ตอนที่ ๔ เขตปกครองคณะสงฆ์ชั้นตำบล

ตอนที่ ๔

เขตปกครองคณะสงฆ์ชั้นตำบล

—————-

        ตำบล เป็นเขตปกครองคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาคชั้นที่ ๔ ซึ่งหมายถึงแขวงในกรุงเทพมหานคร และตำบลในจังหวัดนอกจากกรุงเทพมหานคร จำนวนและเขตปกครองตำบลนั้น คณะสงฆ์เป็นผู้กำหนด แม้ทางราชอาณาจักรจะมีประกาศกระทรวงมหาดไทยตั้งตำบลแล้วก็ตาม ตำบลนั้นเป็นตำบลทางราชอาณาจักรเท่านั้น หาเป็นตำบลทางคณะสงฆ์ไม่  ตามความในข้อ  ๕  แห่งกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๑๔ (พ.ศ. ๒๕๓๕)  และในระเบียบมหาเถรสมาคม กำหนดจำนวนและเขตปกครองตำบล     พอกำหนดเป็นหลักได้  ๒  กรณี  คือ

        ๑กำหนดโดยอนุโลมตามตำบลแห่งราชอาณาจักร

        ๒กำหนดเป็นกรณีพิเศษ

        ในกรณีที่ ๑ ให้อนุโลมตามเขตปกครองตำบลแห่งราชอาณาจักรได้   เฉพาะตำบลที่มีวัดถูกต้องตามกฎหมาย ๕ วัดขึ้นไปเท่านั้น  และเมื่อจะกำหนดตำบลใหม่  แม้ตำบลใหม่จะมีวัด  ๕  วัดขึ้นไปแล้วก็ตาม  แต่ตำบลเดิมที่ตำบลใหม่เคยรวมอยู่  ซึ่งจะมีเขตเปลี่ยนแปลงจะต้องมีวัดคงอยู่ไม่ต่ำกว่า  ๕  วัด  ถ้าจะมีวัดคงอยู่ต่ำกว่า  ๕  วัด  จะแยกตำบลใหม่ โดยกำหนดอนุโลมมิได้

        ในกรณีที่ ๒  ให้กำหนดเป็นกรณีพิเศษตามจำนวนวัดแต่ละตำบล  แยกเป็น  ๕  ลักษณะ  คือ

        ๑)  ตำบลที่มีวัดต่ำกว่า  ๕  วัด

        ๒)  ตำบลที่มีวัดต่ำกว่า  ๕  วัด  จำนวน  ๓  ตำบลขึ้นไป

        ๓)  แม้ตำบลที่มีวัดครบ  ๕  วัด  แต่มีเหตุอื่น

        ๔)  ตำบลที่มีวัดเกินกว่า  ๑๐  วัด  (แยกเฉพาะวัดที่เกิน ๑๐)

        ๕)  ตำบลที่มีวัดตั้งแต่  ๑๐  วัด  ขึ้นไป  (แบ่งแยกออกเป็นเขต)

        ลักษณะที่  ๑  แยกพิจารณาปฏิบัติได้ดังนี้

        (๑)  ให้รวมวัดในตำบลที่มีวัดต่ำกว่า ๕   วัดขึ้นในปกครองของเจ้าคณะตำบลอื่นซึ่งมีเขตติดต่อกัน

        (๒)  ให้รวมเข้ากับตำบลอื่น  ซึ่งเมื่อรวมแล้วมี  ๑๐  วัดขึ้นไป  เพื่อความสะดวกหรือเพื่อความเจริญต่อคณะสงฆ์  จะแบ่งเป็น ๒ เขตหรือหลายเขต  โดยจะเรียก ชื่อตำบลอนุโลมตามชื่อตำบลแห่งราชอาณาจักรหรือจะเรียกว่า   “ตำบล……….เขต ๑” ”ตำบล……….เขต ๒”  ก็ได้

        ลักษณะที่  ๒  ให้รวมตำบลที่มีวัดต่ำกว่า  ๕  วัดตั้งแต่  ๓  ตำบลขึ้นไปเข้าเป็นเขตปกครองเดียวกัน  เข้ารวมแล้วมีวัด ๑๐ วัดขึ้นไป  จะแบ่งเป็นเขตและกำหนดชื่อตำบลดังในลักษณะที่  ๑  ก็ได้

        ลักษณะที่  ๓ แม้ตำบลที่มีวัดครบ ๕ วัด แต่ถ้าเข้าลักษณะพิเศษ ๒ ประการ คือ มีความเหมาะสม ๑ สะดวกในทางปกครอง ๑   จะรวมขึ้นในปกครองของเจ้าคณะตำบลอื่นก็ได้

        ลักษณะที่  ๔  ตำบลที่มีวัดเกิน ๑๐ วัด   ถ้าสะดวกในทางปกครองจะแยกวัดที่เกิน  ๑๐  นั้น ไปขึ้นในปกครองของเจ้าคณะตำบลอื่นก็ได้

        ลักษณะที่  ๕  ตำบลที่มีวัด  ๑๐  วัดขึ้นไป  ถ้ามีลักษณะพิเศษ  ๒  ประการ  คือ  เพื่อสะดวกแก่การปกครอง ๑ เพื่อความเจริญแก่คณะสงฆ์ ๑  จะแบ่งเป็น ๒ เขตหรือหลายเขต เรียกชื่อตำบลว่า “ตำบล………..เขต ๑” “ตำบล………เขต ๒”  ก็ได้  แต่เขตหนึ่งๆ  จะต้องมีวัดไม่ต่ำกว่า  ๕  วัด

        ตำบลทางคณะสงฆ์แต่ละตำบลให้มีเจ้าคณะตำบลจำนวนตำบลละ ๑ รูป  ถ้าตำบลใดมี  ๘  วัดขึ้นไป  ให้มีรองเจ้าคณะตำบลได้  ๑  รูป

        การรวมหลายตำบลเป็นตำบลเดียว   ถ้ารวม  ๒  ตำบล  ให้คงชื่อไว้ทั้ง ๒ ตำบล  ถ้ารวม  ๓  ตำบลขึ้นไป  ให้คงชื่อไว้ตำบลเดียว

        การกำหนดเขตตำบลดังกล่าวให้ยึดหลัก  ๔  อย่างคือ

          ต้องมีวัดตำบลละไม่ต่ำกว่า  ๕  วัด

          เจ้าคณะอำเภอเป็นผู้กำหนดเขตจำนวนและชื่อตำบลเสนอ

          เจ้าคณะจังหวัดเป็นผู้ประกาศโดยอนุมัติของเจ้าคณะภาค

          ให้ถือเป็นเขตปกครองเมื่อลงประกาศในแถลงการณ์คณะสงฆ์แล้ว