลักษณะคล้ายตัวเลข แต่มิได้กำหนดซอย ในการกำหนดตัวอักษร ให้ใช้ ก. ข. ค. ง. ข้าม ฆ. เสีย