ส่วนที่ ๒
เขตปกครองคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาค
——————
อันคณะสงฆ์ ซึ่งหมายถึง บรรดาพระสงฆ์ผู้สืบศาสนทายาทลัทธิเถรวาทในประเทศไทย ได้แก่พระสงฆ์ ๒ คณะ คือ คณะมหานิกาย ๑ คณะธรรมยุต ๑ พระสงฆ์ทั้ง ๒ คณะนี้ จัดการปกครองตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ซึ่ง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ กล่าวคืออาศัยพระราชบัญญัติทั้ง ๒ ฉบับที่กล่าวนี้ เป็นหลักจัดระบบการปกครอง
อันอาณาจักรของพระสงฆ์เป็นอาณาจักรพิเศษ ซึ่งอาศัยอยู่ในราชอาณาจักร โดยมีนามบัญญัติว่า “คณะสงฆ์” หรือเรียกอีกโวหารหนึ่งว่า “พุทธจักร” มีหลักการปกครองชั้นอุดมการณ์นั้นคือ “พระธรรมวินัย” หรือจะเรียกว่ามีพระธรรมวินัยเป็นธรรมนูญการปกครองก็ถูก แต่การจะทำให้การปกครองบรรลุตามอุดมการณ์ได้ดีนั้น ต้องอาศัยพระบรมราชูปถัมภ์เป็นเครื่องดำเนินการ อันได้แก่พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ดังเรียนแล้ว เป็นหลักกำหนดหลักเกณฑ์ขอบเขตแห่งเขตปกครอง ขอบเขตแห่งอำนาจ ขอบเขตแห่งผู้ใช้อำนาจ และวิธีการใช้อำนาจ เพื่อให้การปกครองคณะสงฆ์มีระบบเป็นแบบแผน ในมาตรา ๒๑ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ได้กำหนดเขตปกครองคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาคตามลำดับ เป็น ๔ ชั้น คือ
(๑) ภาค
(๒) จังหวัด
(๓) อำเภอ
(๔) ตำบล
และในมาตรา ๒๒ วรรค ๒ ให้กำหนดจำนวนและเขตปกครองทั้ง ๔ ชั้น เป็นกฎมหาเถรสมาคม กล่าวคือให้ตรากฎมหาเถรสมาคมกำหนดไว้ เจ้าคณะชั้นใด จะกำหนดเอาตามใจชอบมิได้ ดังนั้น มหาเถรสมาคมจึงตรากฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ ๑๔ ขึ้นเป็นหลักเกณฑ์ และในกฎมหาเถรสมาคมดังกล่าวได้กำหนดให้วางระเบียบมหาเถร- สมาคม กำหนดวิธีการปฏิบัติไว้อีกชั้นหนึ่ง
- ตอนที่ ๑ เขตปกครองคณะสงฆ์ชั้นภาค
- ตอนที่ ๒ เขตปกครองคณะสงฆ์ชั้นจังหวัด
- ตอนที่ ๓ เขตปกครองคณะสงฆ์ชั้นอำเภอ
- ตอนที่ ๔ เขตปกครองคณะสงฆ์ชั้นตำบล
Views: 11