ตอนที่ ๓ เขตปกครองคณะสงฆ์ชั้นอำเภอ

ตอนที่ ๓

เขตปกครองคณะสงฆ์ชั้นอำเภอ

———————-

        อำเภอ เป็นเขตปกครองคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาคชั้นที่ ๓   ซึ่งหมายถึงเขตในกรุงเทพมหานครและอำเภอในจังหวัดนอกจากกรุงเทพมหานคร จำนวนและเขตปกครองคณะสงฆ์ชั้นอำเภอนั้น คณะสงฆ์ต้องเป็นผู้กำหนด แม้ทางราชอาณาจักรมีพระราช-กฤษฎีกายกกิ่งอำเภอขึ้นเป็นอำเภอแล้ว อำเภอนั้นเป็นอำเภอทางราชอาณาจักรเท่านั้น  หาเป็นอำเภอทางคณะสงฆ์ไม่  ตามความในข้อ  ๕ แห่งกฎมหาเถรสมาคม  ฉบับที่  ๑๔ (พ.ศ.๒๕๓๕) และในระเบียบมหาเถรสมาคม กำหนดจำนวนและเขตการปกครองอำเภอ  พ.ศ. ๒๕๓๗  กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการได้  ๒  คือ

          กำหนดโดยอนุโลมตามเขตบริหารราชการแห่งราชอาณาจักร

          กำหนดเป็นกรณีพิเศษ

        กำหนดโดยอนุโลมตามเขตบริหารราชการแห่งราชอาณาจักรนั้น  ให้อนุโลมได้เฉพาะอำเภอที่มีวัดซึ่งถูกต้องตามกฎหมาย ๕ วัดขึ้นไป  เพราะอำเภอที่มีวัด ๕ วัดขึ้นไป  เป็นอำเภอที่มีเขตปกครองคณะสงฆ์ตำบลได้  อำเภอที่มีวัดต่ำกว่า ๕ วัด จะมีเขตปกครองคณะสงฆ์ชั้นตำบลมิได้  เมื่อทั้งอำเภอไม่มีเขตปกครองคณะสงฆ์ชั้นตำบล จะกำหนดเป็นเขตปกครองชั้นอำเภอมิได้  คือจะยกขึ้นเป็นอำเภอทางคณะสงฆ์มิได้เลย

        การกำหนดเป็นกรณีพิเศษนั้น ได้แก่ การกำหนดเขตปกครองคณะสงฆ์ชั้นอำเภอที่ไม่ต้องอนุโลมตามเขตบริหารราชการแห่งราชอาณาจักร  ตามระเบียบมหาเถรสมาคม  กำหนดไว้  ๒  ลักษณะ  คือ

        (๑)  อำเภอที่มีวัดต่ำกว่า    ๕  วัด

        (๒)  อำเภอที่มีวัดต่ำกว่า  ๑๐  วัด

        อำเภอที่มีวัดต่ำกว่า ๕ วัดนั้น ไม่สามารถจะกำหนดเขตเป็นอำเภอโดยอนุโลมได้  แต่จำเป็นต้องปกครอง   จึงบังคับให้รวมกับอำเภออื่น

        อำเภอที่มีวัดต่ำกว่า  ๑๐  วัด  คือมีวัดเกินกว่า  ๕  วัดแต่ไม่ถึง  ๑๐  วัด  และประกอบด้วยหลัก ๒ ประการ คือ เป็นการเหมาะสม ๑  สะดวกในทางปกครอง ๑  ให้รวมขึ้นในปกครองของเจ้าอำเภออื่นซึ่งมีเขตติดต่อกัน  ในจังหวัดเดียวกันได้

        การรวมทั้ง  ๒  ลักษณะนี้  มีข้อบังคับไว้  ดังนี้

        (๑)  ถ้ารวมกันเข้าเพียง  ๒  อำเภอ  ให้คงชื่อไว้ทั้ง  ๒  อำเภอ

        (๒)  ถ้ารวมเกินกว่านั้น  ให้คงชื่อไว้อำเภอเดียว

        วิธีดำเนินการกำหนดเขตปกครองอำเภอนั้น มี ๒  คือ  ในกรณีกำหนดโดยอนุโลม ๑  ในกรณีกำหนดเป็นกรณีพิเศษ ๑

        ในกรณีกำหนดโดยอนุโลมพอสรุปตามที่เคยปฏิบัติได้ดังนี้

        (๑)    ให้เจ้าคณะจังหวัดเสนอเจ้าคณะภาคเพื่อมหาเถรสมาคมประกาศกำหนดเขตโดยอนุโลม

        (๒)  เมื่อลงประกาศในแถลงการณ์คณะสงฆ์แล้ว ให้ถือเป็นเขตปกครองอำเภอทางคณะสงฆ์

        ในกรณีกำหนดเป็นกรณีพิเศษ  พอสรุปได้ดังนี้

        (๑)    ให้เจ้าคณะจังหวัดเสนอเจ้าคณะภาคเพื่อประกาศกำหนดเป็นกรณี พิเศษโดยอนุมัติของมหาเถรสมาคม

        (๒)   เมื่อได้ลงประกาศในแถลงการณ์คณะสงฆ์แล้ว     ให้ถือเป็นเขตปกครองอำเภอทางคณะสงฆ์

แบบกำหนดเขตปกครองเป็นกรณีพิเศษ

ประกาศคณะสงฆ์ภาค..

เรื่อง    กำหนดเขตปกครองอำเภอในจังหวัด…………เป็นกรณีพิเศษ

 พ.๒๕.

————–

        อาศัยอำนาจตามความในข้อ  ๔  แห่งระเบียบมหาเถรสมาคม กำหนดจำนวนและเขตปกครองอำเภอ พ.ศ.๒๕๓๗ โดยอนุมัติของมหาเถรสมาคม เจ้าคณะภาค……. จึงประกาศกำหนดเขตปกครองอำเภอในจังหวัด…………เป็นกรณีพิเศษ   ดังต่อไปนี้

        ข้อ  ๑  ให้วัดทั้งหลายในเขตอำเภอ……………….กับ    อำเภอ………………จังหวัด……………รวมอยู่ในเขตปกครองอำเภอเดียวกัน  ซึ่งเรียกว่า  “อำเภอ…………และอำเภอ………….”

        ข้อ ๒ ให้วัดทั้งหลายในอำเภอ……….กับอำเภอ…………และอำเภอ…………. จังหวัด……………รวมอยู่ในเขตปกครองอำเภอเดียวกันเรียกชื่อว่า “อำเภอ……………”

        ประกาศ  ณ  วันที่……………………..…………

(พระ…………………………)

เจ้าคณะภาค………

คำแนะนำ        

        ข้อ  ๑  ใช้ในกรณีรวมเพียง  ๒  อำเภอ

        ๒ข้อ  ๒  ใช้ในกรณีรวม  ๓  อำเภอขึ้นไป

        ๓ข้อความใดไม่ต้องการให้ตัดออก  คงไว้เฉพาะที่ต้องการ

Hits: 51