ตอนที่ ๑
วิธีแต่งตั้งเจ้าอาวาสวัดราษฎร์
——————
เจ้าอาวาส เป็นผู้ปกครองวัดตามมาตรา ๓๖ เป็นผู้แทนของวัดตามมาตรา ๓๑ วรรค ๓ เป็นเจ้าพนักงานวัดตามมาตรา ๔๕ จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการคณะสงฆ์และการพระศาสนา เพราะเป็นศูนย์รวมงานการคณะสงฆ์และการพระศาสนา ในมาตรา ๓๗ และ ๓๘ ได้บัญญัติหน้าที่และอำนาจเจ้าอาวาสไว้โดยชัดเจน และในมาตรา ๒๓ และ ๓๙ ได้บัญญัติบังคับให้การแต่งตั้งเจ้าอาวาสและผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎมหาเถรสมาคม ว่าโดยเฉพาะหลัก เกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งเจ้าอาวาสนอกจากพระอารามหลวง (วัดราษฎร์) บัญญัติไว้ในกฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ ๒๔ (พ.ศ.๒๕๔๑) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการ ตามความในข้อ ๖, ๒๖ และ ๒๗ มีข้อควรทราบดังนี้
๑) หลักเกณฑ์ กล่าวคือคุณสมบัติ
(๑) คุณสมบัติทั่วไปของพระสังฆาธิการ ตามความในข้อ ๖
(๒) คุณสมบัติเฉพาะตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ตามความในข้อ ๒๖
๒) วิธีการแต่งตั้ง
(๑) ให้เป็นหน้าที่ของเจ้าคณะอำเภอ รองเจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล รองเจ้าคณะตำบล เจ้าสังกัด ร่วมกันพิจารณาคัดเลือก
(๒) ให้เจ้าคณะอำเภอรายงานเจ้าคณะจังหวัดเพื่อพิจารณาแต่งตั้ง
๓) หากมีปัญหา
(๑) ในกรณีที่ไม่มีรองเจ้าคณะอำเภอและรองเจ้าคณะตำบล ให้เจ้าคณะอำเภอเลือกเจ้าอาวาสในตำบลนั้นเข้าร่วมพิจารณาด้วย (องค์พิจารณาต้องไม่ต่ำกว่า ๓ รูป)
(๒) ถ้าผู้จะดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดนั้น เป็นเจ้าคณะจังหวัดอยู่ด้วย ให้เจ้าคณะภาคเป็นผู้พิจารณาแต่งตั้ง