ตอนที่ ๗ การวางรูปพิมพ์หนังสือราชการ

ตอนที่ ๗

การวางรูปพิมพ์หนังสือราชการ

——–

        เมื่อรู้ลักษณะหนังสือราชการแล้ว  ต้องรู้จักการวางรูปหนังสือราชการและการพิมพ์ดีพอ  จึงจะทำหนังสือราชการได้สวยงาม  มีหลักควรทราบ  ดังนี้

        ๑.  ควรตั้งระยะพิมพ์ให้เหลือกระดาษข้างหน้าสัก ๑.๕  นิ้ว  หรือ ๒ นิ้ว ข้างหลังประมาณ ๐.๕ นิ้ว  ถึง  ๑  อย่าพิมพ์เต็มทั้งหน้าและข้างหลัง

        ๒.  ถ้ามีคำว่า  ลับที่สุด  ลับมาก  ลับ  ปกปิด คำใดคำหนึ่ง  ให้พิมพ์ไว้กลางกระดาษ คำว่า  ด่วนที่สุด  ด่วนมาก ด่วน  คำใดคำหนึ่งให้พิมพ์ไว้บรรทัดที่ ๑  ซ้ายมือ  ติดมุมระยะกั้นกระดาษนั้น  แล้วขีดเส้นใต้  เช่น  ด่วนที่สุด  แล้วบรรทัดที่  ๒   พิมพ์ที่……./……..  ต่อไป หรือใช้ตรายางประทับก็ได้ 

        ๓.  ถ้าเป็นหนังสือธรรมดา ให้พิมพ์ ที่……./…… ไว้บรรทัดแรกมุมซ้ายมือ  แล้วพิมพ์สถานที่ไว้มุมขวามือ  แบ่งกระดาษพิมพ์เป็น ๔  ส่วน  ขึ้นถัดจากตรงเริ่มส่วนที่  ๔ ไปด้านหน้า  ประมาณ  ๗–๑๐  อักษร

        ๔.  วัน  เดือน  ปี  พิมพ์ไว้บรรทัดที่  ๒  เริ่มจากตรงกลางหน้ากระดาษห่างจากบรรทัดส่วนราชการเจ้าของหนังสือ  มากกว่าปกติ  คือ ๑.๕  ระยะพิมพ์ดีด

        ๕.  เรื่อง  พิมพ์ชิดซ้ายใต้บรรทัด  วัน  เดือน  ปี  ห่างจากบรรทัด  วัน  เดือน  ปี  มากกว่าปกติ  คือ  ๑.๕  ระยะพิมพ์ดีด

        ๖.  คำขึ้นต้น  อ้างถึง,  สิ่งที่ส่งมาด้วย  พิมพ์ชิดซ้ายมือในบรรทัดถัด ๆ กันลงไปตามลำดับ  ระยะบรรทัดเท่ากับข้อ ๕ เมื่อพิมพ์คำขึ้นต้น, อ้างถึง, สิ่งที่ส่งมาด้วย แล้วเว้นวรรค ๒ – ๓ ตัวอักษร  จึงพิมพ์ต่อไป  แม้ข้อ ๕ ก็เช่นกัน  แต่เห็นว่าดูไม่สวยงาม  หากจะใช้ตั้งระยะห่างจากสิ่งที่ส่งมาด้วย ๒ ตัวอักษรเป็นเกณฑ์ วางให้ตรงกัน  จะดูงามขึ้น  โดยสรุปใช้ได้ทั้ง  ๒  แบบ

        ๗.  เนื้อความตอนเหตุผล  ห่างจากสิ่งที่ส่งมาด้วย  เหมือนข้อ ๕  ข้อความตอนความประสงค์ห่างตอนเหตุผลดุจเดียวกัน  และย่อหน้าตรงกัน

        ๘.  คำลงท้าย  ระยะบรรทัดให้ห่างจากข้อความบรรทัดสุดท้าย  ๒-๓   ระยะ  พิมพ์ดีด ตามปกติ  เริ่มพิมพ์ไว้ตรงกลางหน้ากระดาษ  แต่เห็นว่าดูไม่งาม  ควรเริ่มจากถัดจากกลางหน้ากระดาษไปด้านหน้า  ประมาณ  ๔–๗  ตัวอักษร  จึงดูงาม

        ๙.  ชื่อและตำแหน่ง  ระยะว่างไว้เพื่อลงนามเว้น  ๒-๓  ระยะพิมพ์ดีด  แล้วพิมพ์ชื่อไว้ในวงเล็บ และพิมพ์ตำแหน่ง คำลงท้ายชื่อและตำแหน่ง ต้องพยายามวางให้สวยงาม  ต้องให้กลมกลืนกันกับคำลงท้าย  ดังเช่น 

……….คำลงท้าย……..

 (…………..ชื่อ…………..)

 ……………ตำแหน่ง……………

        ๑๐.  เจ้าของเรื่อง  คือ แผนกราชการ  ฝ่าย ส่วนหรือแผนกในทางการคณะสงฆ์  ให้พิมพ์ไว้มุมซ้ายมือ ห่างจากตำแหน่งประมาณ ๒ ระยะพิมพ์ดีด ส่วนราชการที่มีโทรศัพท์  ลงหมายเลขโทรศัพท์ด้วย  ส่วนการคณะสงฆ์หากแบ่งงานรับผิดชอบ  ให้ลงไว้ด้วย  เช่น

        ฝ่ายการศึกษา

        โทร๔๗๒๕๐๓๘, ๘๙๑๐๒๘๘

        ๑๑.  การพิมพ์ข้อความ

               ๑๑.๑  เรื่องที่มีข้อความเป็นเนื้อหาเดียวกัน   ควรเว้นวรรค ๑ ระยะตัวอักษร  ถ้ามีเนื้อหาต่างกัน  ควรเว้นวรรค  ๒  ระยะตัวอักษร

               ๑๑.๒  หนังสือที่มีหลายหน้า    ควรยกเอาคำที่จะพิมพ์ในหน้าต่อไปมาพิมพ์ไว้ในหน้าที่จะหมดสัก ๑๐–๑๕  พยางค์  แล้วต่อด้วย…….  ห่างจากบรรทัดสุดท้าย  ๓ ระยะพิมพ์ดีด อยู่ด้านมุมขวามือ  หน้าต่อไปควรลงเลขหน้าไว้กลางหน้ากระดาษ  และหน้าสุดท้ายควรมีข้อความไม่น้อยกว่า ๓ บรรทัด  ก่อนจะถึงคำลงท้ายจึงจะดูงาม  และการใช้กระดาษ  ควรใช้กระดาษตราเฉพาะหน้าแรกเท่านั้น  หน้าที่  ๒  เป็นต้นไป  ควรใช้กระดาษไม่มีตรา