ส่วนที่ ๑
เขตปกครองคณะสงฆ์ส่วนกลาง
——————-
อันการปกครองคณะสงฆ์ตามรูปแบบที่จัดอยู่ในปัจจุบัน ยึดพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ และพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ เป็นหลักจัดรูปแบบการปกครอง และการปกครองคณะสงฆ์นั้น มี ๒ ส่วน คือ
๑) การปกครองคณะสงฆ์ส่วนกลาง
๒) การปกครองคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาค
การปกครองคณะสงฆ์ส่วนกลาง ได้แก่ การดำเนินกิจการคณะสงฆ์และการพระศาสนาในส่วนกลาง กล่าวคือศูนย์กลางบริหารงานนั้น เป็นหน่วยควบคุมนโยบายหลักของมหาเถรสมาคม ซึ่งงานการคณะสงฆ์ตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ เรียกว่า “การ” คือ การรักษาความเรียบร้อยดีงาม (การปกครอง) เป็นต้น บางการแยกหน่วยงานในส่วนกลางออกเป็นหน่วย บางการมีผู้สนองงานโดยรูปบุคคล บางการมีผู้สนองงานโดยรูปงานคณะกรรมการ ลักษณะนี้ คืองานในส่วนกลาง มิใช่หมายถึง กรุงเทพมหานครเป็นส่วนกลาง แท้จริงกรุงเทพมหานคร เป็นการปกครองคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาคชั้นจังหวัด
อนึ่ง เมื่อว่าเฉพาะการปกครองและเขตปกครองแล้ว เขตปกครองคณะสงฆ์ส่วนกลาง หมายถึง หน และ คณะ แยกตามส่วนแห่งนิกายสงฆ์ คือ
(๑) คณะมหานิกาย มี ๔ หน คือ หนกลาง หนเหนือ หนตะวันออก และหนใต้ มีเจ้าคณะใหญ่เป็นผู้ปกครอง
(๒) คณะธรรมยุต มี ๑ คณะ เพราะรวมทั้งหมดเข้าเป็นคณะเดียว มีเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุตเป็นผู้ปกครอง การกำหนดเขตปกครองเป็นไปตามกฎมหาเถรสมาคม ส่วนการแต่งตั้งเจ้าคณะในส่วนกลางและผู้สนองงานอื่นๆ ในส่วนกลาง ขอยกไว้
Hits: 2