ส่วนที่ ๓
การแต่งตั้งผู้ปกครองคณะสงฆ์
——————–
ในส่วนที่ ๑ ได้เรียนถึงเขตปกครองคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาคตามลำดับชั้น ในบางชั้นได้เรียนถึงหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดจำนวนเขตการปกครองโดยละเอียด จนพอถือเป็นแนวปฏิบัติงานคณะสงฆ์ได้ แต่เป็นเพียงชี้บอกให้รู้เขตปกครอง ขอบเขตแห่งอำนาจในการปกครองคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาค พร้อมทั้งวิธีจัดสรรปันส่วนเขตปกครองตามกฎมหาเถรสมาคมและระเบียบมหาเถรสมาคมเท่านั้น ส่วนผู้ปกครองคณะสงฆ์ซึ่งเรียก ว่า “เจ้าคณะ” ผู้สนองงานเจ้าคณะซึ่งเรียกว่า “เลขานุการเจ้าคณะ” ผู้รั้งตำแหน่งซึ่งเรียกว่า “ผู้รักษาการแทน” ตลอดจนวิธีการแต่งตั้ง หาได้เรียนถวายไว้ไม่ จึงกำหนดเรียนถวายในส่วนนี้
อันผู้ปกครองคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาคนั้น กำหนดไว้ในมาตรา ๒๒ แห่งพระราช-บัญญัติคณะสงฆ์ตามลำดับชั้น ๔ ตำแหน่ง คือ เจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล และในมาตรา ๒๓ บัญญัติไว้ว่า “การแต่งตั้งถอดถอนพระอุปัชฌาย์ เจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส ผู้ช่วยเจ้าอาวาส พระภิกษุอันเกี่ยวกับตำแหน่งปกครองคณะสงฆ์ตำแหน่งอื่น ๆ และไวยาวัจกร ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎมหาเถรสมาคม” ดังนั้น การแต่งตั้งเจ้าคณะทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และเลขานุการเจ้าคณะและเลขานุการรองเจ้าคณะทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคทุกตำแหน่ง จึงขัดแย้งกับหลักเกณฑ์และวิธีการซึ่งตราไว้ในกฎมหาเถรสมาคมมิได้ เพราะถ้าขัดแย้งกับหลักเกณฑ์และวิธีการดังกล่าว การแต่งตั้งนั้นย่อมเป็นโมฆะไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย ทั้งผู้แต่งตั้งอาจต้องได้รับโทษฐานละเมิดจริยาพระสังฆาธิการอีกส่วนหนึ่ง หลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งและถอดถอนตามความในมาตรา ๒๓ นั้น จึงยกมาเป็นบทเรียนเป็นตอน ๆ ดังนี้