ส่วนที่ ๔
การแต่งตั้งผู้ปกครองวัด
—————-
วัดเป็นหน่วยงานปกครองและหน่วยดำเนินกิจการคณะสงฆ์และกิจการพระศาสนาที่สำคัญที่สุด และเป็นฐานสำคัญยิ่งของคณะสงฆ์และพระพุทธศาสนา หลัก เกณฑ์และวิธีการต่าง ๆ เกี่ยวกับวัด ทรงตราไว้ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์เกือบทั้งสิ้น เช่นเดียวกับบทบัญญัติว่าด้วยมหาเถรสมาคมอันเป็นสถาบันสูงสุด วัดมีฐานะเป็นนิติ-บุคคลคือบุคคลตามกฎหมาย ตามความในมาตรา ๓๑ และมาตรา ๑๙ แห่งพระราช-บัญญัติคณะสงฆ์ ฉบับที่ ๒ (พ.ศ.๒๕๓๕ ) วัดจึงได้รับการคุ้มครองจากบทบัญญัติแห่งประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์และกฎหมายอื่น ๆ วัดทั้งหลายย่อมมีสิทธิและหน้าที่ต่าง ๆ ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังเช่นบุคคลธรรมดา เว้นแต่สิทธิและหน้าที่ที่จะพึงมีได้เฉพาะบุคคลธรรมดา แต่เพราะวัดมิใช่บุคคลธรรมดา แสดงเจตนาในการใช้สิทธิและหน้าที่เองมิได้ จึงจำเป็นต้องมีผู้แทน ทรงตราไว้ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ มาตรา ๓๑ วรรค ๓ ว่า “เจ้าอาวาสเป็นผู้แทนของวัดในกิจการทั่วไป” ดังนั้น เจ้าอาวาสจึงเป็นทั้งผู้ปกครองวัดตามมาตรา ๓๖ และเป็นผู้แทนวัดตามมาตรา ๓๑ วรรค ๓ ทั้งมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญา ตามมาตรา ๔๕ แห่งพระราช-บัญญัติคณะสงฆ์ เจ้าอาวาสเป็นเหมือนวิญญาณของวัด ทุกวัดจะปราศจากเจ้าอาวาสมิได้ ในมาตรา ๓๖ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ บัญญัติว่า “วัดหนึ่งให้มีเจ้าอาวาสรูปหนึ่งและถ้าเป็นการสมควรจะให้มีรองเจ้าอาวาสหรือผู้ช่วยเจ้าอาวาสด้วยก็ได้” และในมาตรา ๒๓ บัญญัติให้แต่งตั้งไวยาวัจกรเพื่อช่วยงานเจ้าอาวาสเกี่ยวกับการศาสน-สมบัติของวัด จึงกล่าวได้ว่า เจ้าอาวาสคือผู้ปกครองบริหารกิจการทั้งมวลของวัด รองเจ้าอาวาส ผู้ช่วยเจ้าอาวาส เป็นผู้ช่วยการปกครองและการบริหารโดยทั่วไป และไวยาวัจกรเป็นผู้สนองงานการศาสนสมบัติ วิธีปฏิบัติในการแต่งตั้งตำแหน่งดังกล่าวนี้ ย่อมแตกต่างกัน