ตอนที่ ๔
วิธียกเจ้าคณะและรองเจ้าคณะ
เป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะ
—————–
ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ มาตรา ๒๑ และ ๒๒ บัญญัติว่า การปกครองคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาค ให้จัดแบ่งเขตปกครองเป็น ภาค จังหวัด อำเภอ และตำบล และการกำหนดเขตปกครองดังกล่าว ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎมหาเถร-สมาคม พร้อมกับบัญญัติให้มีพระภิกษุผู้ปกครองตามชั้นตามลำดับ คือ เจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล และเมื่อมหาเถรสมาคมเห็นสมควรจะจัดให้มีรองเจ้าคณะชั้นนั้น ๆ เป็นผู้ช่วยเจ้าคณะก็ได้ และในมาตรา ๒๓ บัญญัติว่า “การแต่งตั้งถอดถอนพระอุปัชฌาย์ เจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส ผู้ช่วยเจ้าอาวาส พระภิกษุอันเกี่ยวกับตำแหน่งปกครองคณะสงฆ์ตำแหน่งอื่น ๆ และไวยาวัจกรให้เป็นไปตามหลัก เกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎมหาเถรสมาคม” ดังนั้น เมื่อตรากฎมหาเถรสมาคม ว่าด้วยระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ และกฎมหาเถรสมาคม ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการ ได้กำหนดให้มีรองเจ้าคณะชั้นต่าง ๆ เลขานุการเจ้าคณะ เลขานุการรองเจ้าคณะและที่ปรึกษาเจ้าคณะ พร้อมทั้งหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งพระภิกษุให้ดำรงตำแหน่งที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ และตำแหน่งที่บัญญัติเสริมเข้า เพราะตำแหน่งเลขานุการและตำแหน่งที่ปรึกษาเจ้าคณะ เป็นตำแหน่งพระภิกษุอันเกี่ยว กับตำแหน่งปกครองคณะสงฆ์รายรอบตำแหน่งอื่นๆ นับเป็นตำแหน่งอุปถัมภ์การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าคณะและรองเจ้าคณะโดยแท้ ตำแหน่งเลขานุการเป็นตำแหน่งที่ทำหน้าที่การเลขานุการ ได้กล่าวไว้ในตอนที่ ๒ แล้ว ในตอนนี้จะกล่าวถึงรายละเอียดเกี่ยวกับตำแหน่งที่ปรึกษาเจ้าคณะ ดังนี้
๑) หลักเกณฑ์ ให้มี
(๑) ปรึกษาเจ้าคณะในส่วนภูมิภาค
(๒) เพื่อยกย่องเชิดชูเจ้าคณะและรองเจ้าคณะ
(๓) เพื่อมีหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่เจ้าคณะชั้นนั้น ๆ
๒) คุณสมบัติ
(๑) เป็นเจ้าคณะหรือรองเจ้าคณะในส่วนภูมิภาค หรือ
(๒) เคยเป็นเจ้าคณะหรือรองเจ้าคณะในส่วนภูมิภาค และ
(๓) ได้ปฏิบัติหน้าที่มาโดยเรียบร้อยจนมีอายุครบ ๘๐ ปีบริบูรณ์ และ
(๔) ไม่ทุพลภาพหรือ พิการ
๓) วิธีการแต่งตั้ง
(๑) ผู้บังคับบัญชาใกล้ชิดเสนอตามลำดับจนถึงมหาเถรสมาคม
(๒) มหาเถรสมาคมพิจารณาลงมติ
(๓) สมเด็จพระสังฆราชมีพระบัญชาแต่งตั้งตามมติมหาเถรสมาคม
ข้อบังคับ ในเมื่อมีอายุ ๘๐ ปีบริบูรณ์แล้ว ให้ผู้บังคับบัญชาใกล้ชิดดำเนินการเพื่อยกย่องเป็นที่ปรึกษา เว้นแต่ทุพพลภาพหรือพิการ
ข้อผ่อนผัน
๑) ยังมีความเหมาะสม หรือ
๒) หาผู้ดำรงตำแหน่งนั้นไม่ได้ หรือ
๓) หาได้แต่ไม่เหมาะสม
ในกรณีเช่นนี้ มหาเถรสมาคมจะพิจารณาให้ดำรงตำแหน่งเดิมต่อไปอีกไม่เกิน ๓ ปี เฉพาะกรณี
อนึ่ง แม้อายุยังไม่ครบ ๘๐ ปี ก็ดำเนินการยกย่องได้ ถ้าผู้บังคับบัญชาใกล้ชิดเห็นเป็นการเหมาะสม โดยถือการปฏิบัติตามมติมหาเถรสมาคม ที่ ๓๗๐/๒๕๔๑ ตีความกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๒๔ (พ.ศ.๒๕๔๑) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการ เป็นหลักดำเนินการ