ตอนที่ ๔
วิธีแต่งตั้งไวยาวัจกร
—————
ตามความในมาตรา ๓๗ (๑) แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ บัญญัติหน้าที่เจ้าอาวาสไว้ว่า “บำรุงรักษาวัด จัดกิจการและศาสนสมบัติของวัดให้เป็นไปด้วยดี” และวิธีจัดการศาสนสมบัติของวัดซึ่งกำหนดในกฎกระทรวง ก็เป็นวิธีการอันละเอียดและเหมาะแก่คฤหัสถ์ ที่บัญญัติให้มีไวยาวัจกรก็เพื่อให้ช่วยงานเจ้าอาวาสในการนี้ ซึ่งเจ้าอาวาสจะมอบหมายเป็นหนังสือ ขอแนะแนวปฏิบัติ ดังนี้
หลักเกณฑ์การแต่งตั้ง ให้แต่งตั้งในเมื่อไวยาวัจกรว่างลงหรือที่มีอยู่ไม่เพียงพอกับปริมาณงาน เฉพาะที่ไวยาวัจกรว่างลง จะแต่งตั้งผู้รักษาการในตำแหน่งไวยาวัจกรเป็นการชั่วคราวก่อนก็ได้ การแต่งตั้งไวยาวัจกรนั้น กำหนดคุณสมบัติอันเป็นหลักเกณฑ์ไว้หลายอย่าง เช่น เป็นชาย มีสัญชาติไทย นับถือพระพุทธศาสนา มีอายุไม่ต่ำกว่า ๒๕ ปีบริบูรณ์ เป็นต้น (ตามข้อ ๖ กฎ ๑๘)
วิธีแต่งตั้ง ให้เจ้าอาวาสปรึกษาสงฆ์ในวัดพิจารณาคัดเลือกคฤหัสถ์ผู้มีคุณสมบัติตามกฎมหาเถรสมาคมเพื่อขออนุมัติแต่งตั้ง มติแห่งการปรึกษานั้น ต้องเห็นพ้องกัน เมื่อปรึกษาแล้วให้ขออนุมัติจากเจ้าคณะอำเภอโดยเสนอผ่านเจ้าคณะตำบล รับอนุมัติแล้วจึงแต่งตั้ง เมื่อแต่งตั้งแล้ว ต้องรายงานการแต่งตั้งต่อเจ้าคณะอำเภอและแจ้งนาย อำเภอเพื่อแจ้งสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และควรแจ้งให้สงฆ์และทายกทายิกาวัดนั้นทราบด้วย
ข้อพิเศษ การแต่งตั้งไวยาวัจกร ต้องให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการ จึงเป็นการแต่งตั้งที่ชอบด้วยกฎหมาย ต้องทำหนังสือมอบหมายการงานให้รับปฏิบัติและถ้าแต่งตั้งแทนคนเดิม ต้องสั่งให้ไวยาวัจกรคนเดิมหรือทายาทมอบหมายการงานพร้อมด้วยทรัพย์สินและหลักฐานต่าง ๆ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของผู้นั้นให้แก่ไวยาวัจกรคนใหม่ด้วย
- ตัวอย่างหนังสือขออนุมัติ
- ตัวอย่างรายงานการปรึกษาสงฆ์
- ตัวอย่างหนังสือแจ้งการแต่งตั้ง
- ตัวอย่างหนังสือรายงานการแต่งตั้ง
- ตัวอย่างหนังสือแจ้งการแต่งตั้ง
- ตัวอย่างคำสั่งแต่งตั้งผู้รักษาการ
Hits: 213